ค่าเงินบาท เมื่อ กนง. มีมติ 5:2 คงดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 2.50%

กนง. ค่าเงิน ดอกเบี้ย

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพรายงานว่า สภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันพุธที่ 10 มีนาคม 2567 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (10/4) ที่ระดับ 36.32/33 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าเล็กน้อยจาระดับปิดตลาดเมื่อวันอังคาร (9/4) ที่ระดับ 36.35/36 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

โดยค่าเงินดอลลาร์ได้รับแรงกดดันจากการเปิดเผยดัชนีความเชื่อมั่นของธุรกิจขนาดย่อมที่ร่วงลงสู่ระบ 88.5 ในเดือน มี.ค. ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือน ธ.ค. 2555 และเป็นการปรับตัวต่ำกว่าระดับ 98 ซึ่งเป็นระดับเฉลี่ยในรอบ 50 ปีเป็นเดือนที่ 27 ติดต่อกัน โดยดัชนีความเชื่อมั่นได้รับผลกระทบจากความกังวลเกี่ยวกับเงินเฟ้อ และการขาดแคลนแรงงาน

ทั้งนี้ผลการสำรวจของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) สาขานิวยอร์ก พบว่า คาดการณ์เงินเฟ้อของผู้บริโภคในระยะยาว 1 ปีข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 3.0% ไม่เปลี่ยนแปลงจากคาดการณ์ก่อนหน้านี้ ส่วนคาดการณ์เงินเฟ้อของผู้บริโภคในระยะเวลา 3 ปี เพิ่มขึ้น 0.2% สู่ระดับ 2.9%

ขณะที่คาดการณ์เงินเฟ้อในระยะเวลา 5 ปี ลดลง 0.3% สู่ระดับ 2.6% ทั้งนี้ FewWatch Tool ของ CME Group บ่งชี้ว่า นักลงทุนให้น้ำหนักเพียง 48.6% ที่เฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ย 0.25% สู่ระบ 5.00-5.25% ในการประชุมวันที่ 11-12 มิ.ย. หลังจากที่ให้น้ำหนัก 61.5% เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว

นอกจากนี้ นักลงทุนให้น้ำหนัก 50.0% ที่เฟดจะคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับ 5.25-5.50% ในการประชุมวันที่ 11-12 มิ.ย. หลังจากที่ให้น้ำหนักเพียง 36.3% เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว

สำหรับปัจจัยภายในประเทศ ในวันนี้ ที่ประชุมคณะกรรมการนโยายการเงิน (กนง.) ประจำปีครั้งที่ 2/2567 มีมติ 5 ต่อ 2 เสียง ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 2.50% ต่อปี ขณะที่ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคเดือน มี.ค. 2567 อยู่ที่ระดับ 63 ปรับตัวลดลงเป็นครั้งแรกในรอบ 8 เดือนนับตั้งแต่เดือน ส.ค. 2566 เป็นต้นมา

ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวม ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสหางานทำโดยรวม และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคตอยู่ที่ระดับ 56.9, 59.8 และ 72.2 ตามลำดับ ปรับตัวลดลงเป็นครั้งแรกในรอบ 8 เดือนทุกรายการเช่นกัน เมื่อเทียบกับดัชนีในเดือน ก.พ. ที่อยู่ในระดับ 57.7, 60.4 และ 73.2 ตามลำดับ โดยระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 36.26-36.38 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 36.36/37 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับความเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโร เปิดตลาดเช้าวันนี้ (10/4) ที่ระดับ 1.0851/55 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร อ่อนค่าจากระดับปิดตาดเมื่อวันอังคาร (9/4) ที่ระดับ 1.0868/72 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร โดยตลาดจับตาผลการประชุมกำหนดนโยบายการเงินของธนาคารกลางยุโรป (ECB) ในวันพฤหัสนี้ (11/4) ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.848-1.0865 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.0859/63 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยนเปิดตลาดเช้าวันนี้ (10/4) ที่ระดับ 151.74/78 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าขึ้นจากระดับปิดตลาดเมื่อวันอังคาร (9/4) ที่ 151.81/85 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ โดยดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) เดือน มี.ค. อยู่ที่ระดับ 0.8% ซึ่งเป็นการปรับขึ้นติดต่อกันเป็นเดือนที่ 3 และสอดคล้องกับการคาดการณ์ของนักเศรษฐศาสตร์ในผลสำรวจที่จัดทำโดยสำนักข่าวรอยเตอร์ นายคาซูโอะ อุเอดะ ผู้ว่าการธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ได้แถลงต่อรัฐสภาญี่ปุ่นในวันนี้ (9/4) ว่า

หากเงินเฟ้อพื้นฐานปรับตัวสู่ระดับเป้าหมายที่ระดับ 2% อย่างค่อยเป็นค่อยไปตามที่คาดการณ์ไว้ ซึ่งมีความเป็นไปได้ที่จะลดการผ่อนคลายนโยบายการเงินลงอีก และนายอุเอดะระบุว่า ปัจจุบันอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานของญี่ปุ่นอยู่ต่ำกว่าระดับ 2% เล็กน้อย ซึ่งทำให้ BOJ จำเป็นต้องดำเนินนโยบายผ่อนคลายการเงินต่อไปอีกระยะหนึ่ง แต่แนวโน้มที่อัตราเงินเฟ้อจะแตะระดับเป้าหมายดังกล่าวนั้นมีมากขึ้น

นอกจากนี้สำนักข่าวเกียวโตรายงานว่า การที่ BOJ ประกาศยุตินโยบายการเงินแบบผ่อนคลายพิเศษ (ultra-loose monctary policy) ที่ดำเนินการมาเป็นเวลานานและสวนทางกับนโยบายการเงินของธนาคารกลางทั่วโลกนั้น ไม่สามารถสกัดการอ่อนค่าของเงินเยนได้ ซึ่งส่งผลให้ทางการญี่ปุ่นได้ออกมาส่งสัญญาณเตือนหลายครั้่ง อาจจะเข้าแทรกแซงตลาดปริวรรตเงินตรา โดยระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 151.69-151.92 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 151.85/89 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ข้อมูลเศรษฐกิจที่สำคัญในวันนี้ ได้แก่ รายงานการประชุมนโยบายการเงินของเฟดประจำวันที่ 19-20 มี.ค. (10/4), ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ของสหรัฐเดือน มี.ค. (10/4), สต็อกสินค้าคงคลังภาคค้าส่งของสหรัฐเดือน ก.พ. (11/4), ธนาคารกลางยุโรป (ECB) แถลงมติอัตราดอกเบี้ย (11/4), ดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) ของสหรัฐเดือน มี.ค. (11/4), ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ของจีนเดือน มี.ค. (11/4), ดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) ของจีนเดือน มี.ค. (11/4), ราคานำเข้าและส่งออกของสหรัฐเดือน มี.ค. (12/4) และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคขั้นต้นเดือน เม.ย.จากมหาวิทยาลัยมิชิแกน (12/4)

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ -9.0/-8.5 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยงภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ -9.2/-7.0 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ