ลูกหนี้เมินแก้หนี้เรื้อรัง-แบงก์ดีเดย์ 1 เม.ย.

ลูกหนี้

แบงก์-น็อนแบงก์ เตรียมพร้อมลุย “มาตรการแก้หนี้เรื้อรัง” ดีเดย์ 1 เม.ย.นี้ “กสิกรไทย” ทยอยร่อนจดหมายถึงลูกค้าเข้าข่าย คาดลูกค้าเข้าโครงการแค่ 10% เหตุเงื่อนไขเข้ม ห้ามเบิกใช้วงเงิน ต้องปิดหนี้จบใน 5 ปี “ทีทีบี-เคทีซี-อิออน” ยันระบบพร้อม เชื่อเกณฑ์ระงับวงเงินชั่วคราวทำคนสนใจน้อย

ดีเดย์ 1 เม.ย.แก้หนี้เรื้อรัง

นายชัยยศ ตันพิสุทธิ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้ธนาคารได้เริ่มดำเนินการตามมาตรการแก้หนี้เรื้อรัง (Persistent Debt : PD) ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่จะมีผลบังคับในวันที่ 1 เมษายน 2567 โดยทยอยส่งจดหมายแจ้งเตือนไปยังลูกค้าบัตรกดเงินสดและสินเชื่อส่วนบุคคลแบบหมุนเวียน ที่เข้าข่ายเป็นหนี้เรื้อรัง ทั้งในกลุ่มเริ่มมีปัญหาหนี้เรื้อรัง (general PD) ซึ่งชำระดอกเบี้ยรวมมากกว่าเงินต้นย้อนหลังตั้งแต่ 3 ปีขึ้นไป และกลุ่มที่เป็นหนี้เรื้อรัง (severe PD) ลูกหนี้ที่มีปัญหาหนี้เรื้อรัง ชำระดอกเบี้ยรวมมากกว่าเงินต้นย้อนหลัง 5 ปี คือที่ผ่านมาส่วนใหญ่จ่ายได้เฉพาะดอกเบี้ย

ทั้งนี้ ธนาคารคาดว่าภายในเดือนเมษายน-พฤษภาคม จะเริ่มเห็นลูกค้าเข้ามาติดต่อเพื่อเข้าโครงการแก้หนี้เรื้อรัง หลังธนาคารเปิดเป็นทางเลือกแบบสมัครใจ (Opt-in) เพื่อเปลี่ยนประเภทสินเชื่อบัตรกดเงินสด/สินเชื่อบุคคล เป็นสินเชื่อที่ผ่อนชำระเป็นงวด และปรับอัตราดอกเบี้ยลงเหลือไม่เกิน 15% ต่อปี ระยะเวลาผ่อนชำระ 5 ปี เพื่อให้ลูกค้าสามารถปิดจบหนี้ได้

ลูกหนี้เมินเข้าร่วมแค่ 10%

นายชัยยศกล่าวว่า อย่างไรก็ดีจากการสำรวจฐานลูกค้าของธนาคาร พบว่ามีลูกค้าที่เข้าข่ายเป็นหนี้เรื้อรังทั้ง 2 กลุ่มไม่มากนัก โดยคาดว่าจะมีลูกค้าที่ขอเข้าร่วมโครงการแก้หนี้เรื้อรังประมาณ 10% ของลูกหนี้ที่เข้าข่ายทั้งหมด อาจจะไม่สูงมากนักเนื่องจากลูกค้ามีความกังวล ในเงื่อนไข เช่น ห้ามลูกค้าเบิกใช้วงเงิน คือถูกระงับการใช้วงเงินชั่วคราวจนกว่าจะปิดจบหนี้ได้ รวมถึงการปิดจบหนี้ภายใน 5 ปี อาจทำให้ภาระในการผ่อนชำระต่องวดเพิ่มขึ้น เช่น เดิมเคยผ่อน 1,000 บาทต่อเดือน อาจจะเป็น 1,500 บาทต่อเดือน

“เราเริ่มทำจดหมายส่งลูกค้าภายในเดือนมีนาคมนี้ ซึ่งลูกค้ารายหนึ่งอาจจะได้จดหมาย 2-3 ครั้ง เผื่อจดหมายตกหล่นลูกค้าไม่ได้รับ โดยไม่ได้มีการส่งข้อความ SMS เพราะรายละเอียดค่อนข้างเยอะ และตอนนี้มีเรื่องมิจฉาชีพด้วย และหลังจากนี้เราก็จะทำแบบนี้ตลอดทั้งปี โดยทุก 3 เดือนจะส่งให้ลูกค้า ส่วนลูกค้าจะเข้าโครงการอาจจะต้องรอดูว่ามากน้อยแค่ไหน”

เตรียมพร้อมระบบ

นายฐากร ปิยะพันธ์ ผู้จัดการใหญ่ ธนาคารทหารไทยธนชาต หรือ ทีทีบี เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ตอนนี้ธนาคารได้ดำเนินการตามหลักเกณฑ์ของ ธปท. รองรับโครงการแก้หนี้เรื้อรัง ทั้งความพร้อมของระบบ และขั้นตอนการเตือนลูกค้ากลุ่มที่เข้าข่ายกลุ่มหนี้เรื้อรัง ซึ่งจากการประเมินพอร์ตสินเชื่อบุคคล พบว่ามีลูกค้าเข้าข่ายที่ต้องแจ้งเตือนเบื้องต้นราว 2,000-3,000 ราย

“ทีทีบีเพิ่งเข้ามารุกในตลาดสินเชื่อส่วนบุคคลช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ทำให้เรามีลูกหนี้เรื้อรังในพอร์ตไม่เยอะมาก และกรณีที่ลูกหนี้มีปัญหา ธนาคารก็มีโปรแกรมปรับโครงสร้างหนี้ซึ่งล้อตามมาตรการช่วงโควิด-19 ไว้อยู่แล้ว”

นางสาวพิชามน จิตรเป็นธรรม ผู้บริหารสูงสุด สายงานสินเชื่อส่วนบุคคล บริษัท บัตรกรุงไทย หรือเคทีซี เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ตอนนี้เคทีซีอยู่ระหว่างเตรียมการในเรื่องของระบบการคำนวณอัตราดอกเบี้ย การสื่อสารข้อความ และช่องทางการสื่อสารไปยังลูกค้ากลุ่มที่เข้าข่ายหนี้เรื้อรัง โดยจะกำหนดส่งข้อความหรือการสื่อสารภายในวันที่ 1 เมษายนนี้

ทั้งนี้ จากการสำรวจลูกหนี้ที่เข้าข่ายหนี้เรื้อรัง ทั้งกลุ่ม severe PD และกลุ่ม general PD มีไม่มาก โดยเคทีซีคาดว่าจะมีจำนวนลูกหนี้เข้าร่วมโครงการประมาณ 5% ของจำนวนลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบ ถือว่าไม่สูง เนื่องจากเงื่อนไขในการเข้าโครงการเป็นแบบสมัครใจ หากลูกค้าตอบรับเข้าร่วมจะต้องยอมรับเงื่อนไขในการถูกระงับวงเงินชั่วคราวจนกว่าจะสามารถผ่อนชำระหนี้ 60 งวด หรือ 5 ปี จนปิดชำระหนี้ได้ ทำให้ลูกค้าบางกลุ่มที่ต้องการใช้เงินหมุนเวียนไม่ต้องการเข้าร่วม เพราะลูกค้าบางรายชำระเงินคืนและสามารถใช้วงเงินต่อได้

“โดยเงื่อนไขปิดจบหนี้ 5 ปี คิดอัตราดอกเบี้ย 15% ต่อปี จากการประเมินผลกระทบต่อรายได้ดอกเบี้ยที่ปรับลดลง เคทีซีคาดว่าจะอยู่ที่ราว 18 ล้านบาทต่อเดือน ภายใต้ลูกค้าที่เข้าข่ายหนี้เรื้อรังเข้าร่วมโครงการ PD ทุกราย 100% แต่หากลูกค้าเข้าโครงการแค่ 10% ผลกระทบจะอยู่ที่ 1.8 ล้านบาท ซึ่งเราก็ต้องรอดูว่าลูกค้าจะสนใจเข้าโครงการมากน้อยแค่ไหน”

เงื่อนไขเข้มลูกหนี้ไม่สน

ด้านนายนันทวัฒน์ โชติวิจิตร กรรมการบริหาร บริษัท อิออน ธนสินทรัพย์ (ไทยแลนด์) กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ตอนนี้บริษัททำตามขั้นตอนกระบวนการตามที่ ธปท. กำหนดไว้ ทั้งในการส่งข้อความ SMS ติดต่อลูกค้าผ่านทางจดหมาย และมีการบันทึกข้อมูลเพื่อรายงาน ธปท. รวมถึงการปรับระบบการคำนวณอัตราดอกเบี้ยเป็นดอกเบี้ยที่แท้จริง (Effective Rate) เรียบร้อยแล้ว ซึ่งทุกอย่างพร้อมดำเนินการภายในวันที่ 1 เมษายน 2567

“จากการดึงข้อมูลของฝ่ายติดตามทวงหนี้ เบื้องต้นพบว่า ลูกหนี้ที่เข้าข่ายในกลุ่ม general PD ที่ต้องส่งข้อความเตือนลูกค้ามีไม่เยอะมาก เช่นเดียวกับกลุ่มเป็นหนี้เรื้อรัง severe PD คาดว่าลูกหนี้เรื้อรังที่ต้องการเข้าโครงการแปลงสินเชื่อหมุนเวียนเป็นสินเชื่อแบ่งชำระ (Term Loan) ปิดจบหนี้ได้ 5 ปีดอกเบี้ยไม่เกิน 15% ต่อปี น่าจะมีไม่ถึง 1% ส่วนหนึ่งมาจากบริษัทมีการแก้หนี้ต่อเนื่อง และโครงการเป็นการสมัครใจ ทำให้ลูกค้าไม่น่าจะเข้าโครงการมากนัก เพราะเงื่อนไขยังค่อนข้างเข้มในเรื่องของการใช้วงเงินในช่วงอยู่ในโครงการ ดังนั้นจากสัดส่วนลูกค้าที่เข้าโครงการน้อยจึงไม่น่าจะกระทบต่อรายได้ดอกเบี้ยอย่างมีนัยสำคัญ”

SCBX เดินหน้าแก้หนี้ยั่งยืน

นายสารัชต์ รัตนาภรณ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท คาร์ดเอกซ์ จำกัด ในกลุ่ม SCBX กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า บริษัทพร้อมรับแนวทางในการแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือนอย่างยั่งยืนตามแนวนโยบายของ ธปท. ทั้งเรื่องของเกณฑ์การให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรม (Responsible Lending) รวมถึงความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาหนี้เรื้อรัง โดยเริ่มดำเนินการมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ที่มีประวัติการชำระหนี้ดี แต่มีความจำเป็นต้องปรับโครงสร้างหนี้ จากผลกระทบด้านเศรษฐกิจที่ผันผวนไม่แน่นอน

อาทิ มาตรการปรับโครงสร้างหนี้ ด้วยการเสนออัตราดอกเบี้ยที่ลดลง และระยะเวลาการผ่อนที่ยาวขึ้น ทำให้ภาระการผ่อนต่อเดือนของลูกค้าลดลง และมาตรการผ่อนชำระเพื่อปิดยอดหนี้ เพื่อตอบสนองนโยบายภาครัฐในการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือน และให้ความช่วยเหลือลูกค้าโดยไม่ต้องเข้าสู่กระบวนการทางกฎหมาย เป็นต้น

ธปท.ลุยตรวจระบบแบงก์

นางสาวอรมนต์ จันทพันธ์ ผู้อำนวยการฝ่ายคุ้มครองและตรวจสอบบริการทางการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ภายใต้มาตรการแก้หนี้เรื้อรัง ที่จะมีผลบังคับใช้วันที่ 1 เมษายน 2567 โดยกำหนดให้สถาบันการเงินภายใต้กำกับเข้าไปช่วยเหลือลูกหนี้กลุ่มเปราะบางสามารถปิดจบหนี้ได้ภายใน 5 ปี ด้วยอัตราดอกเบี้ยไม่เกิน 15% ต่อปี

โดยจะเริ่มจากกลุ่มสินเชื่อบุคคล และบัตรกดเงิน ซึ่งจ่ายได้เพียงขั้นต่ำ ไม่สามารถปิดจบหนี้ได้ โดยกำหนดเงื่อนไขลูกหนี้ที่เข้าโครงการ กรณีลูกค้าธนาคารพาณิชย์จะต้องมีรายได้ไม่เกิน 2 หมื่นบาทต่อเดือน และลูกค้ากลุ่มน็อนแบงก์ รายได้น้อยกว่า 1 หมื่นบาทต่อเดือน เนื่องจากข้อมูลสำนักงานสถิติแห่งชาติระบุว่า คนไทยที่มีรายได้ไม่เกิน 1 หมื่นบาทมีสัดส่วนประมาณ 70% ของประชากรทั้งหมด จึงเป็นกลุ่มเป้าหมายแรกในการแก้หนี้เรื้อรัง

“การช่วยเหลือลูกหนี้ ธปท.ดำเนินการมาต่อเนื่องตั้งแต่ช่วงโควิด-19 แต่เน้นในกลุ่มหนี้เสีย แต่ลูกค้าที่ดีแต่ไม่สามารถปิดจบหนี้ได้ยังไม่มีมาตรการช่วยเหลือ ซึ่งจากการศึกษาในต่างประเทศ พบว่าอังกฤษมีมาตรการที่บังคับเจ้าหนี้มาช่วยเหลือลูกหนี้ ซึ่งสอดคล้องกับไทย จึงเป็นที่มาของมาตรการแก้หนี้เรื้อรัง”

นางสาวอรมนต์กล่าวว่า ภายในเดือนมีนาคมนี้ ธปท.จะเข้าไปตรวจสอบระบบความพร้อมของธนาคารและน็อนแบงก์ เช่น ระบบการตรวจสอบลูกหนี้ที่เข้าข่ายหนี้เรื้อรัง การแจ้งเตือนลูกค้าครบถ้วนหรือไม่ การให้ข้อมูลลูกค้าเพียงพอหรือไม่ พนักงานเพียงพอหรือไม่ เป็นต้น อย่างไรก็ดี จากการพูดคุยกับสถาบันการเงินใหญ่ พบว่ามีความพร้อมแล้ว

ทั้งนี้ หลังจากสถาบันการเงินติดต่อลูกหนี้รายบัญชีเสร็จสิ้นภายในเดือนเมษายนนี้ ในเดือนกรกฎาคมจะมีการรายงานว่ามีลูกค้าขอเข้าโครงการเท่าไร อย่างไรก็ดี ธปท.จะมีการทบทวนเกณฑ์หนี้เรื้อรังทุกปี และปรับให้เหมาะสม เช่น ไม่กำหนดรายได้ หรือไม่จำเป็นต้องจ่ายดอกเบี้ยท่วมเงินต้น 5 ปี อาจจะเหลือแค่ 4 ปี เพื่อให้การแก้หนี้มีประสิทธิภาพและครอบคลุม