คาด ธปท.ลดดอกเบี้ยนโยบายเดือนเมษายนนี้ กดดันค่าเงินบาทต่อเนื่อง

เงินบาท

คาดไทยลดอัตราดอกเบี้ย กดดันค่าเงินบาทต่อเนื่อง หลังนักลงทุนเชื่อแบงก์ชาติจะลดดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% ในการประชุมรอบเดือนเมษายนนี้ จากภาพรวมเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับต่ำ

วันที่ 25 มีนาคม 2567 ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า สภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันจันทร์ที่ 25 มีนาคม 2567 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (25/3) ที่ระดับ 36.37/38 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ทรงตัวจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (22/3) ที่ระดับ 36.38/39 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

โดยดัชนีดอลลาร์เคลื่อนไหวในกรอบท่ามกลางตลาดไร้ปัจจัยหนุนใหม่ หลังจากในวันศุกร์ที่ผ่านมา (22/3) ดัชนีดอลลาร์แข็งค่าต่อเนื่องสู่ระดับสูงสุดในรอบเดือนที่ระดับ 104.48 แม้ว่าในการประชุมของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ในสัปดาห์ที่ผ่านมา (19-20/3) บ่งชี้ว่าอัตราเงินเฟ้อในภาพรวมของสหรัฐมีการชะลอลง ทำให้นักลงทุนคาดการณ์ว่าเฟดจะเริ่มทยอยลดอัตราดอกเบี้ยตั้งแต่เดือน มิ.ย.

แต่ผลของการผ่อนคลายนโยบายการเงินของสหรัฐ ได้ถูกบดบังด้วยนโยบายการเงินในภูมิภาคอื่นที่มีการผ่อนคลายมากกว่า หลังธนาคารกลางสวิตเซอร์แลนด์ (SNB) มีมติปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% สู่ระดับ 1.50% ในการประชุมวันที่ 21 มี.ค. ซึ่งเป็นการดำเนินการที่สวนทางกับการคาดการณ์ของบรรดานักวิเคราะห์ และทำให้กลายเป็นธนาคารกลางรายใหญ่แห่งแรกที่เริ่มยุติการใช้นโยบายการเงินเชิงคุมเข้ม

รวมไปถึงนักลงทุนได้คาดการณ์เช่นเดียวกันว่าธนาคารแห่งประเทศไทยจะเป็นหนึ่งในธนาคารกลางที่จะมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยครั้งละ 0.25% ตั้งแต่การประชุมเดือน เม.ย. และ มิ.ย. จากภาพรวมของเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับต่ำ ทำให้สกุลเงินบาทยังได้รับแรงกดดันให้อ่อนค่าจากเงินทุนไหลออกอย่างต่อเนื่อง

สำหรับปัจจัยภายในประเทศ นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง แถลงความคืบหน้าโครงการแจกเงิน 1 หมื่นบาทผ่านดิจิทัลวอลเลต ยืนยันว่า ประชาชนจะได้รับเงิน 10,000 บาทในไตรมาส 4 ของปีนี้ (ต.ค.-ธ.ค.) ส่วนกรอบเวลาที่ชัดเจนนั้น ทางคณะกรรมการนโยบายโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet (บอร์ดดิจิทัลชุดใหญ่) ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน จะมีการประชุมสรุปรายละเอียดทั้งหมดในวันที่ 10 เม.ย. ก่อนส่งเรื่องให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณา

นอกจากนี้ นักลงทุนจับตาตัวเลขดุลการค้าไทยประจำเดือน ก.พ. ของกระทรวงพาณิชย์ที่จะมีการรายงานในวันพรุ่งนี้เพื่อประเมินภาวะเศรษฐกิจไทยต่อไป ทั้งนี้ในระหว่างวันบาทเคลื่อนไหวในกรอบระหว่าง 36.24-36.46 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 36.40/42 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับความเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโรเปิดตลาดเช้าวันนี้ (25/3) ที่ระดับ 1.0802/04 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร อ่อนค่าลงเล็กน้อยจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (22/3) ที่ระดับ 1.0814/16 ตลาดขาดปัจจัยใหม่เพิ่มเติม ทั้งนี้ในระหว่างวันยูโรเคลื่อนไหวในกรอบระหว่าง 1.0800-1.0823 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.0816/18 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยนเปิดตลาดเช้าวันนี้ (25/3) ที่ระดับ 151.30/32 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (22/3) ที่ระดับ 151.60/62 ตามการแข็งค่าของค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ

โดยนายมาซาโตะ คันดะ รมช.คลังฝ่ายกิจการระหว่างประเทศของญี่ปุ่น กล่าวว่า ในช่วงเวลา 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา ค่าเงินเยนมีการผันผวนมากถึง 4% ซึ่งไม่ได้สะท้อนปัจจัยพื้นฐาน และมองว่าการเคลื่อนไหวของเยนที่ผ่านมาเป็นการเก็งกำไร ซึ่งการอ่อนค่าของเยนมีผลกระทบในเชิงลบต่อเศรษฐกิจ และอาจกระทบความเป็นอยู่ของประชาชนผ่านต้นทุนสินค้านำเข้าที่สูงขึ้น

ดังนั้น ทางการญี่ปุ่นจะจับตาการเคลื่อนไหวของค่าเงินอย่างใกล้ชิด และไม่ตัดทิ้งความเป็นไปได้ที่จะมีมาตรการใด ๆ เพื่อปกป้องค่าเงินออกมา ซึ่งญี่ปุ่นเข้าแทรกแซงในตลาดเงินครั้งล่าสุดในเดือน ต.ค.ปี 2022 เมื่อเยนอ่อนค่ามาที่ระดับต่ำสุดในรอบ 32 ปีที่ใกล้ระดับ 152 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ทั้งนี้ในระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 151.02-151.44 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 151.38/40 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ส่วนตัวเลขเศรษฐกิจที่สำคัญในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ยอดขายบ้านใหม่เดือน ก.พ. ของสหรัฐ (25/3), ตัวเลขดุลการค้าจากกระทรวงพาณิชย์ประจำเดือน ก.พ.ของไทย (26/03), ยอดคำสั่งซื้อสินค้าคงทนเดือน ก.พ. ของสหรัฐ (26/3), ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือน มี.ค. ของสหรัฐ (26/3), ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือน มี.ค. ของสหรัฐ (26/3), ดัชนีราคาผู้บริโภคเดือน ก.พ.ของออสเตรเลีย (27/3),

ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศไตรมาส 4/2566 ของสหรัฐ (28/3), จำนวนผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ของสหรัฐ (28/3), รายงานยอดขายบ้านที่รอการปิดการขายเดือน มี.ค.ของสหรัฐ (28/3), ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคจากมหาวิทยาลัยมิชิแกน (28/3), ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานของกรุงโตเกียว (29/3) และดัชนีราคาจากรายจ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคลเดือน ก.พ. ของสหรัฐ (29/3)

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ -9.7/-9.6 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยงภาคเช้า 1 เดือน ต่างประเทศอยู่ที่ -5.0/4.4 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ