กนง.ลั่นคงดอกเบี้ยไม่ฉุดรั้งจีดีพี ชี้เศรษฐกิจ “ตกหลุมอากาศ” ปมงบฯล่าช้า

คงดอกเบี้ย 2.50% ต่อปี

กนง.ย้ำจุดยืนคงดอกเบี้ย 2.50% ต่อปี เหมาะสมไม่ฉุดรั้งเศรษฐกิจ หลังประเมินจีดีพีปี’67 ขยายตัว 2.6% ท่องเที่ยว-บริโภคโตต่อเนื่อง ลั่น งบประมาณล่าช้าเป็น “หลุมอากาศ” ภาคการคลัง เม็ดเงินหาย 1.4 แสนล้านบาท

วันที่ 10 เมษายน 2567 นายปิติ ดิษยทัต ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และเลขานุการ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เปิดเผยว่า คณะกรรมการมีมติ 5 ต่อ 2 เสียงให้คงอัตราอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ 2.50% ต่อปี โดยคณะกรรมการฯ 2 เสียง เห็นควรให้ลดอัตราดอกเบี้ยลง 0.25% ต่อปี

จีดีพีปี’67 ฟื้นตัวต่อเนื่อง 2.6%

นายปิติกล่าวว่า หากดูแนวโน้มเศรษฐกิจในปี 2566 จะเห็นว่ามีทั้งแรงส่งและแรงฉุด โดยแรงส่งจะเป็นภาคการท่องเที่ยวที่หนุนการบริโภคเอกชนขยายตัว 7% ส่วนแรงฉุด จะเป็นสินค้าคลังที่อยู่ในระดับสูงโดยเฉพาะในช่วง 2 ไตรมาสสุดท้ายของปี 2566 รวมถึงงบประมาณที่ล่าช้าออกไป และปัจจัยเชิงวัฏจักรชั่วคราวในเรื่องของภาคการส่งออก และปัจจัยเชิงโครงสร้าง ทำให้เศรษฐกิจทั้งปี 2566 ออกมาขยายตัวต่ำอยู่ที่ 1.9%

สำหรับในปี 2567 แรงกดดันจากสินค้าคงคลังและงบประมาณล่าช้าจะทยอยหมดลง ทำให้เศรษฐกิจในปี 2567 ขยายตัวได้ในระดับ 2.6% และในปี 2568 ขยายตัว 3.0% อย่างไรก็ดี แม้ว่าการขยายตัว 2.6% อาจจะไม่สูงมาก แต่หากดูอัตราเร่งในการเติบโตไตรมาสต่อไตรมาส (QOQ) อยู่ที่ 1% ถือว่าค่อนข้างดี โดยปัจจัยเชิงวัฏจักรจะทยอยหายไป คือ อุปสงค์ต่างประเทศที่จะเริ่มฟื้นตัวแตกต่างตามหมวดสินค้าและประเทศ โดยภาคการส่งออกที่คาดว่าจะขยายตัว 2% จากปีก่อนหดตัว -1.7%

ขณะที่ภาคการบริโภคเอกชนในช่วง 2-3 ปีมีอัตราเร่งตัวค่อนข้างแรง โดยปีก่อนมีอัตราการเติบโต 7% และปีนี้คาดว่าจะขยายตัว 3.5% ซึ่งเป็นการขยายตัวสอดคล้องในระยะยาว โดยการขยายตัวจะมาจากภาคที่เกี่ยวเนื่องกับภาคท่องเที่ยวค่อนข้างเยอะ ซึ่งหากดูจำนวนนักท่องเที่ยวในช่วง 3 เดือนแรกของปีนี้ พบว่ามีจำนวนนักท่องเที่ยวเข้ามาแล้ว 10 ล้านคน คาดว่าทั้งปีจะอยู่ที่ 35.5 ล้านคน โดยที่รายได้ต่อหัวปรับดีขึ้น คาดปีนี้จะอยู่ที่ 1.4 ล้านล้านบาท สูงกว่าปีก่อน และอยู่ในเกณฑ์ที่ดี

“การขยายตัว 2.6% มีผลของมาตรการอสังหาริมทรัพย์ และดิจิทัลวอลเลต ซึ่งเรามีสมมุติฐานอยู่ในการประเมิน แต่ผลของอสังหาริมทรัพย์เข้ามาไม่เยอะ และดิจิทัลวอลเลตก็เข้ามาปลายปี ทำให้มีผลไม่เยอะ แต่จะมีผลในปี’68 ทำให้ภาพรวมไม่กระทบต่อการดำเนินนโยบายของ กนง.”

งบฯล่าช้า “หลุมอากาศ” ภาคการคลัง

สำหรับแรงฉุดเศรษฐกิจในไตรมาสที่ 4/66 ต่อเนื่องในไตรมาสที่ 1/67 จะเห็นมาจากปัจจัย “งบประมาณ” ที่ล่าช้า ซึ่งเป็น “หลุมอากาศ” ภาคการคลัง โดยหากดูเม็ดเงินที่หายไปจากงบประมาณที่ล่าช้าอยู่ที่ 0.8% ของจีดีพี หรือคิดเป็น 1.4 แสนล้านบาท ถือเป็นเม็ดเงินที่หายไปพอสมควร ที่เป็นหลุมอากาศ
โดยงบประมาณที่โดนกระทบมากที่สุด จะเป็น งบฯการลงทุน เนื่องจากไม่มีงบประมาณในการที่จะลงทุนใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้น ซึ่งหากดูงบฯลงทุนที่หายไปในไตรมาสที่ 4/66 ประมาณ 20% ไตรมาสที่ 1/67 หายไป 40% ดังนั้น หากไตรมาสที่ 2/67 งบประมาณที่เข้ามาจะช่วยสนับสนุนอัตราการเติบโตเศรษฐกิจ

ยันนโยบายการเงินปัจจุบันไม่ฉุดรั้งเศรษฐกิจ

นายปิติกล่าวว่า ภาพเศรษฐกิจเป็นภาพสำคัญในการกำหนดนโยบายการเงินที่จะออกมาเป็นแบบไหน ซึ่งในส่วนของการประสานงานกับนโยบายการคลังนั้น ธปท.มีการคำนึกถึงเสมอในแรงกระตุ้นและแรงฉุดที่จะต้องสอดประสานกัน ซึ่งจะเห็นได้ในช่วงการระบาดของโควิด-19 ที่มีมาตรการทางการเงินและการคลังที่เข้าไปช่วยอย่างเต็มที่ และเมื่อวิกฤตคลี่คลายลงก็ต้องเริ่มถอนคันเร่งของมาตรการ

โดยมองว่าอัตราดอกเบี้ยในระดับ 2.50% ต่อปี เป็นระดับที่เหมาะสมและเอื้อหนุนเศรษฐกิจในระยะยาว ซึ่งหากแยกปัจจัยเชิงวัฏจักรและเชิงโครงสร้างออกแล้ว ธปท.มองว่าจุดยืน “นโยบายการเงิน” ตอนนี้ไม่ได้ฉุดรั้งเศรษฐกิจ ซึ่งจะมีมาตรการทางการคลังเข้ามาช่วยเพิ่มเติม โดยมาตรการทางการเงินยังไม่จำเป็นต้องกระตุ้นพร้อมกัน

ดังนั้น คณะกรรมการฯ มองว่า “ดอกเบี้ย” ไม่ใช่เครื่องมือที่มีประสิทธิภาพที่ดีที่สุด และเหมาะสมที่สุดในการแก้ปัญหาหนี้ จึงจำเป็นต้องใช้เครื่องมืออื่น โดยหากมีการปรับลดดอกเบี้ยจะกระทบต่อพลวัตรหนี้
ยกตัวอย่าง เช่น ลดดอกเบี้ย 1% หนี้จะเพิ่มขึ้น และจะช่วยจีดีพีเพิ่มขึ้น แต่จะเห็นว่ายอดคงค้างหนี้จะเพิ่มขึ้น ซึ่งจะกินอำนาจซื้อของประชาชน และทำให้จีดีพีลดลงในระยะปานกลาง ภายใต้หนี้ที่มีอยู่ในระดับสูง ส่วนผลดอกเบี้ยลดลง 1% ต่อภาระหนี้ที่ลดลงทั้งครัวเรือน และภาคธุรกิจ แต่จะเห็นว่าภาระหนี้ที่ลดลงในกลุ่มธุรกิจจะเยอะกว่า ดังนั้น การลดดอกเบี้ยจะกระทบทั้งหมด จึงต้องชั่งน้ำหนักละเอียด

“เราได้ยินการเรียกร้องจากนายกรัฐมนตรีต้องการให้ลดดอกเบี้ย ซึ่งก็สอดคล้องกับคณะกรรมการฯ 2 ท่าที่ต้องการให้ลดดอกเบี้ย แต่เรื่องนี้ไม่มีความถูกต้องเป๊ะ ๆ ในการขึ้นและลงดอกเบี้ย เพราะการทำนโยบายจะต้องมีการชั่งน้ำหนักที่ละเอียดอ่อน ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว และภาคในประเทศ-ต่างประเทศ เมื่อชั่งน้ำหนักแล้วเป็นอย่างไร ซึ่งครั้งนี้คณะกรรมการมองสอดคล้องกันในเรื่องของเศรษฐกิจ แต่มองว่าการใช้เครื่องมือที่มีในการบรรเทาภาระหนี้ได้บ้าง ซึ่งไม่มีใครผิดใครถูก โดยนายกฯ ก็มีการชั่งน้ำหนักที่แตกต่างออกไป”

ชี้ เฟดไม่ได้เป็นปัจจัยหลักตัดสินใจนโยบาย

นายปิติกล่าวว่า สำหรับนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ไม่ได้เป็นปัจจัยสำคัญในการตัดสินใจนโยบายการเงินของไทย แต่ยอมรับว่าเราอยู่ในโลกที่มีความไม่แน่นอน และมีการเปิดเสรีการค้าและการเงิน โดยจุดแข็งของไทย คือ ไม่ได้มีจุดเปราะบางการเงินไม่เยอะเหมือนในปี 2540 ทั้งในแง่หนี้ต่างประเทศระยะสั้น และหนี้สกุลต่างประเทศ เงินทุนสำรองระหว่างประเทศอยู่ในระดับสูง ถือว่ามีกันชนที่แข็งแรง อย่างไรก็ดี ในแง่อัตราแลกเปลี่ยนอาจจะกระทบเยอะทั้งในแง่ผู้ส่งออก และนำเข้า หากมีการเคลื่อนไหวในทางเดียว ซึ่งความผันผวนดังกล่าวเชื่อว่าตลาดมีการซึมซับและดูทิศทางของเฟด