เปิดตลาด เงินบาทอ่อนค่าสูงสุดในรอบสองสัปดาห์

เงินบาท ธนบัตร

เปิดตลาด เงินบาทอ่อนค่าสูงสุดในรอบสองสัปดาห์ ตลาดจับตาดูการประชุมของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) รวมทั้งการคาดการณ์อัตราดอกเบี้ยนโยบาย (Dot Plot) ในวันที่ 19 และ 20 มี.ค. เพื่อหาสัญญาณบ่งชี้การปรับลดอัตราดอกเบี้ยครั้งแรกของเฟดในปีนี้อย่างใกล้ชิด

วันที่ 18 มีนาคม 2567 ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า สภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันจันทร์ที่ 11 มีนาคม 2567 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (18/3) ที่ระดับ 35.94/95 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าต่อเนื่องจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (15/3) ที่ระดับ 35/77/78 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

โดยในวันศุกร์ (15/3) ที่ผ่านมา หลังการเปิดเผยตัวเลขการผลิตภาคอุตสาหกรรมโดยรวมของสหรัฐที่เพิ่มขึ้น 0.1% ในเดือน ก.พ.เมื่อเทียบรายเดือน สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์และสูงกว่าเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 0.0% และ -0.5% ตามลำดับ ส่งผลให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐปรับตัวสูงขึ้น

โดยอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 10 ปี อยู่ที่ระดับ 4.30% เป็นปัจจัยหนุนให้ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐปรับตัวแข็งค่าขึ้น โดยดัชนีดอลลาร์ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน แตะระดับสูงสุดที่ 103.494 ในคืนวันศุกร์ และ 103.514 ในวันจันทร์

อย่างไรก็ตาม สหรัฐมีการเปิดเผยตัวเลขดัชนีภาคการผลิต (Empire State Index) ที่ลดลงสู่ระดับ -20.9 ในเดือน มี.ค. ต่ำกว่าที่คาดการณ์และต่ำกว่าเดือนก่อนหน้าที่ระดับ -7.0 และ -2.4 ตามลำดับ ซึ่งเป็นผลกระทบจากการร่วงลงของคำสั่งซื้อใหม่ รวมถึง ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคสหรัฐที่สำรวจโดยมหาวิทยาลัยมิชิแกน ปรับตัวลดลงที่ระดับ 76.5 ในเดือน มี.ค. และต่ำกว่าเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 77.1 จากระดับ 76.9 ในเดือน ก.พ. ตามลำดับ

โดยในสัปดาห์นี้ตลาดจับตาดูการประชุมของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) และรวมทั้งการคาดการณ์อัตราดอกเบี้ยนโยบาย (Dot Plot) ในวันที่ 19 และ 20 มี.ค. เพื่อหาสัญญาณบ่งชี้การปรับลดอัตราดอกเบี้ยครั้งแรกของเฟดในปีนี้อย่างใกล้ชิด

สำหรับปัจจัยภายในประเทศ ตลาดจับตาความคืบหน้าโครงการดิจิทัลวอลเล็ตของรัฐบาล หลังจากที่นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง กล่าวถึงความคืบหน้าโครงการแจกเงิน 1 หมื่นบาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ตว่า ได้มีการพูดคุยกับนายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลังแล้ว และช่วงต้นสัปดาห์นี้จะมีการรายงานความคืบหน้าเพิ่มเติม

นอกจากนี้การปรับตัวลงของราคาทองคำที่ระดับ 2,154 ดอลลาร์สหรัฐ ต่อทรอยเอานซ์ ก็ส่งผลกดดันค่าเงินบาทอ่อนค่าเพิ่มเติมเช่นกัน นอกจากนี้สถานะพอร์ตการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติระหว่างวันที่ 11-15 มี.ค. 2567 นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิหุ้นไทย 4.9 ล้านบาท ขายสุทธิพันธบัตรไทย 11,670 ล้านบาท

สำหรับปัจจัยในภูมิภาค สำนักงานสถิติแห่งชาติ (NBS) ของจีนเปิดเผยในเช้าวันนี้ (18/03) ว่า การผลิตในภาคอุตสาหกรรม (Industrial Production) ในเดือน ก.พ. ปรับตัวขึ้น 7.0% เมื่อเทียบรายปี ซึ่งสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์และสูงกว่าเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 5.3% และ 6.8% ตามลำดับ อย่างไรก็ตาม ยอดค้าปลีก (Retail Sales) ในเดือน ก.พ. ปรับตัวลดลง 5.5% เมื่อเทียบรายปี ซึ่งต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์และต่ำกว่าเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 5.6% และ 7.4% ตามลำดับ

สำหรับความเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโร เปิดตลาดเช้าวันนี้ (18/3) ที่ระดับ 1.0883/87 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร อ่อนค่าลงจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (15/3) ที่ระดับ1.0901/03 ตามการแข็งค่าของค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ ทั้งนี้ในระหว่างวันยูโรเคลื่อนไหวในกรอบระหว่าง 1.0900-1.0878 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.0897/901 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับความเคลื่อนไวของค่าเงินปอนด์ เปิดตลาดเช้าวันนี้ (18/3) ที่ระดับ 1.2728/29 ดอลลาร์สหรัฐ/ปอนด์ อ่อนค่าลงจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (15/3) ที่ระดับ 1.2750/57 ตามการแข็งค่าของค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ โดยตลาดจับตาดูประชุมของธนาคารกลางอังกฤษ (ROE) ในวันที่ 21 มี.ค. อย่างใกล้ชิด ทั้งนี้ในระหว่างวันปอนด์เคลื่อนไหวในกรอบระหว่าง 1.2746-1.2723 ดอลลาร์สหรัฐ/ปอนด์ และปิดตลาดที่ระดับ 1.2733/37 ดอลลาร์สหรัฐ/ปอนด์

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยนเปิดตลาดเช้าวันนี้ (18/3) ที่ระดับ 149.28/31 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (15/3) ที่ระดับ 148.69/72 ตามการแข็งค่าของค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ อย่างไรก็ตาม ตลาดยังคงคาดการณ์ว่าธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) จะยุติการใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลายเป็นพิเศษหรือนโยบายอัตราดอกเบี้ยติดลบในการประชุมวันที่ 18-19 มี.ค.

โดยมีข่าวสนับสนุนจากสหภาพแรงงานที่ใหญ่ที่สุดของญี่ปุ่น หรือ Rengo ที่มีการเรียกร้องให้ปรับขึ้นค่าแรงเหนือระดับ 5% เป็นครั้งแรกในรอบ 30 ปี ทั้งนี้ในระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 149.32-148.88 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 149.21/22 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ส่วนข้อมูลการประชุมที่สำคัญในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ผลการประชุมนโยบายการเงินของเฟด (19-20 มี.ค.) ผลการประชุมนโยบายการเงิน BOJ (18-19 มี.ค.) ผลการประชุมนโยบายการเงินของ BOE (21 มี.ค.)

สำหรับตัวเลขเศรษฐกิจที่สำคัญของสหรัฐ ได้แก่ ดัชนีตลาดที่อยู่อาศัย และข้อมูลเบื้องต้นของ PMI, ตัวเลขการเริ่มสร้างบ้าน ยอดขายบ้านมือสอง, จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์, ดัชนี PMI เบื้องต้นสำหรับเดือน มี.ค. และอัตราเงินเฟ้อเดือน ก.พ.ของญี่ปุ่น ยูโรโซนและอังกฤษ, รวมถึงการกำหนดอัตราดอกเบี้ย LPR และตัวเลขเศรษฐกิจของจีน อาทิ การผลิตภาคอุตสาหกรรม ยอดค้าปลีก ยอดการลงทุนในสินทรัพย์ถาวร และอัตราการว่างงาน

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ -9.9/9.6 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยงภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ -7.6/-7.1 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ