รูดบัตรเครดิตที่ต่างประเทศ เป็นเงินบาท คิดค่าธรรมเนียม เริ่ม 1 พ.ค. 67

ธปท.สั่งเลื่อน ”เก็บค่าฟีรูดบัตรช็อปต่างประเทศ” ออกไป 3 เดือน
Image by Ahmad Ardity from Pixabay

ผู้ให้บริการบัตรเครดิตในไทย เตรียมเก็บค่ารูดบัตรเครดิต 1% เมื่อจ่ายเป็นเงินไทยที่ร้านค้าจดทะเบียนในต่างประเทศ เริ่ม 1 พฤษภาคม 2567

วันที่ 2 มีนาคม 2567 ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่า ผู้ให้บริการบัตรเครติดหลายรายประกาศการเก็บค่าธรรมเนียมการแปลงสกุลเงินต่างประเทศเป็นสกุลเงินบาท เมื่อทำรายการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตวีซ่า และบัตรเครดิตมาสเตอร์การ์ดของแต่ละธนาคาร หรือค่า DCC Fee

โดยระบุว่า ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2567 เป็นต้นไป รายการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตวีซ่า/มาสเตอร์การ์ดในการซื้อสินค้า และ/หรือบริการด้วยสกุลเงินบาท ที่ร้านค้าและร้านค้าออนไลน์ที่จดทะเบียนในต่างประเทศ และการกดเงินสดด้วยสกุลเงินบาทผ่านตู้ ATM ในต่างประเทศ จะถูกเรียกเก็บ “ค่าธรรมเนียมการแปลงสกุลเงินต่างประเทศเป็นสกุลเงินบาท” ในอัตราร้อยละ 1 ของยอดใช้จ่าย/ยอดกดเงินสด

ผู้ให้บริการบัตรเครดิตระบุเพิ่มเติมว่า ค่าธรรมเนียมรายการใช้จ่ายในร้านค้าต่างประเทศด้วยสกุลเงินบาทจะถูกเรียกเก็บกับบัตรเครดิต บัตรเครดิตวีซ่า และ มาสเตอร์การ์ดทุกประเภท รวมถึงทั้งบัตรหลักและบัตรเสริม โดยค่าธรรมเนียม 1% คิดจากยอดใช้จ่ายผ่านบัตรด้วยสกุลเงินบาท โดยคิดจากยอด ณ วันที่บันทึกรายการใช้จ่าย

สำหรับร้านค้าที่จะถูกเก็บค่าธรรมเนียม 1% นั้น จะเก็บในรายการรูดบัตรที่ต่างประเทศและเลือกสกุลเงินไทย รวมถึงร้าน Online ที่จดทะเบียนต่างประเทศ เช่น AIRASIA BERHAD, NETFLIX, APPLE, TikTok, AGODA, Booking, Klook, IHERB, ALIPAY, TAOBAO, PAYPAL, FACEBOOK, GOOGLE, AIRBNB, EXPEDIA, EBAY, SPOTIFY, ALIBABA, TRIP.COM, STEAMGAMES, VIU, AMAZON เป็นต้น โดยมีผลกับรายการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตตั้งวันที่ 1 พ.ค. 2567 เป็นต้นไป และจะถูกเรียกเก็บ ณ วันที่มีการบันทึก

อีกทั้งยังระบุเหตุผลการเก็บค่าธรรมเนียมดังกล่าวด้วยว่า เพื่อให้สอดคล้องกับหลักปฏิบัติของธุรกิจบัตรเครดิต การใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตที่ร้านค้าต่างประเทศ รวมถึงร้านออนไลน์ที่จดทะเบียนในต่างประเทศจะมีค่าธรรมเนียมในการเปลี่ยนแปลงสกุลเงินต่างประเทศเป็นสกุลเงินบาท

DCC Fee คืออะไร

DCC fee คือค่าธรรมเนียมการแปลงสกุลเงินต่างประเทศเป็นสกุลเงินบาท หรือ Dynamic Currency Conversion fee (DCC fee) โดยที่จะเรียกเก็บสำหรับรายการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตในการซื้อ สินค้า บริการ และ/หรือ การกดเงินสดที่เป็นสกุลเงินบาท ที่ร้านค้าต่างประเทศ (รวมถึงร้านออนไลน์ที่จดทะเบียนต่างประเทศ)

ข้อมูลจาก ธนาคารกสิกรไทย, ธนาคารทหารไทยธนชาต, Krungsri Consumer