บาทอ่อนค่า กังวลแรงกดดัน เร่งแบงก์ชาติลดดอกเบี้ย

เงินบาท ธนบัตร

เงินบาทอ่อนค่า กังวลแรงกดดันเร่งแบงก์ชาติลดดอกเบี้ย หลัง”เศรษฐา” เรียกร้องให้คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จัดประชุมเร่งด่วน ขณะที่สภาพัฒน์คาดการณ์แนวโน้มเศรษฐกิจไทยปี 2567 คาดว่าจะขยายตัวอยู่ที่ 2.2-3.2% ลดลงจากคาดการณ์เดิมที่คาดจะขยายตัว 3.7%

วันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2567 ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพรายงานว่า สภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันอังคารที่ 20 กุมภาพันธ์ 2567 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (20/2) ที่ระดับ 36.14/16 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันจันทร์ (19/2) ที่ระดับ 36.01/03 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ตามการแข็งค่าของดอลลาร์สหรัฐ

โดยตลาดยังคงจับตารอดูข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญของสหรัฐ ได้แก่ รายงานการประชุมคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (FOMC) วันที่ 30-31 มกราคม 2567 และดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) เพื่อหาสัญญาณทิศทางแนวโน้มดอกเบี้ยและภาวะเศรษฐกิจต่อไป

สำหรับปัจจัยในประเทศ เมื่อวานนี้ (19/2) สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ เปิดเผยว่า แนวโน้มเศรษฐกิจไทยปี 2567 คาดว่าจะขยายตัวอยู่ที่ 2.2-3.2% (ค่ากลางการประมาณการที่ 2.7%) โดยลดลงจากคาดการณ์เดิมที่ระดับ 2.7-3.7% ทั้งนี้ยังคงมั่นว่าเศรษฐกิจไทยจะเติบโตกว่าปีก่อนหน้าจาก 3 ปัจจัยหลัก ได้แก่ การขยายตัวของการส่งออกตามการฟื้นตัวของการค้าโลก การขยายตัวของการอุปโภคบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน และการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องของภาคการท่องเที่ยว

ในส่วนของอัตราเงินเฟ้อทั่วไปโดยเฉลี่ย คาดว่าจะอยู่ในช่วง 0.9-1.9% และดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลคาดว่าจะอยู่ที่ 1.4% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) สำหรับตัวเลข GDP ในไตรมาส 4 ปี 2566 ขยายตัว 1.7% ต่ำกว่าคาดการณ์ที่ระดับ 2.6%

โดยนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้ตั้งแสดงความคิดเห็นผ่าน X (ทวิตเตอร์) เกี่ยวกับตัวเลขดังกล่าว โดยระบุว่า ตัวเลขเศรษฐกิจที่มีการรายงานบ่งชี้ว่า สถานะของเศรษฐกิจไทยอยู่ในภาวะ Critical Stage (ระยะวิกฤต) จึงสนับสนุนให้มีการปรับลดดอกเบี้ย โดยเรียกร้องให้คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จัดประชุมเร่งด่วนเพื่อพิจารณาในประเด็นดังกล่าว โดยไม่จำเป็นต้องรอถึงการประชุมที่กำหนดไว้

สำหรับปัจจัยภายในภูมิภาค ธนาคารกลางจีน (PBOC) หรือแบงก์ชาติจีน มีมติปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้าชั้นดี (LPR) ประเภท 5 ปีลง 0.25% สู่รดับ 3.95% ซึ่งเป็นการปรับลดเป็นครั้งแรกในรอบ 8 เดือน นับตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2566 ดอกเบี้ยระยะยาว เช่น อัตราดอกเบี้ยเงินกู้จำนอง เพื่อลดภาระให้กับภาคครัวเรือนและกระตุ้นการซื้อบ้านในจีนให้ปรับตัวสูงขึ้น

ขณะเดียวกัน PBOC ได้คงอัตราดอกเบี้ย LPR ประเภท 1 ปีไว้ที่ระดับ 3.45% สอดคล้องกับการคาดการณ์ของตลาด ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 35.68-35.94 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 35.70/71 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับความเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโร เปิดตลาดเช้าวันนี้ (20/2) ที่ระดับ 1.0767/71 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร อ่อนค่าลงจากระดับปิดตลาดเมื่อวันจันทร์ (19/2) ที่ระดับ 1.0779/83 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ตามการแข็งค่าของดอลลาร์สหรัฐ โดยระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวในกรอบระหว่าง 1.0759-1.0777 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.0766/67 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

ส่วนการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยน เปิดตลาดเช้าวันนี้ (20/2) ที่ระดับ 150.30/31 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าลงจากระดับปิดตลาดเมื่อวันจันทร์ (19/2) ที่ระดับ 149.96/99 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ตามการแข็งค่าของดอลลาร์สหรัฐ ทั้งนี้ รายงานยอดคำสั่งซื้อสินค้าเครื่องจักร (Core Machinery Orders) ในเดือนธันวาคม 2556 ปรับตัวสูงขึ้น 2.7% เมื่อเทียบรายเดือน และหดตัวลดลง 0.7% เมื่อเทียบรายปี ระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 149.26-149.69 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 149.62/65 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ข้อมูลเศรษฐกิจที่สำคัญในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อญี่ปุ่น (22/2), ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อยูโรโซน (22/2), ดัชนีราคาผู้บริโภคยูโรโซน (22/2), ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อสหรัฐ (22/2), ยอดขายบ้านมือสอง (22/2) และ GDP เยอรมนี (23/2)

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ -8.20/-8.00 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยงภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ -1.30/-0.10 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ