คลังเคลียร์ปมให้สิทธิ “ร้านสะดวกซื้อ” เข้าเกณฑ์เงินดิจิทัล 10,000 บาท

จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์
จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์

จุลพันธ์ รมช.คลัง แจงสาเหตุให้สิทธิร้านสะดวกซื้อเข้าร่วมโครงการแจกเงินดิจิทัลวอลเลต 10,000 บาท ได้ ชี้รัฐเลือกปฎิบัติไม่ได้ แต่ห้ามร้านขึ้นเงินสดทันที หลังรับดิจิทัลวอลเลตต้องใช้ต่อรอบ 2 คาด 3 ปีใช้หนี้ ธ.ก.ส. ครบ 1.7 แสนล้าน

วันที่ 18 เมษายน 2567 นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยถึงโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet ว่ามั่นใจการแจกเงิน 10,000 บาท จะสำเร็จอย่างแน่นอน ภายในไตรมาส 4/2567 โดยเฉพาะประเด็นที่สังคมเป็นห่วงว่าจะเป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับทุนใหญ่ เพราะร้านค้าสะดวกซื้อสามารถเข้าร่วมโครงการได้

ในส่วนของกระทรวงการคลังก็มีข้อสังเกตเรื่องนี้ แต่ข้อเสนอของกระทรวงพาณิชย์ก็มีเหตุผล ด้วยความเป็นรัฐคงไม่สามารถเลือกปฏิบัติได้ ซึ่งปัจจุบันในต่างจังหวัดก็มีร้านค้ารายย่อยที่เป็นร้านสะดวกซื้ออยู่จำนวนมากเช่นกัน และร้านค้าเหล่านี้ก็รวมสินค้าอุปโภค บริโภค ทำให้เกิดการผลิต การจ้างงาน

“ขณะนี้อยู่ระหว่างการตีความ ถ้าสรุปแล้วเห็นว่าเหมาะสม มีความจำเป็นเราก็ส่งให้กฤษฎีกาตีความ ไม่มีปัญหาอะไร ซึ่งตนมีความมั่นใจสูงมากว่าโครงการเงินดิจิทัลนี้จะสำเร็จตามที่ตั้งเป้าหมายไว้” รมช.คลังกล่าว

ส่วนกรณีกระแสสังคมมีการตั้งคำถามถึงการให้สิทธิร้านสะดวกซื้อ ซึ่งถือเป็นกลุ่มทุนใหญ่เข้าร่วมโครงการได้นั้น กระทรวงการคลังและหลายหน่วยงานก็มีการตั้งข้อสังเกตในเรื่องนี้ ว่าจะเป็นการเอื้อทุนใหญ่หรือไม่ ซึ่งกระทรวงพาณิชย์ก็มีเหตุผลที่ต้องรับฟัง ว่ารัฐบาลไม่ควรที่จะเลือกปฏิบัติได้ อย่างไรก็ตาม ในเรื่องนี้เป็นอำนาจของกระทรวงพาณิชย์ที่จะพิจารณาอีกครั้ง

อย่างไรก็ดี ร้านค้าสะดวกซื้อที่เข้าร่วมโครงการ เมื่อรับชำระดิจิทัลวอลเลต จากประชาชนที่ได้รับสิทธิแล้วในรอบแรก จะยังไม่สามารถไปขึ้นเป็นเงินสดได้ทันที และจะต้องนำเงินดังกล่าวไปซื้อสินค้าตรงจากผู้ผลิต เพื่อให้เกิดการหมุนเวียนในการนำสินค้ากลับมาขาย โดยจะขึ้นเงินได้ก็ต่อเมื่อมีการใช้จ่ายเงินดิจิทัลวอลเลตรอบที่ 2 เป็นต้นไปแล้ว โดยกำหนดให้ใช้จ่ายภายใน 6 เดือน และคาดว่าเงินจะหมุนเวียนอยู่ในระบบ 1 ปี

นายจุลพันธ์กล่าวต่อว่า ส่วนกรณีที่มีการใช้เงินจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) 170,000 ล้านบาท โดยมีเสียงคัดค้านว่าอาจผิดกฎหมาย ไม่สามารถทำได้นั้น คนที่ออกมาพูดเรื่องนี้ไม่มีอำนาจหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง คนพูดไม่มีความรู้เรื่องงบประมาณ ในเรื่องนี้เป็นนโยบายกึ่งการคลัง ไม่ใช่การกู้เงิน แต่ใช้กลไกธนาคารเฉพาะกิจของรัฐในการสนับสนุนนโยบายแก้ไขปัญหาให้ประชาชน และไปตั้งงบฯชดเชยในภายหลัง เช่น ตั้งงบฯคืน ธ.ก.ส. ปีละ 60,000-80,000 ล้านบาท ใช้เวลาแค่ 3 ปี ก็ชำระหนี้ส่วนนี้ได้ครบ

“ทำไมจึงไม่เชื่อส่วนราชการที่ได้พิจารณากฎระเบียบเงื่อนไขแล้ว เห็นว่าสามารถดำเนินการได้ตามกฎหมายทุกประการ เป็นไปตามกรอบอำนาจหน้าที่ และไม่มีการขยายเพดาน มาตรา 28 ของ พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 ซึ่งปัจจุบันอยู่ที่ 32% จะยังคงเป็นไปตามกรอบ อย่างไรก็ดี ในเรื่องนี้ กระทรวงการคลังกำลังดูอยู่ว่าจะมีการส่งคณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาข้อกฎหมายอีกชั้นว่าสามารถทำได้ ซึ่งกระบวนการทั้งหมดคาดว่าจะเข้าคณะรัฐมนตรี (ครม.) และจบภายในเดือน เม.ย.” รมช.คลังกล่าว

นายจุลพันธ์กล่าวต่อว่า ดิจิทัลวอลเลตจะเป็นอะไรที่ใหม่ ครั้งแรกของโลกในการทำนโยบายการคลัง ซึ่งเรื่องนี้รัฐบาลทำให้เห็นแล้วว่า คิดใหญ่ ทำยาก แต่ต้องทำ เพราะคนคิดเกมคือผู้ชนะ ประเทศไทยจำเป็นต้องมีนวัตกรรมการเงินใหม่ ๆ ซึ่งเชื่อว่าจะทำให้เกิดการเติบโตทางเศรษฐกิจ กระตุ้นการใช้จ่าย และเป็นเครื่องมือของรัฐในอนาคต สำหรับการกำหนดนโยบายที่ตรงกลุ่มเป้าหมาย

ซึ่งที่ผ่านมา เศรษฐกิจไทยอยู่ภาวะซึม ตามทฤษฎีกบต้ม จำเป็นต้องมีมาตรการเข้ามากระชาก เพื่อให้เศรษฐกิจโงหัวขึ้นมาให้ได้ ร่วมกับมาตรการอื่น ๆ เช่น มาตรการอสังหาฯ การแก้หนี้ ดึงดูดการลงทุน กระตุ้นการท่องเที่ยว ซึ่งต้องดูในองค์รวม ดูเป็นเฉพาะมาตรการไม่ได้ เพื่อให้เศรษฐกิจขยายตัวเพิ่มขึ้น