เงินบาทแกว่งตัว จับตา 4 ปัจจัยสำคัญสัปดาห์หน้า

เงินบาท ธนบัตร
(Photo by Lillian SUWANRUMPHA / AFP)

เงินบาทแกว่งตัวเป็นกรอบ ขณะที่ดัชนีหุ้นไทยยังปิดต่ำกว่า 1,400 จุด จับตาปัจจัยสำคัญสัปดาห์หน้า ทิศทางเงินลงทุนต่างชาติ รายงานเศรษฐกิจและการเงินเดือน ม.ค. ของแบงก์ชาติ และถ้อยแถลงของเจ้าหน้าที่เฟด รวมถึงตัวเลขอัตราเงินเฟ้อเดือน ก.พ. ของยูโรโซน

วันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2567 ศูนย์วิจัยกสิกรไทย สรุปความเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทว่า เงินบาทแกว่งตัวเป็นกรอบ ก่อนจะกลับมาอ่อนค่าลงปลายสัปดาห์ เงินบาทอ่อนค่าลงในช่วงต้นสัปดาห์ท่ามกลางความกังวลต่อแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย หลังตัวเลขจีดีพีไทยปี 2566 เติบโตเพียง 1.9% และสภาพัฒน์ ได้มีการปรับทบทวนประมาณการเศรษฐกิจไทยในปี 2567 ลงมาที่กรอบ 2.2-3.2%

อย่างไรก็ดี เงินบาทพลิกแข็งค่าหลุดระดับ 36.00 บาทต่อดอลลาร์ ในช่วงกลางสัปดาห์ตามทิศทางของเงินหยวน ประกอบกับน่าจะมีปัจจัยบวกเพิ่มเติมจากการปรับตัวขึ้นของราคาทองคำในตลาดโลก และแรงซื้อสุทธิหุ้นและพันธบัตรไทยของต่างชาติ

เงินบาทอ่อนค่ากลับไปอีกครั้งในช่วงปลายสัปดาห์ตามภาพรวมของสกุลเงินในภูมิภาค ขณะที่เงินดอลลาร์ ฟื้นตัวแข็งค่ากลับมาตามบอนด์ยีลด์สหรัฐ ที่ขยับขึ้นจากการคาดการณ์ว่า เฟดจะไม่รีบลดดอกเบี้ยในรอบการประชุมใกล้ ๆ นี้

กราฟค่าเงินบาท 9-23 ก.พ.

ในวันศุกร์ที่ 23 ก.พ. 2567 (ก่อนช่วงตลาดนิวยอร์ก) เงินบาทปิดตลาดที่ระดับ 36.07 บาทต่อดอลลาร์ เทียบกับ 36.02 บาทต่อดอลลาร์ ในวันศุกร์ก่อนหน้า (16 ก.พ. 67) สำหรับสถานะพอร์ตการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติระหว่างวันที่ 19-23 ก.พ. 2567 นั้น นักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิหุ้นไทย 8,948 ล้านบาท และมีสถานะเป็น Net Inflows เข้าตลาดพันธบัตรไทย 4,753 ล้านบาท (ซื้อสุทธิพันธบัตร 4,755 ล้านบาท หักตราสารหนี้หมดอายุ 2 ล้านบาท)

สำหรับสัปดาห์ถัดไป (26 ก.พ.-1 มี.ค.) ธนาคารกสิกรไทยมองกรอบการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทที่ระดับ 35.70-36.30 บาทต่อดอลลาร์ ขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ทิศทางเงินลงทุนต่างชาติ รายงานเศรษฐกิจและการเงินเดือนมกราคมของ ธปท. และถ้อยแถลงของเจ้าหน้าที่เฟด

ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐ ที่สำคัญ ได้แก่ ยอดขายบ้านใหม่ ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทน ยอดทำสัญญาขายบ้านที่รอปิดการขาย รายได้/การใช้จ่ายส่วนบุคคล และอัตราเงินเฟ้อที่วัดจาก PCE/Core PCE Price Indices เดือน ม.ค. ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค และดัชนี ISM/PMI ภาคการผลิตเดือน ก.พ. ตัวเลขจีดีพีไตรมาส 4/66 (ครั้งที่ 2) และจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์

นอกจากนี้ตลาดยังรอติดตามตัวเลขอัตราเงินเฟ้อเดือน ก.พ. ของยูโรโซน รวมถึงดัชนี PMI ภาคการผลิตเดือน ม.ค. ของจีน ญี่ปุ่น และยูโรโซนด้วยเช่นกัน

กราฟตลาดหุ้นไทย 9-23 ก.พ.

ส่วนความเคลื่อนไหวของตลาดหุ้นไทย ตลาดหุ้นไทยปรับตัวขึ้น ตามแรงซื้อของกลุ่มนักลงทุนต่างชาติ หุ้นไทยปรับตัวลงช่วงต้นสัปดาห์หลังตัวเลขจีดีพีไตรมาส 4/66 ขยายตัวเพียง 1.7% YOY (ทั้งปี 2566 ขยายตัว 1.9%) ประกอบกับมีแรงขายหุ้นกลุ่มผู้ผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ เนื่องจากผิดหวังเรื่องผลประกอบการไตรมาส 4/66

อย่างไรก็ดีหุ้นไทยดีดตัวขึ้นตั้งแต่ช่วงกลางสัปดาห์ตามแรงซื้อของกลุ่มนักลงทุนต่างชาติ โดยเฉพาะหุ้นกลุ่มแบงก์จากข่าวการประกาศจ่ายเงินปันผลของธนาคารพาณิชย์แห่งหนึ่ง นอกจากนี้การที่ ตลท. เตรียมออกมาตรการการกำกับดูแลการขายชอร์ต (short selling) และการใช้คอมพิวเตอร์ส่งคำสั่งซื้อขาย (program trading) รวมถึงมาตรการเพิ่มการเปิดเผยข้อมูลแก่สาธารณชน ก็เป็นปัจจัยบวกเพิ่มเติมที่ช่วยหนุนให้หุ้นไทยปรับตัวขึ้นผ่านระดับ 1,400 จุดได้อีกครั้ง

อย่างไรก็ดีหุ้นไทยย่อตัวลงหลุดระดับ 1,400 จุดในช่วงปลายสัปดาห์ เพราะแม้จะมีปัจจัยบวกจากตัวเลขการส่งออกของไทยเดือน ม.ค. ที่ออกมาดีกว่าที่คาด แต่ก็มีแรงขายทำกำไรในหุ้นบิ๊กแคป โดยเฉพาะกลุ่มแบงก์และไฟแนนซ์ซึ่งดีดตัวขึ้นแรงก่อนหน้านี้

ในวันศุกร์ที่ 23 ก.พ. 2567 ดัชนี SET ปิดที่ระดับ 1,398.14 จุด เพิ่มขึ้น 0.86% จากระดับปลายสัปดาห์ก่อน ขณะที่มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 47,395.17 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 31.34% จากสัปดาห์ก่อน ส่วนดัชนี mai เพิ่มขึ้น 0.84% มาปิดที่ระดับ 421.72 จุด

สำหรับสัปดาห์ถัดไป (26 ก.พ.-1 มี.ค.) บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย จำกัด มองว่า ดัชนีหุ้นไทยมีแนวรับที่ 1,385 และ 1,375 จุด ขณะที่แนวต้านอยู่ที่ 1,410 และ 1,420 จุด ตามลำดับ โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ถ้อยแถลงของเจ้าหน้าที่เฟด และทิศทางเงินทุนต่างชาติ

ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐ ที่สำคัญ ได้แก่ ยอดขายบ้านใหม่ ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทน รายได้และรายจ่ายส่วนบุคคล ดัชนี PCE/Core PCE Price Indices เดือน ม.ค. ดัชนี ISM/PMI ภาคการผลิตเดือน ก.พ. ตัวเลขจีดีพีไตรมาส 4/66 รวมถึงจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ ขณะที่ข้อมูลเศรษฐกิจต่างประเทศอื่น ๆ ได้แก่ ดัชนี PMI ภาคการผลิตเดือน ก.พ. ของญี่ปุ่น จีน ยูโรโซนและอังกฤษ ดัชนีราคาผู้บริโภคเดือน ม.ค. ของญี่ปุ่น รวมถึงดัชนีราคาผู้บริโภคเดือน ก.พ. ของยูโรโซน