ส่องกำไรแบงก์ 7 แห่ง ไตรมาสแรกปี’67 โกย 3.13 หมื่นล้าน เพิ่ม 14.61%

กำไร เงินบาท

ธนาคารพาณิชย์ 7 แห่ง ประกาศผลประกอบการไตรมาสแรกของปี 2567 มีกำไรสุทธิรวม 3.13 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 14.61% เทียบไตรมาส 4/2566 “SCB-BBL-ttb” โกยกำไรสูงสุด ด้านตั้งสำรอง อยู่ที่ 2.58 หมื่นล้านบาท ลดลง 12.18% QOQ แต่เพิ่มขึ้น 2.67% เทียบ YOY ส่วนหนี้เอ็นพีแอลรวม 2.64 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.37%

วันที่ 19 เมษายน 2567 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ธนาคารพาณิชย์ 7 แห่ง ได้รายงานผลประกอบการงวดไตรมาส 1/2567 สิ้นสุดวันที่ 31 มีนาคม 2567 ต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ได้แก่ ธนาคารกรุงเทพ (BBL) บริษัท เอสซีบี เอกซ์ (SCB) ธนาคารทหารไทยธนชาต (ttb) ธนาคารทิสโก้ (TISCO) ธนาคารเกียรตินาคินภัทร (KKP) ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย (CIMBT) และธนาคารแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ (LH Bank) พบว่า มีกำไรสุทธิรวมกันในไตรมาส 1/2567 ที่ 31,374 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 14.61% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน (QOQ) และเพิ่มขึ้น 2.35% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน (YOY)

สำหรับการตั้งสำรองหนี้สงสัยจะสูญรวมอยู่ที่ 25,839 ล้านบาท ลดลง 12.18% เมื่อเทียบ QOQ แต่เพิ่มขึ้น 2.67% เมื่อเทียบ YOY ส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) อยู่ที่ 264,837 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.37% QOQ และลดลง 0.50% เทียบ YOY

กรุงเทพ โกยกำไร 1.05 หมื่นล้าน ค่าฟีโต-ลุยสำรองเพิ่ม

ธนาคารกรุงเทพและบริษัทย่อยรายงานกำไรสุทธิสำหรับไตรมาส 1 ปี 2567 จำนวน 10,524 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 18.7% จากไตรมาส 4 ปีก่อน โดยรายได้ดอกเบี้ยสุทธิลดลงจากค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยเงินรับฝากเพิ่มขึ้นตามการทยอยปรับขึ้นของอัตราดอกเบี้ยเงินรับฝากเมื่อครบกำหนด ส่งผลให้ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิอยู่ที่ 3.06% ขณะที่รายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นจากรายได้จากการลงทุน ประกอบกับรายได้ค่าธรรมเนียมและบริการสุทธิจากบริการประกันผ่านธนาคารและกองทุนรวมเติบโตดีจากไตรมาสก่อน

ทั้งนี้ ธนาคารพิจารณาตั้งผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นจำนวน 8,582 ล้านบาทเพิ่มขึ้น 16.78% จากไตรมาสก่อน ภายใต้หลักความระมัดระวังอย่างต่อเนื่อง เพื่อรองรับความไม่แน่นอนในระยะข้างหน้า ขณะที่หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) อยู่ที่ 93,949 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 9.30% จากไตรมาสที่ 4/2566 อย่างไรก็ดี ธนาคารกรุงเทพยังคงดำเนินธุรกิจด้วยความระมัดระวังและรอบคอบ พร้อมทั้งรักษาเสถียรภาพฐานะการเงิน สภาพคล่อง และเงินกองทุนให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม เพื่อการเติบโตอย่างมั่นคงและยั่งยืน

SCB โชว์กำไรกว่า 1.12 หมื่นล้านบาท ตั้งสำรองเพิ่มขึ้น 2.8%

นายอาทิตย์ นันทวิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอสซีบี เอกซ์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCBX กล่าวว่า กำไรสุทธิในไตรมาส 1 ของปี 2567 อยู่ที่ 11,281 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2.6% จากช่วงเดียวกันปีก่อน (YOY) และเพิ่มขึ้น 2.6% เมื่อเทียบจากไตรมาสก่อนหน้า (QOQ)

โดยรายได้ดอกเบี้ยสุทธิมีจำนวน 31,761 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 9.7% YOY เป็นผลจากการขยายตัวของส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิ และรายได้จากการลงทุนที่เพิ่มขึ้น แต่ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิ ลดลง 4.9% QOQ ในขณะที่สินเชื่อโดยรวมมีจำนวน 2,448,681 ล้านบาท ขยายตัว 0.9% QOQ และ 2.1% YOY จากการขยายตัวอย่างต่อเนื่องในธุรกิจสินเชื่อธุรกิจและสินเชื่อที่อยู่อาศัยของธนาคารไทยพาณิชย์ และการเติบโตของธุรกิจสินเชื่อจำนำทะเบียนรถและธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคลบนแพลตฟอร์มดิจิทัลของบริษัทลูกอื่น ๆ

รายได้ค่าธรรมเนียมและอื่น ๆ มีจำนวน 10,178 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1.6% QOQ แต่ลดลง 7.6% YOY เป็นผลจากการลดลงของรายได้จากการขายผลิตภัณฑ์ประกันผ่านธนาคาร และรายได้ที่เกี่ยวกับการให้สินเชื่อ

ส่วนค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน จำนวน 18,100 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 8% YOY โดยมีอัตราส่วนค่าใช้จ่ายต่อรายได้อยู่ที่ 42.1% เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากปีก่อนหน้าที่ระดับ 41% สะท้อนถึงการควบคุมค่าใช้จ่ายอย่างรัดกุม และการเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินการอย่างต่อเนื่อง

บริษัทได้ตั้งเงินสำรองจำนวน 10,201 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2.8% จากปีก่อน เพื่อรองรับผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับกลุ่มลูกค้าบุคคลที่มีความเปราะบาง อันเนื่องมาจากสภาวะหนี้ครัวเรือนที่ยังคงระดับสูง โดยอัตราส่วนค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญต่อสินเชื่อด้อยคุณภาพยังคงอยู่ในระดับสูงที่ 160.6% คุณภาพของสินเชื่อโดยรวมอยู่ในระดับที่ควบคุมได้ดี โดยอัตราส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพ ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2567 อยู่ที่ 3.5% ปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจาก 3.3% ในปีก่อน

เงินกองทุนตามกฎหมายของบริษัทอยู่ในระดับแข็งแกร่งที่ 18.6% และมีอัตราส่วนผลตอบแทนต่อส่วนของผู้ถือหุ้น (ROE) ที่ระดับ 9.3% โดยที่ประชุมผู้ถือหุ้นของบริษัท ได้มีมติอนุมัติการจ่ายเงินปันผลจากผลการดำเนินงานปี 2566 ในอัตราหุ้นละ 10.34 บาท คิดเป็น 80% ของกำไรสุทธิปี 2566 ตามงบการเงินรวม ซึ่งสูงกว่าในปีก่อนอย่างมีนัยสำคัญ สะท้อนถึงสถานะการเงินที่แข็งแกร่งและความมุ่งมั่นในการเพิ่มมูลค่าผู้ถือหุ้นอย่างต่อเนื่อง

ทีทีบีชี้ คุมหนี้เสียอยู่ หนุนกำไรโตพุ่ง 5,334 ล้านบาท

นายปิติ ตัณฑเกษม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ทีเอ็มบีธนชาต เปิดเผยว่า ผลการดำเนินงานในไตรมาสแรกของปีถือว่าเป็นไปตามเป้าหมาย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการปรับโครงสร้างพอร์ตสินเชื่อและการบริหารจัดการต้นทุนทางการเงินเพื่อหนุนรายได้ การมีประสิทธิภาพด้านต้นทุน และการดูแลคุณภาพสินทรัพย์

โดยสินเชื่อด้อยคุณภาพลดลงมาอยู่ที่ 39,759 ล้านบาท ลดลง 3.0% จากสิ้นปีที่แล้ว หรือคิดเป็นอัตราส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพต่อสินเชื่อรวม (NPL Ratio) ที่ระดับ 2.56% เทียบกับ 2.62% ณ สิ้นปีที่แล้ว นอกจากนี้ ในด้านพอร์ตการลงทุน ธนาคารเน้นการลงทุนในตราสารภาครัฐเป็นหลัก ไม่มีนโยบายแสวงหากำไรจากการลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูง จึงทำให้ไม่ได้รับผลกระทบจากกรณีผิดนัดชำระหนี้ในตลาดตราสารหนี้ในช่วงที่ผ่านมา

จากภาพรวมด้านคุณภาพสินทรัพย์ข้างต้น ส่งผลให้การตั้งสำรอง ตามการดำเนินงานปกติยังคงเป็นไปตามแผน และเพื่อเพิ่มความแข็งแกร่งด้านการเงิน ธนาคารได้เสริมกันชนรองรับแนวโน้มเศรษฐกิจที่ยังมีความไม่แน่นอน โดยธนาคารได้ตั้งสำรองเพิ่มเติมจากระดับปกติ รวมตั้งสำรองทั้งสิ้นเป็นจำนวน 5,117 ล้านบาท ซึ่งหลังจากหักสำรองและภาษี ธนาคารรายงานกำไรสุทธิในไตรมาส 1 ปี 2567 ที่ 5,334 ล้านบาท ปรับตัวดีขึ้นเมื่อเทียบกับ 4,295 ล้านบาทในไตรมาส 1 ปี 2566

ท้ายสุดด้านฐานะเงินกองทุน ยังคงอยู่ในระดับสูงและมีเสถียรภาพ โดยอัตราส่วน CAR และ Tier 1 ณ สิ้นไตรมาส 1 อยู่ที่ 20.8% และ 17.0% โดยระดับดังกล่าวถือว่าสูงเป็นลำดับต้น ๆ ของอุตสาหกรรม และสูงกว่าเกณฑ์ขั้นต่ำของธนาคารกลุ่ม D-SIBs ที่ ธปท.กำหนดไว้ที่ 12.0% และ 9.5% ตามลำดับ

“นอกเหนือจากการเติบโตอย่างมีคุณภาพ ทีทีบียังคงเน้นย้ำการดูแลและช่วยเหลือลูกค้าอย่างต่อเนื่องตามแนวทางการให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรม (Responsible Lending) และการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนของภาครัฐ ทั้งนี้ ภายใต้พันธกิจหลัก Financial Well-being ซึ่งเราได้ดำเนินการมาโดยตลอด การสนับสนุนของเราไม่ได้จำกัดเพียงแค่ด้านสินเชื่อเท่านั้น

แต่ยังครอบคลุมถึงปัจจัยพื้นฐานทางการเงินที่สำคัญด้านอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นด้านการออม การลงทุน และการมีประกันที่เพียงพอและเหมาะสมกับลูกค้าในทุก ๆ ช่วงชีวิต โดยเรามุ่งมั่นที่จะเป็นธนาคารที่ LEAD the CHANGE หรือเป็นผู้นำในการสร้างการเปลี่ยนแปลงอย่างแท้จริง เพื่อให้คนไทยมีชีวิตทางการเงินที่ดีขึ้นอย่างยั่งยืน”

ทิสโก้ กำไรลด 3.3% เหตุรายได้ค่าฟีธุรกิจหลักหดตัว-ต้นทุนพุ่ง

นายศักดิ์ชัย พีชะพัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มทิสโก้ เปิดเผยว่า ในไตรมาสแรกของปี 2567 กลุ่มทิโก้มีกำไรสุทธิ 1,733 ล้านบาท ลดลง 3.3% YOY สาเหตุจากรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยในกลุ่มธุรกิจหลักชะลอตัวลง ทั้งรายได้ค่าธรรมเนียมธุรกิจหลักทรัพย์ที่ถูกกดดันจากภาวะตลาดทุนที่ยังไม่ฟื้น และรายได้ค่าธรรมเนียมธุรกิจนายหน้าประกันภัยที่อ่อนตัวลงตามปริมาณการปล่อยสินเชื่อเช่าซื้อรถใหม่ที่ชะลอตัวตามยอดขายรถยนต์ในประเทศ อีกทั้งต้นทุนทางการเงินยังเร่งตัวขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยปรับลดลง และคาดว่าจะถูกกดดันต่อตลอดทั้งปี

ในส่วนของสินเชื่อรวมขยายตัวเล็กน้อยที่ 0.2% จากปีก่อนหน้า ส่วนใหญ่มาจากการขยายตัวของสินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่ สินเชื่อ SMEs และสินเชื่อรายย่อยในกลุ่มให้ผลตอบแทนสูง (High Yield) โดยเฉพาะสินเชื่อจำนำทะเบียน “สมหวัง เงินสั่งได้” โดยในช่วงที่ผ่านมา บริษัทเพิ่มความรอบคอบและระมัดระวังในการอนุมัติสินเชื่อ รวมถึงติดตามและดูแลลูกหนี้อย่างใกล้ชิด ท่ามกลางปัญหาหนี้ครัวเรือนที่ยังเปราะบาง และคุณภาพลูกหนี้ที่อ่อนตัวลง

บริษัทเพิ่มระดับการตั้งสำรองผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น (Expected Credit Loss-ECL) มาอยู่ที่ 0.5% ของสินเชื่อเฉลี่ย เพื่อรองรับความเสี่ยงของลูกหนี้ที่เพิ่มสูงขึ้น ขณะที่ยังคงรักษาอัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (BIS Ratio) อยู่ในระดับแข็งแกร่งที่ 20.9%

“ในปีนี้กลุ่มทิสโก้คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้ที่ระดับ 3% ลดลงจากประมาณการในครั้งก่อนที่คาดว่าจะอยู่ที่ 3.5% โดยเป็นการทยอยฟื้นตัวแบบ “ต้นร้าย-ปลายดี” ปัจจัยหนุนจากภาคการท่องเที่ยวที่เติบโตได้อย่างต่อเนื่อง การเร่งเบิกจ่ายงบประมาณที่คาดว่าจะทำได้ในช่วงหลังเทศกาลสงกรานต์เป็นต้นไป รวมถึงภาคการส่งออกสินค้าที่จะทยอยฟื้นตัวขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี

อย่างไรก็ดี แม้เศรษฐกิจไทยจะมีสัญญาณที่ดี แต่ยังต้องติดตามความเสี่ยงต่าง ๆ อย่างใกล้ชิดทั้งจากปัจจัยภายในและภายนอกประเทศ ขณะที่คาดการณ์อัตราดอกเบี้ยนโยบาย มีแนวโน้มปรับลดลงในครึ่งหลังของปี และจะช่วยลดภาระต้นทุนดอกเบี้ยได้ในที่สุด”

KKP ประกาศกำไร 1,506 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 124.9% เหตุตั้งสำรองลด

ธนาคารเกียรตินาคินภัทร (KKP) ประกาศผลการดำเนินงานสำหรับใตรมาส 1/2567 ธนาคารเกียรตินาคินภัทรและบริษัทย่อยมีกำไรสุทธิจำนวน 1,506 ล้านบาท ปรับเพิ่มขึ้น 124.9% หากเทียบกับไตรมาส 4/2566 โดยหลักจากการปรับลดลงอย่างต่อเนื่องของผลขาดทุนด้านเครดิตที่ดาดว่าจะเกิดขึ้น หากเทียบกับไตรมาส 1/2566 กำไรสุทธิปรับลดลง 27.8% หากพิจารณากำไรเบ็ดเสร็จรวมสำหรับไตรมาส 1/2567 เท่ากับ 1,676 ล้านบาท

ขณะเดียวกัน ธนาคารคงความรอบคอบและมีการสำรองผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นอย่างระมัดระวัง และจากมาตรการต่าง ๆ ที่ธนาคารไห้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องเพื่อเร่งบริหารจัดการคุณภาพสินทรัพย์ ส่งผลให้ธนาคารเห็นสัญญาณที่ดีขึ้น โดยผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นทยอยปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยสำหรับไตรมาส 1/2567 ธนาคารมีการสำรองผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นเป็นจำนวน 609 ล้านบาท ลดลง 44.5% หากเทียบกับไตรมาส 1/2566

นอกจากนี้แล้วในไตรมาส 1/2567 ภายใต้หลักการบริหารคุณภาพสินเชื่อเชิงรุก ธนาคารได้มีการพิจารณาจัดชั้นเชิงคุณภาพสินเชื่อขนาดใหญ่รายหนึ่ง ซึ่งธนาคารได้มีการสำรองผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นไว้ครบถ้วนแล้วในไตรมาส 4/2566 ส่งผลให้อัตราส่วนสินเชื่อที่มีการด้อยค่าด้านเครดิตต่อสินเชื่อรวม ณ สิ้นไตรมาส 1/2567 อยู่ที่ 3.8% ปรับเพิ่มขึ้นจาก 3.2% ณ สิ้นปี 2566 และจากการที่ธนาคารได้มีการพิจารณาจัดชั้นเชิงคุณภาพสินเชื่อขนาดใหญ่รายดังกล่าว ในขณะที่คุณภาพสินเชื่อประเภทอื่น ๆ โดยรวมแล้วยังบริหารได้ในระดับที่ดี สำหรับอัตราส่วนสำรองต่อสินเชื่อที่มีการด้อยค่าด้านเครดิต ณ สิ้นไตรมาส 1/2567 อยู่ที่ 137.3%

LH Bank กำไรไตรมาสแรก 370 ล้าน โต 47.2%

ด้านบริษัท แอล เอช ไฟแนนซ์เชียล กรุ๊ป จํากัด (มหาชน) หรือ LHFG ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของธนาคารแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ จํากัด (มหาชน) (LH Bank) รายงานกำไรสุทธิงวดไตรมาส 1/2567 อยู่ที่ 399.2 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 13.5% เมื่อเทียบกับไตรมาส 4/2566 เป็นผลจากการเพิ่มขึ้นของกําไรสุทธิจากเครื่องมือทางการเงินที่วัดมูลค่าด้วยมูลค่ายุติธรรม แต่ลดลง 40.4% เมื่อเทียบกับไตรมาส 1/2566 เป็นผลจากการลดลงของรายได้เงินปันผล

ทั้งนี้เฉพาะกำไรสุทธิของ LH Bank อยู่ที่ 370.3 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 47.2% เมื่อเทียบกับไตรมาส 4/2566 ที่มีกําไรสุทธิจํานวน 323.1 ล้านบาท เป็นผลจากการเพิ่มขึ้นของกําไรสุทธิจากเครื่องมือทางการเงินที่วัดมูลค่าด้วยมูลค่ายุติธรรม แต่ลดลง 29.7% เมื่อเทียบกับไตรมาส 1/2566 ที่มีกําไรสุทธิจํานวน 526.5 ล้านบาท เป็นผลจากการเพิ่มขึ้นของค่าใช้จ่ายในการดําเนินงานอื่นและผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น

โดยมีรายได้ดอกเบี้ยสุทธิจํานวน 1,736.3 ล้านบาท ลดลง 6.5% เมื่อเทียบกับไตรมาส 4/2566 แต่เพิ่มขึ้น 0.3% เมื่อเทียบกับไตรมาส 1/2566 โดยส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิ (Net Interest Margin : NIM) ประจําไตรมาส 1/2567 เท่ากับ 2.33% ลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาส 1/2566 ที่อยู่ที่ 2.49%

ส่วนรายได้ที่ไม่ใช่ดอกเบี้ยสุทธิ มีจํานวน 188.3 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 31.7% เมื่อเทียบกับไตรมาส 4/2566 ส่วนใหญ่เป็นกําไรสุทธิจากครื่องมือทางการเงินที่วัดมูลค่าด้วยมูลค่ายุติธรรม และลดลง 3.3% เมื่อเทียบกับไตรมาส 1/2566 ส่วนใหญ่เป็นการลดลงของกําไรจากเงินลงทุนและรายได้เงินปันผล

ด้านผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นไตรมาส 1/2567 มีจํานวน 526.6 ล้านบาท ลดลง 8.6% เมื่อเทียบกับไตรมาส 4/2566 แต่เพิ่มขึ้น 11.4% เมื่อเทียบกับไตรมาส 1/2566 และอัตราส่วนค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญต่อสินเชื่อด้อยคุณภาพ (Coverage Ratio) ณ ไตรมาส 1/2567 อยู่ที่ 202.11% มีกําไรต่อหุ้นขั้นพื้นฐาน เท่ากับ 0.19 บาทต่อหุ้น ลดลงขึ้น 70.3% เมื่อเทียบกับไตรมาส 4/2566 และลดลง 27.8% เมื่อเทียบกับไตรมาส 1/2566