คลังวางกรอบปั๊มรายได้ แตะ 3 ล้านล้านใน 2 ปี-ขยับปฏิรูปภาษี

income

คณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อเร็ว ๆ นี้ ได้เห็นชอบแผนการคลังระยะปานกลาง (ปีงบประมาณ 2568-2571) ฉบับทบทวน ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ เนื่องจากรัฐบาลเล็งเห็นถึงความจำเป็นที่ต้องดำเนินนโยบาย “กระตุ้นเศรษฐกิจ” เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวและส่งเสริมอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจ เพื่อให้เศรษฐกิจขยายตัวสูงกว่าค่าเฉลี่ยและสูงกว่าการขยายตัวตามศักยภาพ

เนื่องจากเห็นว่า ปัจจุบันเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวต่ำกว่าค่าเฉลี่ยในอดีตและต่ำกว่าการเติบโตตามศักยภาพ (Potential Growth) สะท้อนจากผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ (GDP) ในปี 2567 ที่มีแนวโน้มขยายตัว 2.2-3.2% (ค่ากลาง 2.7%)

ขาดดุลเพิ่มกระตุ้น GDP

โดยเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจดังกล่าว รัฐบาลจึงวางเป้าหมายการคลังช่วง 4 ปีข้างหน้า ให้มีการขาดดุลงบประมาณในปี 2568 ที่ 865,700 ล้านบาท หรือ 4.42% ต่อ GDP (เพิ่มจากปี 2567 ที่ขาดดุล 693,000 ล้านบาท), ปี 2569 ขาดดุลที่ 703,000 ล้านบาท หรือ 3.42% ต่อ GDP, ปี 2570 ขาดดุลที่ 693,000 ล้านบาท หรือ 3.21% ต่อ GDP และ ปี 2571 ขาดดุลที่ 683,000 ล้านบาท หรือ 3.01% ต่อ GDP

ขณะที่สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP เมื่อสิ้นปีงบประมาณ 2568 จะอยู่ที่ 6
6.83%, ปี 2569 จะอยู่ที่ 67,53%, ปี 2570 จะอยู่ที่ 67.57% และปี 2571 จะอยู่ที่ 67.05%

ทั้งนี้ รัฐบาลวางกรอบรายจ่ายประจำปี 2568 ไว้ที่ 3,752,700 ล้านบาท, ปี 2569 อยู่ที่ 3,743,000 ล้านบาท, ปี 2570 เพิ่มเป็น 3,897,000 ล้านบาท และปี 2571 เพิ่มเป็น 4,077,000 ล้านบาท

ตั้งเป้า 2 ปี รายได้ทะลุ 3 ล้านล้าน

ส่วนรายได้รัฐบาล ประมาณการว่า ปี 2568 รัฐบาลจะมีรายได้สุทธิ 2,887,000 ล้านบาท, ปี 2569 จะมีรายได้สุทธิ 3,040,000 ล้านบาท, ปี 2570 จะมีรายได้สุทธิ 3,204,000 ล้านบาท และปี 2571 จะมีรายได้สุทธิ 3,394,000 ล้านบาท

Advertisment

นายกฯสั่งคุมรายจ่ายไม่จำเป็น

ขณะที่ “กฤษฎา จีนะวิจารณะ” รมช.คลัง กล่าวว่า การขาดดุลงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2568 เพิ่มขึ้นอีก 152,700 ล้านบาท จากเดิมที่กำหนดการขาดดุลไว้ที่ 713,000 ล้านบาท เป็น 865,700 ล้านบาท เพื่อใช้ในการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล ไม่น่าจะมีปัญหากระทบกับเครดิตเรตติ้งของประเทศ เนื่องจากปัจจุบันฐานะการคลังของประเทศอยู่ในระดับที่แข็งแกร่ง โดยมีทุนสำรองระหว่างประเทศสูงถึง 200,000 ล้านเหรียญสหรัฐ เงินคงคลังอยู่ในระดับสูงที่ 500,000-600,000 ล้านบาท

“วันนี้ฐานะประเทศเข้มแข็งมาก ไม่น่าเป็นห่วง ส่วนหนี้สาธารณะในปีงบประมาณ 2568 ที่ประเมินว่าจะปรับขึ้นไปที่ระดับ 66.93% ต่อ GDP นั้น ยังอยู่ภายใต้กรอบวินัยการเงินการคลัง ที่กำหนดไว้ที่ไม่เกิน 70% ต่อ GDP และเมื่อมีการบริหารจัดการ หนี้สาธารณะก็จะปรับลดลงอย่างต่อเนื่อง”

Advertisment

กราฟฟิก รายได้รัฐ

รมช.คลังกล่าวว่า ในแง่การควบคุมรายจ่ายนั้น ขณะนี้ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและ รมว.คลัง ได้ให้นโยบายชัดเจนเกี่ยวกับเรื่องการปรับลดรายจ่ายประจำ ตรงไหนที่ไม่จำเป็น เช่น เดิมรัฐบาลมีรายจ่ายที่จะต้องจ่ายสมทบให้กับกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) ปีละราว 50,000 ล้านบาท ซึ่งปัจจุบันเต็มกรอบเพดานแล้ว ตรงนี้ก็เป็นรายจ่ายที่รัฐบาลไม่ต้องจ่ายแล้ว ก็จะลดไป

ย้ำปฏิรูปภาษีหารายได้เพิ่ม

ขณะเดียวกันที่ต้องทำควบคู่คือ การปฏิรูปโครงสร้างภาษีเพื่อเพิ่มรายได้ ซึ่งเรื่องนี้ทางสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กำลังพิจารณาอยู่ แต่การจะปรับเพิ่มภาษีตัวใด ก็ต้องดูภาวะเศรษฐกิจและปัจจัยหลาย ๆ เรื่องประกอบ และต้องขึ้นอยู่กับช่วงเวลาที่เหมาะสม

“เรื่องการปฏิรูปโครงสร้างภาษี ทุกรัฐบาลมีความตั้งใจ แต่ก็มองว่าเป็นเรื่องที่ต้องค่อย ๆ ดำเนินการ ให้สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจและระยะเวลา” รมช.คลังกล่าว

เก็บ VAT นำเข้าของตั้งแต่บาทแรก

ด้าน “จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์” รมช.คลัง กล่าวว่า ภายในเดือน พ.ค.นี้ กรมสรรพากรจะเสนอกฎหมายกำหนดให้แพลตฟอร์มขายสินค้าออนไลน์ ทั้งที่เป็นแพลตฟอร์มในประเทศและต่างประเทศ เรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) 7% จากการขายสินค้าที่มีมูลค่าต่ำของผู้ขายในต่างประเทศให้แก่ผู้บริโภคในประเทศไทย หรือสินค้าที่มีราคาต่ำกว่า 1,500 บาท ที่เดิมมีการยกเว้น VAT

“การดำเนินการดังกล่าว จะช่วยให้เกิดความเป็นธรรมระหว่างผู้ขายในต่างประเทศกับผู้ขายในประเทศ ในแง่การแข่งขันและการจัดเก็บภาษี” รมช.คลังกล่าว

“ดร.กุลยา ตันติเตมิท” อธิบดีกรมสรรพากร กล่าวว่า เบื้องต้นประเมินว่า การเก็บ VAT จากสินค้าต่างประเทศที่มูลค่าต่ำกว่า 1,500 บาท จะทำให้รัฐมีรายได้เพิ่มขึ้นได้มากกว่า 1,000 ล้านบาทต่อปีแน่นอน

5 เดือนปี’67 เก็บต่ำเป้า

สำหรับการจัดเก็บรายได้รัฐบาล ในปีงบประมาณ 2567 ช่วง 5 เดือนแรก “พรชัย ฐีระเวช” ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า เดือน ต.ค. 2566-ก.พ. 2567 รัฐบาลเก็บรายได้สุทธิ 981,902 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 25,144 ล้านบาท หรือต่ำเป้า 2.5% จากการจัดเก็บรายได้ต่ำกว่าประมาณการของกรมสรรพสามิต เนื่องจากมีการปรับลดอัตราภาษีน้ำมันดีเซลและน้ำมันเบนซิน ประกอบกับภาษีรถยนต์จัดเก็บต่ำกว่าประมาณการ

ขณะที่การนำส่งรายได้ของรัฐวิสาหกิจและการจัดเก็บรายได้ของกรมสรรพากรสูงกว่าประมาณการ เนื่องจากรัฐวิสาหกิจบางแห่งมีการนำส่งรายได้เหลื่อมมาจากปีงบประมาณก่อนหน้า และการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มสูงกว่าประมาณการเป็นสำคัญ

“รายได้รัฐบาลสุทธิจัดเก็บได้ใกล้เคียงกับช่วงเดียวกันของปีก่อน อย่างไรก็ดี ฐานการจัดเก็บรายได้รัฐบาลสุทธิในช่วงเดียวกันของปีก่อน มีรายได้พิเศษรวม 37,059 ล้านบาท หากไม่รวมรายได้พิเศษดังกล่าว รายได้รัฐบาลสุทธิจะสูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน 3.5%” โฆษกกระทรวงการคลังกล่าว