Q1 “ITD” สะเทือน 4 แบงก์ใหญ่ ส่อตั้งสำรองเพิ่ม-กำไรหด

ITD

โบรกฯจับตาผลกระทบ ITD ปมขาดสภาพคล่อง สะเทือน 4 แบงก์เจ้าหนี้ คาดแบงก์เจ้าหนี้เดินหน้าตั้งสำรองเพิ่ม จับตาฉุดกำไรลด แต่มั่นใจไม่ถึงขั้นกระทบเงินกองทุนแบงก์  หวั่นสถานะหนี้ยักษ์รับเหมาตกชั้นเป็นเอ็นพีแอล แบงก์เร่งเจรจาปรับโครงสร้างหนี้ เปิดทางรอด ขายทรัพย์สิน-ยืดหนี้-ต้องเพิ่มทุน หรือหาพาร์ตเนอร์ใหม่ แปลงหนี้เป็นทุน

นายธนเดช รังษีธนานนท์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ พาย กล่าวว่า กรณีบริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) ขาดสภาพคล่องในงวดไตรมาส 4/2566 ที่ผ่านมา พบว่า 4 แบงก์ใหญ่มีการตั้งสำรองหนี้สงสัยจะสูญเพิ่มขึ้น โดยการตั้งสำรองของกสิกรไทย มีจำนวน 13,600 ล้านบาท กรุงไทย 13,000 ล้านบาท ไทยพาณิชย์ 9,300 ล้านบาท และกรุงเทพ 7,300 ล้านบาท

ส่วนงวดไตรมาส 1/2567 มีโอกาสที่ทุกแบงก์จะตั้งสำรองเท่าเดิม หรือเพิ่มขึ้นได้ โดยกรุงเทพอาจจะตั้งสำรองสูงกว่า 7,300 ล้านบาท ไทยพาณิชย์อาจจะตั้งสำรองสูงระดับ 9,000-10,000 ล้านบาท สำหรับกสิกรไทยและกรุงไทยอาจจะตั้งสำรองไม่สูงเท่าระดับเดิมแล้ว

อย่างไรก็ตาม การตั้งสำรองทั้งปี 2567 เบื้องต้น กรุงเทพ กสิกรไทย ไทยพาณิชย์ ได้มีการให้แนวทาง (Guidance) ออกมาแล้วว่าจะมีการตั้งสำรองลดลง ส่วนกรุงไทยยังไม่เปิดเผย แต่เมื่อไตรมาส 4/2566 มีการตั้งสำรองส่วนเกินไปแล้วประมาณ 3,000-4,000 ล้านบาท ดังนั้น เชื่อว่าทุกแบงก์น่าจะมีการตั้งสำรองส่วนเกินเอาไว้บางส่วนแล้ว แต่คงยังไม่ได้ตั้งสำรองเต็ม 100% เนื่องจากโดยหลักการจะมีมูลค่าหลักประกันและความน่าจะเป็นของการเป็นหนี้เสียอยู่

“การที่แบงก์กันสำรองในระดับสูงขึ้น อาจจะมีผลกระทบต่อกำไรแบงก์อยู่บ้าง แต่ไม่มีนัยสำคัญ เนื่องจากมีการตั้งสำรองเอาไว้ในระดับสูงสำหรับความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจไว้แล้วด้วย”

หวั่น ITD ตกชั้นเป็น NPL

นายธนเดชกล่าวอีกว่า ตัวแปรสำคัญของเรื่องนี้คือ คุณภาพหนี้ของ ITD ที่อยู่ในเกณฑ์ค่อนข้างแย่ ปัจจุบันแบงก์จัดชั้นเป็น Stage 2 (สินเชื่อกล่าวถึงเป็นพิเศษหรือผิดนัดชำระหนี้ตั้งแต่ 31 วัน ไม่เกิน 90 วัน) กรณีเลวร้ายที่สุด แบงก์อาจปรับตกชั้นเป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ซึ่งระหว่างทางแบงก์ก็อาจจะอยู่ในช่วงการเจรจาต่อรองปรับโครงสร้างหนี้ เพราะสภาวะของ ITD ถ้าเกิดถูกเจ้าหนี้บ่งชี้ว่าเป็นลูกหนี้มีปัญหา NPL อาจจะกระทบต่อสัญญารับงาน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นงานของภาครัฐ

“คาดว่าหนึ่งในเงื่อนไขการเจรจากับ ITD คือ 1.ต้องขายทรัพย์สิน 2.ต้องยืดหนี้ออกไปโดยบวกเงื่อนไขค่าความเสี่ยง เช่น ดอกเบี้ยจะต้องสูงขึ้น และพูดคุยกับเจ้าหนี้การค้า รวมทั้งหารือกับภาครัฐเรื่องการเบิกเงิน และ 3.เจ้าของ ITD ต้องเพิ่มทุน โดยหาพาร์ตเนอร์ใหม่เข้ามา หรือแปลงหนี้เป็นทุน ให้แบงก์ถือหุ้น”

ขณะที่แหล่งข่าวโบรกเกอร์รายหนึ่ง เปิดเผยว่า กรณีกระแสข่าว ITD ขาดสภาพคล่อง และลามไปถึงผู้รับเหมารายย่อย ตัวเลขหนี้ 24,000 ล้านบาท เป็นตัวเลขที่ยังไม่ได้รับการยืนยันทางการ แต่ก็เชื่อว่าแบงก์ดังกล่าวซึ่งมีฐานะการเงินที่ค่อนข้างแข็งแกร่ง ได้มีการสำรองหนี้ไว้ในระดับหนึ่งแล้ว แม้ว่าต้องใส่สำรองเพิ่มก็ไม่ได้กระทบต่อการดำเนินงานของธุรกิจธนาคาร

อย่างไรก็ตาม หากคิดจากตัวเลขดังกล่าว กรณีแบงก์ต้องตั้งสำรองเต็มจำนวน  ประเมินผลกระทบต่อกำไร โดยธนาคารกรุงเทพจะกระทบกำไรในกรอบ 19%, ไทยพาณิชย์ประมาณ 15% และกรุงไทยประมาณ 10% ซึ่งผลกระทบอาจจะไม่มากขนาดนี้ เนื่องจากแบงก์ได้มีการตั้งสำรองไว้แล้ว และอาจจะไม่ต้องตั้งสำรองเต็ม 100% เพราะว่ามีหลักประกันอยู่บ้าง แต่ตัวเลขที่คาดการณ์ดังกล่าวเป็น Maximum ที่อาจจะเกิดขึ้น