การคงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย

economy
บทบรรณาธิการ

คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ในคราวการประชุมครั้งที่ 2/2567 เมื่อวันที่ 10 เมษายนที่ผ่านมา ได้มีมติ 5 ต่อ 2 เสียง ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 2.50 ต่อปี โดย 2 เสียงเห็นควรให้ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายร้อยละ 0.25 ต่อปี โดยกรรมการประเมินว่า อุปสงค์ภายในประเทศยังมีแรงส่งต่อเนื่องและอัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มทยอยเพิ่มขึ้น กรรมการเสียงส่วนใหญ่ยังเห็นว่า อัตราดอกเบี้ยปัจจุบันยังสอดคล้องกับแนวโน้มเศรษฐกิจและเงินเฟ้อและเอื้อต่อการรักษา

เสถียรภาพเศรษฐกิจการเงินในระยะยาว ส่วนกรรมการเสียงข้างน้อยเห็นว่า ควรให้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง 0.25% เพื่อให้สอดคล้องกับศักยภาพเศรษฐกิจที่ขยายตัวต่ำลงและมีส่วนช่วยบรรเทาภาระของลูกหนี้ลงได้บ้าง

ทั้งนี้ เศรษฐกิจไทยในปี 2567 กนง.มีความเห็นว่า มีแนวโน้มขยายตัวในอัตราที่สูงขึ้นจากปี 2566 ซึ่งเป็นผลมาจากภาคการท่องเที่ยวที่ปรับตัวดีขึ้น ทั้งจากจำนวนนักท่องเที่ยวและค่าใช้จ่ายต่อคน การบริโภคของภาคเอกชนยังคงขยายตัวอย่างต่อเนื่อง แม้จะชะลอตัวลงจากปี 2566 ที่ขยายตัวสูง โดยการใช้จ่ายของภาครัฐบาลก็จะกลับมาเพิ่มขึ้นจากการเร่งเบิกจ่าย (งบประมาณ) ในช่วงที่เหลือของปี

ด้านอัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มทรงตัวอยู่ในระดับต่ำจากปัจจัยด้านอุปทานและมาตรการช่วยเหลือด้านพลังงานเพื่อลดค่าครองชีพของภาครัฐ แต่จะทยอยเพิ่มขึ้นเข้าสู่กรอบเป้าหมายภายในปลายปีนี้ ทั้งนี้ หากหักผลจากมาตรการช่วยเหลือด้านราคาพลังงานของรัฐบาลออกไป อัตราเงินเฟ้อทั่วไปตลอดช่วงที่ผ่านมายังคงเป็นบวกอยู่ ส่วนภาคการส่งออกมีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไปในช่วงครึ่งปีหลัง

สินเชื่อภาคธุรกิจและครัวเรือนขยายตัวชะลอตัวลงจากการชำระหนี้คืน ปริมาณสินเชื่อปล่อยใหม่ในภาพรวมยังคงขยายตัว แต่ กนง.เห็นว่า ธุรกิจขนาดเล็กบางกลุ่มและภาคครัวเรือนที่มีรายได้น้อยกำลังเผชิญกับภาวะการเงินที่ตึงตัวขึ้น จากปัญหาการเข้าถึงสินเชื่อต่อเนื่องและความสามารถในการชำระหนี้ลดลง โดยการปรับลดอัตราดอกเบี้ยแม้จะช่วยลดภาระหนี้ในระยะสั้น แต่จะส่งผลให้ยอดคงค้างหนี้เพิ่มขึ้นในระยะยาว และยอดคงค้างหนี้ที่อยู่ในระดับสูงจะส่งผลลบต่อเศรษฐกิจระยะยาว

จริงอยู่ที่ว่า คณะกรรมการนโยบายการเงินมี “อิสระ” ในการพิจารณาออกมติในเรื่องอัตราดอกเบี้ย แต่มติของคณะกรรมการนโยบายการเงิน ที่ผ่านมา 2 ครั้งก็ไม่ได้เป็นมติเอกฉันท์ มาครั้งนี้กรรมการเสียงข้างน้อยถึงกับระบุว่า การลดอัตราดอกเบี้ยลงจะมีส่วนช่วยบรรเทาภาระของลูกหนี้ลงได้บ้างด้วย ดังนั้น คณะกรรมการ กนง.เสียงข้างมาก ควรที่จะต้องรับฟังความเห็นจากภาครัฐบาลและสถาบันภาคเอกชนบ้าง ไม่ว่าจะเป็น สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หรือสมาพันธ์ SMEs ไทย ซึ่งล้วนแล้วต้องการให้มีการลดดอกเบี้ยในภาวะที่เศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่และต้นทุนต่าง ๆ ยังอยู่ในระดับสูง เพื่อมีส่วนช่วยบรรเทาภาระของผู้ประกอบการและประชาชน