จุดพลุ Virtual Bank 3 กลุ่มทุน (หนา) จ้องขอไลเซนส์

Virtual Bank

กระทรวงการคลังออกประกาศเรื่องหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการขอใบอนุญาตประกอบธุรกิจธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา (Virtual Bank) แล้ว โดยลงประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2567 ที่ผ่านมา

ประกาศเกณฑ์ขอใบอนุญาต

โดย “พรชัย ฐีระเวช” ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ประกาศดังกล่าว เพื่อเพิ่มประเภทและจำนวนผู้ให้บริการทางการเงิน ซึ่งจะเป็นการเพิ่มระดับการแข่งขันในระบบสถาบันการเงินและส่งผลดีต่อประชาชน

โดย Virtual Bank จะมุ่งเน้นสนับสนุนให้ประชาชนกลุ่มที่ไม่ได้รับบริการทางการเงินอย่างเพียงพอและเหมาะสม (Underserved) และประชาชนกลุ่มที่เข้าไม่ถึงบริการทางการเงิน (Unserved) เข้าถึงบริการทางการเงินในอัตราที่เหมาะสม และตอบโจทย์ความต้องการของประชาชนกลุ่มดังกล่าว

สำหรับผู้ที่จะขออนุญาตจัดตั้ง Virtual Bank ต้องมีคุณสมบัติที่แสดงให้เห็นถึงประสบการณ์และทรัพยากรที่เพียงพอในการช่วยสนับสนุนธุรกิจธนาคารพาณิชย์ ความเชี่ยวชาญในการใช้งานเทคโนโลยีและการให้บริการผ่านช่องทางดิจิทัล รวมทั้งมีธรรมาภิบาลที่ดี เพื่อให้ผู้ที่ได้รับอนุญาตสามารถประกอบธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพและมีความน่าเชื่อถือ

“ผู้ขออนุญาตสามารถยื่นคำขออนุญาตผ่านธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ภายใน 6 เดือน นับแต่วันที่ประกาศมีผลบังคับใช้ พร้อมกับหลักฐานและข้อมูลประกอบการพิจารณา โดย ธปท.และกระทรวงการคลังจะร่วมกันพิจารณาคำขออนุญาตจัดตั้ง Virtual Bank ภายใน 9 เดือน นับแต่วันสิ้นสุดระยะเวลาการยื่นคำขอ และเมื่อได้รับอนุญาตจาก รมว.คลังแล้ว ผู้ขออนุญาตต้องเตรียมความพร้อมในด้านต่าง ๆ เช่น ความมั่นคง การบริหารความเสี่ยง เป็นต้น และเริ่มดำเนินธุรกิจภายใน 1 ปี”

ไม่จำกัดแค่ 3 รายขึ้นกับ ธปท.

นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล เลขานุการ รมว.คลัง กล่าวว่า ประกาศที่ออกมาไม่จำกัดจำนวนใบอนุญาต (เดิมจำกัด 3 ราย) เนื่องจากคลังต้องการเปิดกว้างแก่ผู้มีศักยภาพและผ่านคุณสมบัติ โดยให้ ธปท.พิจารณาใบอนุญาตในจำนวนที่จะกระตุ้นการแข่งขัน และไม่เสี่ยงต่อเสถียรภาพของระบบการเงิน ขณะเดียวกัน “ธนาคารไร้สาขา” กำกับโดย ธปท. เสมือนธนาคารพาณิชย์อื่น โดยอยู่ภายใต้การคุ้มครองของสถาบันคุ้มครองเงินฝาก ซึ่งธนาคารไร้สาขาจะไม่ใช้ระบบเงินฝาก ระบบสินเชื่อ Internet Banking ร่วมกับสถาบันการเงินอื่นทั้งในและต่างประเทศ

“Virtual Bank ต้องตั้งสำนักงานใหญ่ในไทย และมีทุนจดทะเบียนไม่น้อยกว่า 5,000 ล้านบาท ในระยะแรก และไม่น้อยกว่า 10,000 ล้านบาท ในระยะปกติ สามารถเป็นบริษัทร่วมทุน (Joint Venture) เพื่อผสานความเชี่ยวชาญเฉพาะได้”

 

กราฟฟิก virtual bamkผู้เล่นใหม่ต้อง “ทุนหนา”

นางสาวธัญญลักษณ์ วัชระชัยสุรพล รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย กล่าวว่า ภาพการแข่งขันอาจจะไม่ได้เปลี่ยนแปลงมากนัก เพราะมีการแข่งขันที่รุนแรงอยู่แล้ว ประกอบกับ Virtual Bank เป็นธนาคารที่ให้บริการลูกค้าเฉพาะ และมีบริการเฉพาะด้าน ซึ่งไม่ได้ตอบโจทย์ลูกค้าเป็นการทั่วไป โดยกรณีที่ไม่จำกัดไลเซนส์แค่ 3 รายนั้น เชื่อว่าไม่ได้เป็นปัญหา หาก Virtual Bank สามารถให้บริการลูกค้าได้

“โจทย์ธุรกิจของ Virtual Bank คือ รูปแบบการทำธุรกิจ เนื่องจากต้องยอมรับว่า มีต้นทุนที่ค่อนข้างสูง และใช้เวลาในการคืนทุน โดยเฉพาะในช่วงแรก ต้นทุนจะสูงมาก เพราะต้องลงทุนด้านต่าง ๆ มากมาย โดยทุนจดทะเบียนระยะเริ่มต้นที่ 5,000 ล้านบาท ถือว่าค่อนข้างเยอะ ทำให้ต้องดูว่าผู้เล่น (Player) คือใคร และแข็งแกร่งแค่ไหน เพราะในช่วงแรก หากมีการแข่งขันด้านราคา อาจจะทำให้ธุรกิจไม่สามารถไปรอดได้”

ยกบทเรียนในต่างประเทศ

นายธนเดช รังษีธนานนท์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ พาย กล่าวว่า แม้ว่าประกาศจะไม่จำกัดใบอนุญาต แต่เชื่อว่า ธปท.คงไม่ปล่อยเสรีให้ใครลงมาเล่นก็ได้ คงจะมีการจำกัด ซึ่งตามเกณฑ์เดิมกำหนดไว้ 3 ราย เพราะประเด็นสำคัญ คือ ถ้าเข้ามาประกอบธุรกิจธนาคารไร้สาขาแล้วมีปัญหาจะกระทบความเชื่อมั่นทั้งระบบ

“ต้องมองไปถึงว่า หากรับเงินฝากแล้วไปต่อไม่ได้ มีปัญหาขึ้นมาจะกระทบทั้งระบบแบงก์โดยรวม เพราะประชาชนผู้ฝากจะมั่นใจว่าภาครัฐจะต้องดูแล แต่ถ้าเงินหายไปจะเป็นเรื่องใหญ่ ดังนั้น การปล่อยเสรีอาจไม่คุ้มเสี่ยงในระยะแรก ซึ่งจากเกณฑ์ที่กำหนดให้ผู้ได้รับไลเซนส์จะต้องมีแนวทางการชดใช้เงินฝากแก่ผู้ฝากเงินตามแผนการเลิกประกอบกิจการ (Exit Plan) หมายความว่า ธุรกิจ Virtual Bank มีโอกาสเจ๊งได้ ซึ่งเห็นแล้วจากในต่างประเทศ”

3 กลุ่มบิ๊กธุรกิจจ่อขอไลเซนส์

ทั้งนี้ การประกอบธุรกิจนี้ในต่างประเทศ กว่าจะกำไรต้องใช้เวลาถึง 3 ปี อย่างในเกาหลีใต้และจีน ขณะที่ในยุโรปใช้เวลานานกว่านั้น ซึ่งคงขึ้นอยู่กับนิเวศเศรษฐกิจของแต่ละประเทศ โดยช่วงระยะแรก ผู้ประกอบการจะต้องลงทุนเชิงระบบสูง ทำให้ยังคงไม่มีกำไร ซึ่งจะมีผลเรื่องทุน ว่าจะเพียงพอหรือไม่ จึงเป็นที่มาในการกำหนดว่าในระยะต่อไปต้องเพิ่มทุนอีกไม่น้อยกว่า 10,000 ล้านบาท

“ปัจจุบันเท่าที่ทราบ ตอนนี้มี 3 กลุ่มที่สนใจยื่นขอไลเซนส์ คือ 1.KTB+GULF+AIS (ธนาคารกรุงไทย, บมจ.กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ และเอไอเอส) 2.SCB+KakaoBank (บมจ.เอสซีบี เอกซ์ กับ KakaoBank ธนาคารดิจิทัลที่ใหญ่ที่สุดในเกาหลีใต้) และ 3.JMART+พันธมิตร (บมจ.เจมาร์ท กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ กับพันธมิตร”

จากนี้คงต้องติดตามกันต่อไปว่า ทาง ธปท.จะยังคงยืนยันกำหนดไลเซนส์ในระยะแรกแค่ 3 รายหรือไม่ รวมถึงต้องจับตาการขยับจับมือกันของบิ๊กธุรกิจที่มองเห็นโอกาสที่จะต่อจิ๊กซอว์ขยายธุรกิจจากการได้ไลเซนส์ Virtual Bank นี้