ดอลลาร์สหรัฐย่อตัวเล็กน้อย หลังจากพุ่งขึ้นแตะระดับสูงสุดในปีนี้

dollar

ดอลลาร์สหรัฐย่อตัวเล็กน้อย หลังจากพุ่งขึ้นแตะระดับสูงสุดในปีนี้

วันที่ 18 เมษายน 2567 ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพรายงานว่า สภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันพฤหัสบดีที่ 18 เมษายน 2567 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (18/4) ที่ระดับ 36.77/78 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ทรงตัวจากระดับปิดตลาดเมื่อวันพุธ (17/4) ที่ระดับ 36.79/80 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

โดยค่าเงินดอลลาร์สหรัฐปรับตัวลงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับเงินสกุลหลัก โดยดัชนีดอลลาร์ปรับฐานลงสู่ระดับ 105.95 หลังจากที่พุ่งขึ้นแตะระดับสูงสุดในปีนี้ที่ระดับ 105.51 หลังจากที่ตลาดรับข่าวการแสดงความเห็นของนายเจอโรม พาวเวลล์ ประธานธนาคารกลางเฟดซึ่งส่งสัญญาณว่า เฟดอาจจะใช้เวลานานกว่าที่คาดการณ์ไว้ในการเริ่มพิจารณาปรับลดอัตราดอกเบี้ย หลังจากตัวเลขเงินเฟ้อของสหรัฐออกมาสูงกว่าการคาดการณ์ อีกทั้งดอลลาร์ยังอ่อนค่าลงตามทิศทางอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐ โดยอัตราผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 10 ปีปรับตัวลงสู่ระดับ 4.59%

สำหรับรายงานภาวะเศรษฐกิจ Beige Book เมื่อคืนนี้ (17/4) ระบุว่า กิจกรรมทางเศรษฐกิจของสหรัฐมีการขยายตัวเล็กน้อยในช่วงปลายเดือน ก.พ.จนถึงต้นเดือน เม.ย. และบริษัทเอกชนส่วนใหญ่ของสหรัฐมีความกังวลว่า การชะลอตัวของเงินเฟ้ออาจจะช้ากว่าที่คาดการณ์ ซึ่งจะเป็นปัจจัยที่ขัดขวางการปรับลดอัตราดอกเบี้ยของเฟด นอกจากนี้ เฟดสาขาแอตแลนตาเปิดเผยแบบจำลองคาดการณ์ GDPNow ล่าสุดซึ่งแสดงให้เห็นว่า เศรษฐกิจสหรัฐขยายตัว 2.9% ในไตรมาส 1/2567

ทั้งนี้ เฟดสาขาแอตแลนตาจะรายงานตัวเลขคาดกาณ์ GDPNow ครั้งต่อไปในวันพุธหน้า (24/4) นอกจากนี้ นักลงทุนจับตาการแสดงความเห็นของนางมิเชล โบว์แมน สมาชิกคณะผู้ว่าการเฟด และนางลอเรตตา เมสเตอร์ ประธานเฟดสาขาคลีฟแลนด์ ในวันนี้ (18/4) รวมทั้งรอดูข้อมูลเศรษฐกิจของสหรัฐในสัปดาห์นี้ ซึ่งได้แก่จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์, ยอดขายบ้านมือสองเดือน มี.ค. และดัชนีชี้นำเศรษฐกิจเดือน มี.ค.จาก Conference Board

สำหรับปัจจัยภายในประเทศ ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวตามทิศทางตลาดโลกและสกุลเงินในภูมิภาค ภาพรวมค่าเงินบาทยังอยู่ในทิศทางอ่อนค่า หลังวานนี้ (17/4) พุ่งอ่อนค่าแตะระดับอ่อนค่าสุดในรอบ 6 เดือนใกล้ระดับ 36.90 บาท/ดอลลาร์ โดยกระแสเงินทุนต่างประเทศยังคงไหลออกต่อเนื่อง โดยเมื่อวานนี้ต่างชาติขายหุ้นและพันธบัตรไทยรวมกันราว 10,000 ล้านบาท

นอกจากนี้ สถานการณ์ตึงเครียดด้านภูมิรัฐศาสตร์ โดยเฉพาะในตะวันออกกลาง หนุนแรงซื้อกลับสกุลเงินดอลลาร์ และกดดันค่าเงินบาทรวมทั้งตลาดหุ้นไทย โดยในระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 36.71-36.83 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 36.77/78 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับความเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโร เปิดตลาดเช้าวันนี้ (18/4) ที่ระดับ 1.0669/70 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร แข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันพุธ (17/4) ที่ระดับ 1.0639/42 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ค่าเงินยูโรได้แรงหนุน หลังตัวเลขเงินเฟ้อยูโรในเดือน มี.ค. ปรับตัวสูงขึ้น โดย HICP Final เมื่อเทียบรายเดือนปรับตัวเพิ่มขึ้น 0.8% จากระดับ 0.6% ในเดือน ก.พ. ส่วนเมื่อเทียบรายปี ทรงตัวที่ระดับ 2.4%

อย่างไรก็ตาม ค่าเงินยูโรอ่อนค่ามาค่อนข้างมาก หลัง ECB มีมติคงอัตราดอกเบี้ยในการประชุมเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา นอกจากนี้ ECB ยังส่งสัญญาณปรับลดอัตราดอกเบี้ย หากการคาดการณ์เงินเฟ้อบ่งชี้ว่าเงินเฟ้อกำลังชะลอตัวสู่เป้าหมาย 2% โดยในระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.0662-1.0691 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.0673/77 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยนเปิดตลาดเช้าวันนี้ (18/4) ที่ระดับ 154.24/26 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันพุธ (17/4) ที่ 154.52/54 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ตามการอ่อนค่าของค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ แต่อย่างไรก็ตาม ค่าเงินเยนยังคงอยู่ในทิศทางอ่อนค่า

ทั้งนี้ นายอาซาฮี โนกุชิ สมาชิกคณะกรรมการกำหนดนโยบายของธนาคารกลางญี่ปุ่น (บีโอเจ) กล่าวในวันนี้ (18/4) ว่า บีโอเจมีแนวโน้มที่จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในอนาคตในอัตราที่ช้ากว่าธนาคารกลางของประเทศอื่น ๆ โดยนักลงทุนบางรายคาดการณ์ว่า บีโอเจอาจจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีกครั้งในเดือน ก.ค. โดยระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 153.95-154.44 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 154.38/40 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ข้อมูลเศรษฐกิจที่สำคัญในสัปดาห์นี้ ได้แก่ จำนวนผู้ยื่นขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ของสหรัฐ (18/4), รายงานดัชนีการผลิตจากธนาคารกลางรัฐฟิลาเดลเฟีย (18/4), รายงานยอดขายบ้านมือสองประจำเดือน มี.ค.ของสหรัฐ (18/4), ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานแห่งชาติประจำเดือนเมษายนของญี่ปุ่น (19/4) และดัชนียอดขายปลีกของสหราชอาณาจักรประจำเดือน ก.พ.(19/4)

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ -8.75/-8.50 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยงภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ -4.40/-2.10 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ