กรุงไทยพานิช ตั้งเป้าเบี้ย 5,300 ล้าน เปิดแผนแก้เกมพอร์ตหายพันล้าน

ซีอีโอหญิงป้ายแดง-กรุงไทยพานิชประกันภัย กางแผนธุรกิจ ตั้งเป้าเบี้ยรับรวมปีนี้ 5,300 ล้านบาท เปิดแผนแก้เกมพอร์ตงาน “รู้ใจ” หาย 900-1,000 ล้าน ปลื้มขึ้นเป็นกลุ่มบริษัทประกันภัยขนาดใหญ่ เล็งเปิดตัวพันธมิตร พ.ค.นี้

วันที่ 24 เมษายน 2567 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นางสาวสุชาวดี แสงอนงค์ ลูกหม้อของบริษัท กรุงไทยพานิชประกันภัย จำกัด (มหาชน) หรือ KPI ที่ทำงานกับบริษัทนี้มานานกว่า 21 ปี ได้รับโอกาสก้าวขึ้นรับตำแหน่ง “กรรมการผู้จัดการใหญ่” คนใหม่ มีผลไปตั้งแต่เดือนตุลาคม 2566 ถือเป็นซีอีโอหญิงป้ายแดงหมาด ๆ และล่าสุดให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนเกี่ยวกับแผนการดำเนินธุรกิจในปี 2567

“สุชาวดี” กล่าวว่า หลังเข้ารับตำแหน่งตนเองและทีมได้เริ่มต้นด้วยการปรับปรุงภาพลักษณ์ของแบรนด์ให้ดูสดใหม่ (Brand Refreshing) มากยิ่งขึ้น เพื่อจะดูแลลูกค้าได้ทุกเจเนอเรชั่น โดยเฉพาะสามารถจะเข้าถึงและเข้าใจคนรุ่นใหม่ได้มากขึ้น ซึ่งจะมีการสื่อสารออกไปสู่สาธารณชนภายในปีนี้ และจะมีการพัฒนาโมบายแอปพลิเคชั่นมาให้บริการอีกด้วย

ถัดมาจะมุ่งเน้นพัฒนาคุณภาพคนหรือพนักงาน ซึ่งจะเป็นปัจจัยสำคัญสำหรับการสร้างองค์กรให้มีความยั่งยืนในอนาคต เพราะธุรกิจประกันภัยคือการบริการ ดังนั้นถ้ายิ่งมีคนที่มีคุณภาพทั้งการพัฒนาผลิตภัณฑ์และการให้บริการ จะทำให้บริษัทมีความเข้าใจลูกค้าได้มากขึ้น

และต่อมาคือการลงทุนด้านเทคโนโลยีเพื่อมาช่วยในการทำงาน และปรับให้คนเข้ากับเทคโนโลยี ซึ่งเทคโนโลยีสมัยนี้ใช้เงินลงทุนไม่สูงมากแล้ว แต่สามารถตอบโจทย์ลูกค้าได้เร็ว

“การสร้างแบรนด์ การพัฒนาคุณภาพคน และการนำเทคโนโลยีมาช่วยทำงาน เป้าหมายคือสร้างให้องค์กรมั่นคงและแข็งแรงอย่างต่อเนื่อง สะท้อนผ่านการมีรายได้และกำไรที่เติบโตดีต่อเนื่อง ซึ่งทั้งหมดนี้อาจจะต้องใช้เวลาในการวางแผนต่อเนื่อง 3-4 ปี ถึงจะเห็นดอกออกผล”

เป้าเบี้ย 5,300 ล้าน แก้เกมพอร์ตหายพันล้าน

ซีอีโอหญิงกล่าวต่อว่า สำหรับเป้าหมายผลประกอบการปี 2567 ตั้งเป้าเบี้ยประกันภัยรับรวม 5,300 ล้านบาท อาจจะยืนทรงตัวจากปี 2566 เนื่องจากพันธมิตรหลัก (exclusive partner) อย่างรู้ใจโบรกเกอร์ ซึ่งปัจจุบันมีบริษัทประกันวินาศภัยเป็นของตัวเองแล้ว นั่นคือ บริษัท รู้ใจประกันภัย จำกัด (มหาชน) ทำให้พอร์ตเบี้ยประกันรถยนต์ของบริิษัทจะลดลงไปประมาณ 900-1,000 ล้านบาท ทั้งนี้บริษัทได้วางแผนถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นในส่วนนี้ไว้ระดับหนึ่งแล้ว

โดยบริษัทจะมุ่งเน้นผลิตภัณฑ์รายย่อย พยายามโฟกัสงานประกันอะไหล่รถยนต์ (Extended Warranty) ที่เป็นโปรแกรมขยายคุณภาพการรับประกันรถยนต์ ซึ่งจะคุ้มครองค่าใช้จ่ายหลังจากสิ้นสุดการรับประกันจากผู้ผลิตรถยนต์ มีความคุ้มครองให้เลือกตั้งแต่ 1-3 ปี โดยทำมาตั้งแต่ช่วงก่อนโควิดแล้ว ปัจจุบันมีเบี้ยจากส่วนนี้เข้ามาแล้วประมาณ 500 ล้านบาท และช่วงเดือน พ.ค. 2567 จะเปิดตัวพันธมิตร ซึ่งเชื่อว่าผลิตภัณฑ์นี้จะเป็นเรือธง

กรุงไทย ป้อนลูกค้าสัดส่วน 25%

ปัจจุบันบริษัทมีสัดส่วนพอร์ตประกันที่ไม่ใช่รถยนต์ (nonmotor) ประมาณ 60% และที่เหลือ 40% เป็นพอร์ตประกันรถยนต์ (motor) ซึ่งเป็นพอร์ตที่มีความบาลานซ์ที่ดี สำหรับรองรับการบังคับใช้มาตรฐานบัญชีใหม่ TFRS17 ในต้นปี 2568

ตอนนี้มีฐานลูกค้ารวมประมาณ 4-5 ล้านราย มาจากฐานลูกค้าของธนาคารกรุงไทย (KTB) ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นของบริษัท สัดส่วน 25% ส่วนที่เหลือ 75% เป็นลูกค้าทั่วไป

ขึ้นแท่นบริษัทประกันภัยขนาดใหญ่

“สิ้นปีที่แล้วบริษัทสามารถก้าวข้ามมาเป็นกลุ่มบริษัทประกันภัยขนาดใหญ่ได้สำเร็จ ตามนิยามของสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) โดยมีเบี้ยรับรวม 5,300 ล้านบาท เติบโต 7% จากปีก่อนหน้า แต่ในส่วนกำไรปรับตัวลดลงเล็กน้อยจากปี 2565 จากปัญหาหลังสถานการณ์โควิดคลี่คลาย อัตราความเสียหาย (Loss Ratio) เคลมสินไหมของประกันรถยนต์และประกันสุขภาพกลับมาสูง” ซีอีโอหญิงกล่าว

แต่อย่างไรก็ตาม บริษัทกำลังมอนิเตอร์ปรับจูนพอร์ตรถยนต์และหาพันธมิตรด้านสุขภาพ เพื่อให้คัฟเวอร์ และที่สำคัญต้องมีความยั่งยืนในการทำธุรกิจในระยะยาว รวมไปถึงปีนี้จะเป็นปีของการศึกษาเรื่องประกันรถยนต์ไฟฟ้า (ฺBEV) อีกด้วย