ดอลลาร์สหรัฐทรงตัว จับตาการเปิดเผยดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) สหรัฐ

ดอลลาร์

ดอลลาร์สหรัฐทรงตัว พร้อมกับจับตาการเปิดเผยดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) ของสหรัฐ

วันที่ 14 มีนาคม 2567 ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า สภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันพฤหัสบดีที่ 14 มีนาคม 2567 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (14/3) ที่ระดับ 35.65/66 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันพุธ (13/3) ที่ระดับ 35.73/74 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กในวันพุธ (13/3)

เนื่องจากนักลงทุนชะลอการซื้อดอลลาร์ พร้อมกับจับตาการเปิดเผยดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) เพื่อหาสัญญาณบ่งชี้แนวโน้มเงินเฟ้อก่อนที่การประชุมของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะมีขึ้นในสัปดาห์หน้า

โดยคาดหวังว่าข้อมูลดังกล่าวจะทำให้เห็นภาพรวมเงินเฟ้อของสหรัฐได้ชัดเจนยิ่งขึ้น หลังจากได้เปิดเผยดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา ทั้งนี้ ดัชนีดอลลาร์ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงิน 6 สกุลในตะกร้าเงิน ลดลง 0.16% แตะที่ระดับ 102.789

โดยนักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า ดัชนี PPI ทั่วไป (Headline PPI) ซึ่งรวมหมวดอาหารและพลังงาน ปรับตัวขึ้น 1.2% ในเดือน ก.พ. เมื่อเทียบรายปี จากระดับ 0.9% ในเดือน ม.ค. เมื่อเทียบรายเดือนคาดว่าดัชนี PPI ทั่วไป ปรับตัวขึ้น 0.3% ในเดือน ก.พ.หลังจากปรับตัวขึ้น 0.3% เช่นกันในเดือน ม.ค.

ส่วนดัชนี PPI พื้นฐาน (Core PPI) ซึ่งไม่นับรวมหมวดอาหารและพลังงาน คาดว่าปรับตัวขึ้น 2.0% ในเดือน ก.พ. เมื่อเทียบรายปี หลังจากปรับตัวขึ้น 2.0% เช่นกันในเดือน ม.ค. เมื่อเทียบรายเดือน คาดว่าดัชนี PPI พื้นฐานปรับตัวขึ้น 0.2% ในเดือน ก.พ.จากระดับ 0.5% ในเดือน ม.ค. และสำหรับการคาดการณ์ล่าสุดเกี่ยวกับแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยของเฟดนั้น ข้อมูลจาก FedWatch Tool ของ CME Group บ่งชี้ว่า นักลงทุนให้น้ำหนัก 65% ที่เฟดจะเริ่มปรับลดอัตราดอกเบี้ยครั้งแรกในการประชุมเดือน มิ.ย.ส่วนในการประชุมสัปดาห์หน้า (19-20 มี.ค.) นักลงทุนคาดว่าเฟดจะคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ระดับ 5.25-5.50%

ในส่วนของสัญญาน้ำมันดิบเวสต์เทกซัส (WTI) ตลาดนิวยอร์กปิดพุ่งขึ้นเกือบ 3% ในวันพุธ (13/3) หลังสหรัฐเปิดเผยสต๊อกน้ำมันดิบและน้ำมันเบนซินลดลงในสัปดาห์ที่แล้ว ซึ่งบ่งชี้ว่าความต้องการใช้น้ำมันในสหรัฐยังคงแข็งแกร่ง นอกจากนี้ ราคาน้ำมันยังได้แรงหนุนจากการคาดการณ์ที่ว่า อุปทานน้ำมันในตลาดจะได้รับผลกระทบจากการที่ยูเครนโจมตีโรงกลั่นน้ำมันของรัสเซีย

ราคาน้ำมันดิบพุ่งขึ้น หลังจากสำนักงานสารสนเทศด้านการพลังงานของรัฐบาลสหรัฐ (EIA) เปิดเผยว่า สต๊อกน้ำมันดิบของสหรัฐลดลง 1.5 ล้านบาร์เรลในสัปดาห์ที่แล้ว สวนทางกับที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 900,000 บาร์เรล ส่วนสต๊อกน้ำมันเบนซินลดลง 5.6 ล้านบาร์เรล ซึ่งมากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะลดลงเพียง 1.9 ล้านบาร์เรล

นอกจากนี้ EIA ยังเปิดเผยว่า สต๊อกน้ำมันดิบที่เมืองคูชิง รัฐโอคลาโฮมา ซึ่งเป็นจุดส่งมอบสัญญาน้ำมันดิบล่วงหน้าของสหรัฐ ลดลง 220,000 บาร์เรล โดยนักลงทุนยังคงจับตาสถานการณ์ตึงเครียดระหว่างรัสเซียและบรรดาชาติพันธมิตรของยูเครน โดยล่าสุดประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ผู้นำรัฐเซีย กล่าวว่า รัสเซียมีความพร้อมทางด้านเทคนิคในการทำสงครามนิวเคลียร์ และรัสเซียพร้อมที่จะทำการทดสอบระเบิดนิวเคลียร์ หากสหรัฐเป็นฝ่ายดำเนินการก่อน

สำหรับปัจจัยภายในประเทศ นายอิสเรศ รัตนดิลก ณ ภูเก็ต รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวถึงผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือนกุมภาพันธ์ 2567 อยู่ที่ระดับ 90.0 ปรับตัวลดลงเล็กน้อย จาก 90.6 ในเดือนมกราคม 2567 ผลจากเศรษฐกิจ การใช้จ่ายในประเทศที่ชะลอตัวลงจากเดือนก่อนหน้า

เนื่องจากความกังวลเกี่ยวกับค่าครองชีพและปัญหาหนี้ครัวเรือน ส่งผลให้ประชาชนระมัดระวังการใช้จ่ายด้านการส่งออกยังคงชะลอตัว เนื่องจากสภาวะเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าที่ยังอ่อนแอ โดยเฉพาะจีนและญี่ปุ่น โดยระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 35.64-35.70 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 35.64/65 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับความเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโร เปิดตลาดเช้าวันนี้ (14/3) ที่ระดับ 1.0947/48 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร แข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันพุธ (13/3) ที่ระดับ 1.0923/24 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร โดยระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.0937-1.0948 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.0937/38 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยนเปิดตลาดเช้าวันนี้ (14/3) ที่ระดับ 147.58/59 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันพุธ (13/3) ที่ 148.00/01 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ หลังจากมีรายงานว่าบริษัทรายใหญ่ของญี่ปุ่นเสนอขึ้นค่าจ้างครั้งใหญ่ที่สุดในรอบหลายสิบปี ในการประชุมค่าจ้างประจำปีกับสหภาพแรงงาน ซึ่งอาจส่งผลให้ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ยุติการใช้นโยบายอัตราดอกเบี้ยติดลบ ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 147.58-149.88 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 147.86/87 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ข้อมูลเศรษฐกิจที่สำคัญในวันนี้ ได้แก่ ดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) เดือน ก.พ.ของสหรัฐ (14/3), ดัชนียอดขายปลีกเดือน ก.พ.ของสหรัฐ (14/3), จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ของสหรัฐ (14/3), ดัชนีภาคการผลิตอุตสาหกรรมเดือน ก.พ.ของสหรัฐ (14/3), ดัชนีภาคการผลิต (Empire State Manufacturing Index) เดือน มี.ค.จากเฟดนิวยอร์ก (15/3) และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคขั้นต้นเดือน มี.ค.จากมหาวิทยาลัยมิชิแกน (15/3)

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ -9.25/9.00 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยงภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ -7.00/5.20 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ