50 บริษัทจดทะเบียน จ่อถูกแขวนเครื่องหมาย C รับเกณฑ์ใหม่ ตลท.

ตลาดหลักทรัพย์ฯ SET

ตลาดหลักทรัพย์ฯยกระดับกำกับบริษัทจดทะเบียน กาหัวขึ้นเครื่องหมาย C “บริษัทมีปัญหาการเงิน-ผู้สอบบัญชีไม่แสดงความเห็น-มีคุณสมบัติไม่ครบตามเกณฑ์-ฟรีโฟลตต่ำ” บังคับใช้ 25 มี.ค.นี้ คาดอีก 50 บจ. เสี่ยงถูกแขวนเตือน เข้ม “Backdoor Listing” เพิ่มบทบาท ก.ล.ต.-FA ร่วมยื่นคำขอคล้าย IPO

วันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2567 นางสาวปวีณา ศรีโพธิ์ทอง รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานกำกับตลาด ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) กล่าวในงาน “Press Briefing: เจาะลึกการยกระดับมาตรการกำกับดูแลบริษัทจดทะเบียน” ว่า สิ่งที่ตลาดหลักทรัพย์ฯปรับปรุงในครั้งนี้ จะมีด้วยกัน 4 เรื่องสำคัญคือ 1.ปรับปรุงคุณสมบัติของบริษัทที่จะเข้าจดทะเบียนทั้ง SET และ mai โดยจะปรับเพิ่มมูลค่ากำไร ส่วนของผู้ถือหุ้น (Equity) สัดส่วนผู้ถือหุ้นรายย่อย (Free Float) และปรับลดทุนจดทะเบียนชำระแล้ว (Paid-up Capital) ซึ่งทั้งหมดในส่วนนี้จะมีผลบังคับใช้วันที่ 1 ม.ค. 2568

โดยบริษัทในตลาด SET ตลาดหลักทรัพย์ฯจะเพิ่มมูลค่ากำไรปีล่าสุดเป็น 75 ล้านบาท จากเดิม 30 ล้านบาท และต้องมีกำไรรวม 2-3 ปี เป็น 125 ล้านบาท จากเดิม 50 ล้านบาท ในส่วนของ Equity จะเพิ่มเป็น 800 ล้านบาท จากเดิม 300 ล้านบาท

ปวีณา ศรีโพธิ์ทอง

แต่จะปรับลด Paid-up Capital เหลือ 100 ล้านบาท จากเดิมกำหนดไว้ 300 ล้านบาท เนื่องจากไม่ได้สะท้อนผลประกอบการหรือฐานะการเงินเท่ากับกำไรและส่วนของผู้ถือหุ้น อีกเหตุผลหนึ่งเพื่อรองรับบริษัทบางประเภท เช่น บริษัทเทคโนโลยีที่มี Paid-up ไม่สูง ไม่ต้องการเงินทุนมากนัก แต่สามารถทำกำไรหรือมีส่วนของผู้ถือหุ้นได้อย่างแข็งแรง เพราะฉะนั้นก็สมควรจะเข้ามาจดทะเบียนได้

สำหรับบริษัทในตลาด mai โดยปกติจะพิจารณามูลค่ากำไรปีล่าสุดแค่ปีเดียวคือ 10 ล้านบาท แต่เกณฑ์ใหม่จะปรับขึ้นเป็น 25 ล้านบาท และเพิ่มกำไรรวม 2-3 ปีอยู่ที่ 40 ล้านบาท เพื่อให้มั่นใจว่าบริษัทใน mai จะต้องเป็นบริษัทที่มีผลการดำเนินงานดีมาอย่างต่อเนื่อง และเพิ่มในส่วนของ Equity เป็น 100 ล้านบาท จากเดิม 50 ล้านบาท แต่สำหรับ Paid-up ยังคงไว้เท่าเดิม 50 ล้านบาท

ทั้งนี้เมื่อปรับ Paid-up ในส่วนตลาด SET ลดลง ก็อาจทำให้มีบริษัทขนาดเล็ก ที่มีทุนจดทะเบียนชำระแล้วไม่สูงเข้ามาจดทะเบียน จึงได้กำหนดเกณฑ์ใหม่สำหรับบริษัทที่มี Paid-up ขนาด 50-300 ล้านบาท ต้องมี Free Float ขึ้นไปเป็น 30% จากเดิมกำหนดไว้ 25% เช่นเดียวกับ IPO จะเพิ่มฟรีโฟลตเป็น 20% จากเดิมกำหนดไว้ 15% เพื่อให้มั่นใจถึงแม้ว่าจะเป็นบริษัทขนาดเล็ก จำนวนหุ้นน้อย แต่อย่างไรก็ตาม หุ้นที่โฟลตอยู่ในตลาดจะต้องไม่น้อย

”เราปรับเกณฑ์ใหม่โดยเฉพาะในส่วนของตลาด SET เพราะไม่ได้ปรับมานานมากตั้งแต่ปี 2548 และเมื่อพิจารณาจากตัวเลขในช่วง 7 ปีที่ผ่านมา ที่บริษัทเข้ามาจดทะเบียนซึ่งพบว่าผลประกอบการและฐานะการเงินมีคุณสมบัติที่สูงกว่าเกณฑ์มาก นอกจากนี้ยังประเมินสถานการณ์เงินเฟ้อ และนำเกณฑ์ปัจจุบันไปเทียบเคียงกับตลาดหุ้นภูมิภาคที่ใกล้เคียงกัน ถือว่าตลาดหุ้นไทยอยู่ในตำแหน่งที่ค่อนข้างจะผ่อนคลายกว่าตลาดหุ้นอื่นอยู่พอสมควร” นางสาวปวีณากล่าว

2.การยกระดับการเตือนผู้ลงทุนจะมีด้วยกัน 3 เรื่องหลัก โดยเพิ่มเหตุเตือนด้วยเครื่องหมาย C ซึ่งในส่วนนี้จะเริ่มบังคับใช้วันที่ 25 มี.ค. 2567 ประกอบด้วย

2.1 กรณีบริษัทจดทะเบียนมีความเสี่ยงด้านฐานะการเงิน และผลการดำเนินงานหรือสภาพคล่องทางการเงิน จะถูกขึ้นเครื่องหมาย CB ทั้งกรณีไม่มีธุรกิจ โดยพิจารณาจากมูลค่ารายได้ต่ำสำหรับ mai น้อยกว่า 50 ล้านบาท และ SET น้อยกว่า 100 ล้านบาท และบริษัทขาดทุนต่อเนื่อง 3 ปีติดต่อกันจน Equity น้อยกว่า Paid-up Capital และกรณีการผิดนัดชำระหนี้สถาบันการเงินหรือตราสารหนี้ (หุ้นกู้)

2.2 กรณีผู้สอบบัญชีไม่แสดงความเห็นต่องบการเงิน จะถูกขึ้นเครื่องหมาย CS ซึ่งปัจจุบันมีการเตือนอยู่แล้ว แต่เฉพาะกรณีที่ผู้สอบบัญชีถูกจำกัดขอบเขตโดยผู้บริหาร และถูกสำนักงาน ก.ล.ต.สั่งแก้งบหรือทำ Special Audit แต่เกณฑ์ใหม่จะปรับเป็น ไม่ว่าผู้สอบบัญชีจะไม่แสดงความเห็นด้วยเรื่องอะไรก็ตาม ตลาดหลักทรัพย์ฯมองว่าผู้ลงทุนควรจะให้ความสนใจ

2.3 กรณีบริษัทจดทะเบียนมีคุณสมบัติไม่เป็นไปตามเกณฑ์ที่กำหนด จะถูกขึ้นเครื่องหมาย CC ซึ่งเหตุเดิมจะเป็นเรื่องของ Cash Company (การขายสินทรัพย์ของบริษัทออกไปจนกระทั่งบริษัทเหลือแต่เงินสด) แต่จะเพิ่มในส่วนมีกรรมการตรวจสอบ (Audit Committee) ไม่ครบถ้วน และจะถูกขึ้นเครื่องหมาย CF กรณีมีฟรีโฟลตไม่เป็นไปตามเกณฑ์

นอกจากนี้จะถูกขึ้นเครื่องหมาย NP สำหรับบริษัทอยู่ระหว่างกระบวนการเข้าจดทะเบียนโดยอ้อม (Backdoor Listing) และไม่จัด Opportunity Day ภายใน 1 ปี หลังเข้าจดทะเบียน

“โดยหุ้นที่ถูกขึ้น CB, CS, CC, CF จะให้ผู้ลงทุนซื้อด้วยบัญชี Cash Balance และบริษัทจดทะเบียนมีหน้าที่ต้องให้ข้อมูลกับผู้ลงทุนว่าจะมีมาตรการแก้ไขอย่างไรในทุกไตรมาส และหากติดอยู่นานจนกระทั่งไม่สามารถแก้ไขได้ หรือเข้าเงื่อนไขเป็นหุ้นอยู่ระหว่างห้ามซื้อขาย ก็จะต้องถูกขึ้นเครื่องหมาย SP แทนที่

ปัจจุบันเรามีหุ้นที่ถูกขึ้นเครื่องหมาย C อยู่ทั้งหมด 19 บริษัท และกว่า 18 บริษัทมีปัญหาฐานะการเงิน ซึ่งจะถูกขึ้นเครื่องหมาย CB หากบังคับใช้เกณฑ์ใหม่ และคาดว่าจะมีหุ้นถูกขึ้นเครื่องหมาย C ตามเกณฑ์ต่าง ๆ เพิ่มอีก 50 บริษัท ทั้งนี้เราไม่ได้มองเป้าจำนวน แต่พยายามยกระดับการเตือนให้ผู้ลงทุนได้ระมัดระวังในการซื้อขายเป็นสำคัญ“

นางสาวปวีณากล่าวต่อว่า 3.เพิ่มเหตุเพิกถอนกรณีบริษัทจดทะเบียนไม่มีธุรกิจต่อเนื่อง 3 ปี (มีรายได้ต่ำ 50-100 ล้านบาท) อีกกรณีคือไม่สามารถแก้ไขฟรีโฟลตได้ภายในระยะเวลาที่กำหนด จะเข้าข่ายอาจถูกเพิกถอน ซึ่งกรณีฟรีโฟลตต่ำปัจจุบันจะเป็นการเก็บค่าธรรมเนียมส่วนเพิ่มจากบริษัทจดทะเบียน เพื่อเป็นการกระตุ้นให้รีบแก้ไข แต่ที่ผ่านมามาตรการนี้อาจจะยังไม่ได้ผล

และ 4.เพิ่มความเข้มงวดในการพิจารณาคุณสมบัติบริษัทที่จะทำ Backdoor Listing และกรณีย้ายกลับมาซื้อขายหลังแก้ไขเหตุอาจถูกเพิกถอน (Resume Trading) ให้เทียบเท่ากับการเข้าจดทะเบียนใหม่ (New Listing) เพื่อให้บริษัทจดทะเบียนมีคุณภาพใกล้เคียงกัน

โดยเกณฑ์ใหม่นี้จะเพิ่มบทบาทของสำนักงาน ก.ล.ต. ในการร่วมพิจารณาคุณสมบัติของบริษัท Backdoor และมีที่ปรึกษาการเงิน (FA) ร่วมยื่นคำขอในลักษณะเดียวกับไอพีโอ และต้องมีการจัด Opp Day อย่างน้อย 1 ครั้งในปีแรก เพื่อให้ข้อมูลผู้ลงทุน และจะถูกขึ้นเครื่องหมาย NP ไว้ก่อนเพื่อเตือนนักลงทุนเมื่อคณะกรรมการบริษัทมีมติเรื่อง Backdoor Listing

ทั้งนี้ Backdoor Listing จะรับเฉพาะบริษัทที่มีคุณสมบัติตามเกณฑ์กำไรหรือโครงสร้างพื้นฐานเท่านั้น จะไม่รับด้วยเกณฑ์มาร์เก็ตแคป เพื่อให้มั่นใจว่าบริษัทมีกำไร และสุดท้ายจะถูกขึ้นเครื่องหมาย SP ถ้าบริษัทไม่ปฏิบัติตามเกณฑ์ Backdoor และหากถูกขึ้น SP เกิน 2 ปี จะถูกเพิกถอน

“ทั้งหมดในการยกระดับมาตรการกำกับดูแลบริษัทจดทะเบียน คาดว่าจะช่วยสกัดในเรื่องการตกแต่งงบการเงินลงไปได้ เพราะจะมีกระบวนการทั้งผู้สอบบัญชีในการต้องส่งสัญญาณ หรือการมีกรรมการตรวจสอบไม่ครบถ้วน เห็นสัญญาณการลาออกยกชุด ก็จะเป็น Alert เตือนผู้ลงทุนได้มากขึ้น” นางสาวปวีณากล่าว