ธปท.เสียงแผ่วขยับ GDP เศรษฐกิจเปราะบาง-เงินลงไม่ถึงรากหญ้า

หลังจากพ้นไตรมาสแรกที่เศรษฐกิจไทยขยายตัว 3.3% ซึ่งทำได้ดีกว่าที่คาดการณ์กันไว้ ทำให้หลาย ๆ ฝ่ายมองแนวโน้มว่า เศรษฐกิจไทยปีนี้น่าจะเติบโตได้มากกว่าที่เคยประมาณการไว้ นั่นเป็นเพราะการส่งออกที่กลับมาขยายตัวได้ดีเกินคาดนั่นเอง

เช่นเดียวกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่ก่อนหน้านี้ก็มองว่า เศรษฐกิจไทยไตรมาส 2 น่าจะขยายตัวได้ดีกว่าไตรมาสแรก

แต่จากการแถลงรายงานเศรษฐกิจและการเงิน เดือน มิ.ย. 2560 ล่าสุด ทาง ธปท.ไม่ฟันธงแล้วว่า เศรษฐกิจไตรมาส 2 จะออกมาดีกว่าไตรมาสแรก โดย “ดร.ดอน นาครทรรพ” ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธปท. ออกตัวว่า น่าจะเติบโตเท่า ๆ กับไตรมาสแรก

โดย “ดร.ดอน” ให้ภาพว่า เศรษฐกิจไตรมาส 2 ไม่ได้ต่างไปจากภาพเศรษฐกิจเดือน มิ.ย.มากนัก ซึ่งในส่วนการส่งออกขยายตัวได้ทั่วถึงมากขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาสแรก ด้านการใช้จ่ายภาครัฐและเอกชนยังเป็นแรงขับเคลื่อนที่สำคัญ แม้จะชะลอลงก็ตาม ขณะที่การผลิตภาคอุตสาหกรรมยังทรงตัว การลงทุนยังหดตัว เงินเฟ้อต่ำ และเงินบัญชีเดินสะพัดยังเกินดุลระดับสูง

“เศรษฐกิจไทยในเดือน มิ.ย.ยังขยายตัวต่อเนื่อง การส่งออกขยายตัวดีในหลายหมวดสินค้า เช่นเดียวกับภาคการท่องเที่ยว ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลระดับสูง ซึ่งเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เงินบาทแข็งค่า แต่ก็ยังไม่กระทบขีดความสามารถในการแข่งขันของไทย เพราะเงินเฟ้อเรายังต่ำ” ดร.ดอนกล่าว

เมื่อโฟกัสภาคการส่งออกช่วง 6 เดือนแรก ถือว่าขยายตัวได้ 7.4% ดีกว่าที่ ธปท.มองไว้ และคาดว่าในเดือน ก.ค. ส่งออกก็ยังขยายตัวได้ดี แต่ก็อาจจะเป็นเดือนสุดท้ายที่ส่งออกจะขยายตัวสูงใกล้ ๆ เลข 2 หลัก เนื่องจากฐานปีก่อนสูง ทั้งนี้ หากส่งออกทั้งปีจะขยายตัวได้ 5% ตามที่ ธปท.คาดไว้เดิม ก็หมายถึงครึ่งปีหลังส่งออกต้องโตเฉลี่ย 2.7% หรือมูลค่าเฉลี่ย 18.8 พันล้านดอลลาร์ต่อเดือน

ส่วนการบริโภคภาคเอกชน มีการชะลอตัวลงในไตรมาส 2 เนื่องจากมีการบริโภคค่อนข้างสูงในไตรมาสแรกไปแล้ว และเมื่อมองไปข้างหน้า ปัจจัยสนับสนุนการบริโภคก็ไม่ค่อยเข้มแข็งนัก แม้จะเห็นรายได้เกษตรกรดูดีขึ้น แต่ก็ถูก “ถ่วง” ด้วยเรื่องความเชื่อมั่น

“ช่วงหลัง ๆ เกษตรกรที่รายได้ดีมาจากผลผลิต แต่ราคาไม่ค่อยดีเท่าไหร่ และมีแนวโน้มลดลง ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของเกษตรกร ทำให้เป็นตัวถ่วงการขยายตัวของรายได้เกษตรกร รวมถึงรายได้นอกภาคเกษตรก็มีทิศทางทรง ๆ แถมการส่งออกที่ดีขึ้นก็ยังไม่เห็นการส่งผ่านไปที่รายได้นอกภาคเกษตรมากนัก” ดร.ดอนระบุ

พร้อมกับยอมรับว่า ครึ่งปีแรกที่ผ่านมาความเชื่อมั่น “เศรษฐกิจฐานราก” ไม่ค่อยดีนัก เพราะไม่มีเงินกระจายลงไป สะท้อนให้เห็นว่าเศรษฐกิจภายในประเทศที่ยังขยายตัวได้ไม่ดี แต่แนวโน้มครึ่งปีหลัง หากมีการกระจายเงินลงไปได้มากขึ้นก็น่าจะทำให้ความเชื่อมั่นเศรษฐกิจฐานรากดีขึ้นได้

“ในครึ่งปีหลังจะมีบัตรสวัสดิการออกมา ผมคิดว่าพอเงินกระจายลงไปก็น่าจะดีขึ้น แม้จะเริ่มแจกบัตรเดือน ต.ค. แต่ความรู้สึก ความเชื่อมั่นจะมาก่อน อย่างไรก็ดี การใช้บัตรสวัสดิการก็มีข้อจำกัด อย่างค่ารถไฟ คนทั่วไปอาจจะไม่ได้ใช้ถึง 1,000 บาท” ดร.ดอนกล่าว

ด้านการลงทุนภาคเอกชนก็ยังคงหดตัวเป็นเดือนที่ 6 ซึ่งยังต้องลุ้นว่าทั้งปีจะเป็นบวกได้ 1.8% ตามคาดการณ์ไว้หรือไม่ สาเหตุหดตัวมาจากภาคก่อสร้าง ส่วนการลงทุนในเครื่องจักรและอุปกรณ์โดยเฉพาะที่เกี่ยวเนื่องกับการส่งออกยังมีการขยายตัวต่อเนื่อง

“ตัวถ่วงการลงทุนคือ ภาคก่อสร้าง อาจจะเป็นเพราะปีนี้สภาพภูมิอากาศ อาจจะมีฝนมาเร็ว และมาก อย่างภาครัฐก็จะล่าช้าไปด้วย” ดร.ดอนกล่าว

โดยการใช้จ่ายภาครัฐในไตรมาส 2 (เม.ย.-มิ.ย. 60) มีการหดตัว ต่อเนื่องจากไตรมาสแรกของปีนี้ (ม.ค.-มี.ค. 60) หลังจากที่มีการเร่งใช้จ่ายตั้งแต่ช่วงเดือน ต.ค.-ธ.ค. 59 (ไตรมาสแรกปีงบประมาณ) แต่ถ้านับ 9 เดือน ภาครัฐยังทำได้ดีกว่าปีที่แล้ว ซึ่งก็หวังว่าไตรมาส 3 (ก.ค.-ก.ย. 60) จะทำได้ดีขึ้น จากที่มีข่าวเร่งเบิกจ่ายงบฯกลางปี

ส่วนอัตราเงินเฟ้อทั่วไปยังชะลอต่อเนื่องในเดือน มิ.ย. อยู่ที่ -0.05% จากเดือนก่อนหน้าอยู่ที่ -0.04% และอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานที่ยังต่ำ สะท้อนว่า เศรษฐกิจในประเทศยังไม่เข้มแข็ง และการบริโภคภาคเอกชนยังกระจุกตัวในบางสินค้า

“ธปท.ประมาณการทั้งปีไว้ที่ 3.5% ถ้าเฉลี่ยครึ่งปีแรกออกมาเติบโตได้ 3.3% ครึ่งปีหลังก็ต้องโตเฉลี่ย 3.7% ไม่ควรจะเห็นโตต่ำกว่านี้แล้ว” ดร.ดอนกล่าว

จับสัญญาณจาก ธปท.แล้ว อาการเศรษฐกิจไทยยังไม่ค่อยสดใสนัก โดยเฉพาะปัจจัยภายในประเทศ