ดอลลาร์สหรัฐกลับมาแข็งค่า หลังตัวเลขเงินเฟ้อออกมาสูงกว่าคาด

ดอลลาร์

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า ภาวการณ์เคลื่อนไหวของตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันที่ 11-15 มีนาคม 2567 ค่าเงินบาทเปิดตลาดวันจันทร์ (11/3) ที่ระดับ 35.40/41 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (8/3) ที่ระดับ 35.43/44 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ จากการอ่อนค่าของดอลลาร์สหรัฐ ภายหลังกระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตร ปรับตัวขึ้น 275,000 ตำแหน่งในเดือน ก.พ. สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 198,000 ตำแหน่ง ส่วนอัตราการว่างงานปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 3.9% สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 3.7%

นอกจากนี้มีการปรับตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรในเดือน ม.ค. จากการรายงานครั้งก่อนว่าปรับตัวขึ้น 353,000 ตำแหน่ง โดยปรับลดลงเหลือเพียง 229,000 ตำแหน่ง ส่วนตัวเลขค่าจ้างรายชั่วโมงโดยเฉลี่ยของแรงงานปรับตัวขึ้น 4.3% ในเดือน ก.พ. เมื่อเทียบรายปี ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 4.4% และเมื่อเทียบรายเดือน ปรับตัวขึ้น 0.1% ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 0.2%

โดยอัตราว่างงานที่สูงกว่าคาดการณ์และค่าจ้างรายชั่วโมงโดยเฉลี่ยของแรงงานที่ต่ำกว่าคาดการณ์ส่งผลให้นักลงทุนคลายความวิตกกังวลเกี่ยวกับเงินเฟ้อและปรับเพิ่มคาดการณ์ว่า ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะเริ่มปรับลดอัตราดอกเบี้ยในเดือน มิ.ย. ต่อมาในวันจันทร์ (11/3) ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) สาขานิวยอร์ก เปิดผลการสำรวจพบว่าเงินเฟ้อคาดการณ์ของผู้บริโภคในระยะเวลา 1 ปีข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 3.0% ไม่เปลี่ยนแปลงจากคาดการณ์ก่อนหน้านี้

ส่วนคาดการณ์เงินเฟ้อของผู้บริโภคในระยะเวลา 3 ปี ปรับตัวขึ้น 0.3% สู่ระดับ 2.7% ขณะที่คาดการณ์เงินเฟ้อในระยะเวลา 5 ปี ปรับตัวขึ้น 0.4% สู่ระดับ 2.9% อย่างไรก็ตาม ค่าเงินดอลลาร์กลับมาแข็งค่าเมื่อเทียบกับค่าเงินสกุลหลักในวันพุธ (13/3) หลังจากสหรัฐรายงานดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อจากการใช้จ่ายของผู้บริโภค ปรับตัวขึ้น 0.4% ในเดือน ก.พ. เมื่อเทียบเป็นรายเดือน ซึ่งสอดคล้องกับตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ หลังจากที่ปรับตัวขึ้น 0.3% ในเดือน ม.ค. ขณะที่ดัชนี CPI ปรับตัวขึ้น 3.2% ในเดือน ก.พ. เมื่อเทียบเป็นรายปี สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าจะเพิ่มขึ้น 3.1% หลังจากที่เพิ่มขึ้น 3.1% ในเดือน ม.ค. ส่วนดัชนี CPI พื้นฐาน (Core CPI) ซึ่งไม่นับรวมหมวดอาหารและพลังงาน ปรับตัวขึ้น 0.4% ในเดือน ก.พ. เมื่อเทียบเป็นรายเดือน สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 0.3% หลังจากที่เพิ่มขึ้น 0.4% ในเดือน ม.ค. เมื่อเทียบเป็นเดือน

ในขณะที่ดัชนี CPI ปรับตัวขึ้น 3.8% ในเดือน ก.พ. สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 3.7% หลังจากที่เพิ่มขึ้น 3.9% ในเดือน ม.ค. เมื่อเทียบเป็นรายปี นอกจากนี้ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ ได้แรงหนุนจากการที่ดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) ของสหรัฐที่ออกมาสูงเกินคาด ซึ่งอาจทำให้ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ตรึงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับสูงเป็นเวลานานกว่าที่คาดการณืไว้

โดยกระทรวงแรงงงานสหรัฐเปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อจากการใช้จ่ายของผู้ผลิต ปรับตัวขึ้น 1.6% ในเดือน ก.พ. เมื่อเทียบรายปี สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 1.1% หลังจากที่เพิ่มขึ้น 1.0% ในเดือน ม.ค. ส่วนดัชนี PPI พื้นฐาน (Core PPI) ซึ่งไม่นับรวมหมวดอาหารและพลังงาน ปรับตัวขึ้น 2.0% ในเดือน ก.พ. เมื่อเทียบรายปี สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 1.9% หลังจากที่เพิ่มขึ้น 2.0% ในเดือน ม.ค. ล่าสุด FedWatch Tool ของ CME Group บ่งชี้ว่า

นักลงทุนให้น้ำหนัก 62.9% ที่เฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ย 0.25% ในการประชุมเดือน มิ.ย. ซึ่งลดลงจากระดับ 81.7% ในสัปดาห์ที่ผ่านมา ส่วนในการประชุมวันที่ 19-20 มี.ค.นี้ นักลงทุนคาดว่าเฟดจะคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ระดับ 5.25-5.50%

สำหรับปัจจัยภายในภูมิภาค สำนักงานสถิติแห่งชาติ (NBS) ของจีนเปิดเผยดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ของจีนปรับตัวขึ้น 0.7% ในเดือน ก.พ. เมื่อเทียบรายปี โดยพลิกฟื้นขึ้น หลังจากการปรับตัวลง .8% ในเดือน ม.ค. และเมื่อเทียบเป็นรายเดือน ดัชนีราคาผู้บริโภคปรับตัวขึ้น 1% ในเดือน ก.พ. ส่วนดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานปรับตัวขึ้น 1.2% เมื่อเทียบเป็นรายปีในเดือน ก.พ.

ขณะที่ดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) ของจีนปรับตัวลง 2.7% ในเดือน ก.พ. เมื่อเทียบเป็นรายปี หลังจากปรับตัวลง 2.5% ในเดือน ม.ค. และปรับตัวลงมากกว่าคาดการณ์ไว้ว่าอาจปรับตัวลง 2.5% บ่งชี้ว่าเงินเฟ้อในภาคผู้ผลิตของจีนชะลอตัวต่อเนื่อง แม้ว่าจะมีสัญญาณการขยายตัวเล็กน้อยจากทางฝั่งผู้บริโภค ท่ามกลางวิกฤตในภาคอสังหาริมทรัพย์และการชะลอตัวของอุปสงค์โลก

สำหรับปัจจัยภายในประเทศ นายเกียรติพงศ์ อริยปรัชญา นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสของธนาคารโลก (World Bank) ประจำประเทศไทย เปิดเผยเกี่ยวกับรายงานภาวะเศรษฐกิจไทยปี 2567 ฉบับทบทวนล่าสุดที่จะเผยแพร่ในเดือนเมษายนนี้ ว่าอาจมีการปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจไทยลงจากระดับที่คาดการณ์ไว้เดิมในเดือน ธ.ค. 2566 ที่ว่าจีดีพีของไทยในปี 2567 จะขยายตัวได้ 3.2%

โดยอาจถูกปรับลดลงมาอีก ซึ่งมีสาเหตุจากปัจจัยภายในประเทศเรื่องการเบิกจ่ายงบประมาณที่ล่าช้า การส่งออกที่ยังคงอ่อนแอ และปัจจัยภายนอกคือผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจโลก และการชะลอตัวลงของเศรษฐกิจจีน ท่ามกลางบริบทความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์และภาวะสงคราม ทั้งนี้ ระหว่างสัปดาห์ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 35.33-35.86 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดในวันศุกร์ (15/3) ที่ระดับ 35.78/79 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับความเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโร เปิดตลาดเช้าวันจันทร์ (11/3) ที่ระดับ 1.0942/43 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร แข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (8/3) ที่ระดับ 1.0935/36 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร จากการอ่อนค่าของเงินดอลลาร์สหรัฐ สำนักงานสถิติเยอรมนีเปิดเผยในวันศุกร์ (8/3) ว่า

ข้อมูลผลผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือน ม.ค.ของเยอรมนี ปรับตัวขึ้น 1% เมื่อเทียบรายเดือนจากการปรับตัวลง 2% ในเดือนก่อนหน้า และสูงกว่าคาดการณ์ว่าจะปรับตัวขึ้น 0.5% ส่งสัญญาณว่าภาคการผลิตเยอรมนีเริ่มฟื้นตัวและเป็นปัจจัยสนับสนุนในการฟื้นตัวของเศรษฐกิจเยอรมนี ส่วนดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) เดือน ม.ค. ปรับตัวลง 4.4% เมื่อเทียบรายปีจาก 5.1% เดือนก่อนหน้านี้ ซึ่งปรับตัวลงน้อยกว่าคาดการณ์ที่ 6.6% โดยส่งสัญญาณว่าเงินเฟ้อเยอรมนีในภาคผู้ผลิตยังคงหดตัวอย่างต่อเนื่อง

สำหรับสำนักงานสถิติยุโรปเปิดเผยตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ยูโรโซนไตรมาส 4 ปี 2567 ปรับตัวขึ้น 0.1 เมื่อเทียบรายปี สอดคล้องกับการคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ส่งสัญญาณว่า เศรษฐกิจยุโรปยังคงขยายตัวได้ไม่ดีนัก และอาจเป็นปัจจัยสนับสนุนแนวโน้มการปรับลดอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางยุโรป (ECB) ภายหลังธนาคารกลางยุโรปมีมติคงอัตราดอกเบี้ยในการประชุมครั้งล่าสุดตามการคาดการณ์ของตลาด โดยเป็นการตรึงอัตราดอกเบี้ยติดต่อกันเป็นครั้งที่ 4 และมีการระบุว่าปัจจุบันธนาคารกลางยุโรปมีความคืบหน้าในการควบคุมเงินเฟ้อ

อีกทั้งส่งสัญญาณว่าคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินกำลังหารือกันเกี่ยวกับกรอบเวลาที่เหมาะสมในการผ่อนคลายนโยบายการเงิน โดยผู้กำหนดนโยบายของธนาคารกลางยุโรปสนับสนุนการปรับลดอัตราดอกเบี้ยครั้งแรกในเดือน มิ.ย. และบางรายสนับสนุนการปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงอีกในเดือน ก.ค. ทั้งนี้ระหว่างสัปดาห์ค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.0871-1.0963 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดในวันศุกร์ (15/3) ที่ระดับ 1.0897/1.0901 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยน เปิดตลาดเช้าวันจันทร์ (11/3) ที่ระดับ 146.76/77 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (8/3) ที่ระดับ 147.13/14 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ จากการอ่อนค่าของดอลลาร์สหรัฐ สำนักข่าวจิจิ เพรสรายงานว่า ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) กำลังพิจารณาการยกเลิกมาตรการควบคุมอัตราผลตอบแทนพันธบัตร (Yield Curve Control-YCC) และจะแจ้งแผนการล่วงหน้าเกี่ยวกับจำนวนการซื้อพันธบัตรรัฐบาลญี่ปุ่น (JGB) แทนการใช้มาตรการ YCC โดยรายงานระบุว่า BOJ จะยุติมาตรการกำหนดผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปี ให้อยู่ที่ประมาณ 0%

ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามในการปรับนโยบายการเงินให้เป็นปกติ โดย BOJ จะตัดสินใจในเรื่องดังกล่าวและยุติอัตราดอกเบี้ยติดลบอย่างเร็วที่สุดในการประชุมนโยบายครั้งต่อไปที่จะเสร็จสิ้นในวันที่ 19 มี.ค.นี้ ขณะที่มีการปรับเพิ่มคาดการณ์ว่า BOJ จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งแรกนับตั้งแต่เดือนมีนาคม ปี 2550 เนื่องจากค่าแรงที่สูงขึ้นและอัตราเงินเฟ้อที่ทรงตัวจะสนับสนุนการดำเนินนโยบายดังกล่าว

นอกจากนี้ รัฐบาลญี่ปุ่นปรับเพิ่มประมาณการตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ในไตรมาส 4 ปี 2566

โดยระบุว่า GDP ขยายตัว 0.4% ซึ่งสูงกว่าการประมาณการเบื้องต้นที่ระบุว่า GDP ปรับตัวลง 0.4% และเมื่อเทียบเป็นรายไตรมาส ตัวเลข GDP ในไตรมาส 4 ปี 2566 ของญี่ปุ่นมีการปรับตัวขึ้น 0.1% ซึ่งดีกว่าการประมาณการเบื้องต้นที่ระบุว่า GDP ปรับตัวลง 0.1% ทั้งนี้ ระหว่างสัปดาห์ค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 146.47-148.83 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดในวันศุกร์ (15/3) ที่ระดับ 146.71/74 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ