แบงก์ขยับดอกเบี้ยฝาก เปิดเกมตุนสภาพคล่อง !

แบงก์พาณิชย์ตุนเงินฝาก เม.ย.ยอดฝากทั้งระบบเพิ่ม 1.2 แสนล้านบาท ขยับออกแคมเปญฝากดอกเบี้ยพิเศษเพื่อล็อกต้นทุนรับทิศทาง “ดอกเบี้ยขาขึ้น” ตุนเงินปล่อยกู้เพิ่ม เคแบงก์-ทีเอ็มบี ประสานเสียงครึ่งปีหลังแข่งดุชิงเงินฝาก

แบงก์ขยับตุนเงินฝาก

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ศูนย์วิจัยกสิกรสรุปภาพรวมเงินฝาก เม.ย. 2561 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 1.21 แสนล้านบาท หรือ 0.99% และเพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันปีก่อน 6.28% มาจากธนาคารขนาดใหญ่ ซึ่งส่วนมากเป็นธุรกรรมในบัญชีเงินฝากกระแสรายวันและออมทรัพย์ (CASA) และบางส่วนจากการออเงินฝากพิเศษเพื่อระดมทุนระยะกลาง (ไม่ถึง 12 เดือน) โดยไตรมาส 2/2561 มีสัญญาณธนาคารพาณิชย์ออกแคมเปญเงินฝากประจำอัตราดอกเบี้ยพิเศษที่ยาวขึ้น เป็น 14 เดือน และ 15 เดือน เพื่อรองรับทิศทางการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในประเทศ นอกจากนี้ สัดส่วนเงินฝากกระแสรายวันและออมทรัพย์มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น สอดคล้องกับแนวทางบริหารจัดการต้นทุนเงินฝากของธนาคาร

ออกโปรดักต์ดอกพิเศษ

รายงานข่าวเพิ่มเติมระบุว่า ข้อมูลอัตราดอกเบี้ยเงินฝากถัวเฉลี่ยถ่วงน้ำหนักของธนาคารพาณิชย์ จากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) พบว่า เงินฝากถัวเฉลี่ยในไตรมาสแรกของธนาคารพาณิชย์โดยรวมเริ่มขยับเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 0.91% จากไตรมาส 4/ 2560 อยู่ที่ 0.90% ส่วนใหญ่มาจากสาขาของธนาคารต่างประเทศ

ขณะเดียวกันธนาคารพาณิชย์ต่าง ๆ เริ่มมีการออกโปรดักต์เงินฝากพิเศษให้เห็นมากขึ้นตั้งแต่ปลาย เม.ย.ที่ผ่านมา เช่น ธนาคารกสิกรไทย เงินฝากประจำพิเศษ 11 เดือน อัตราดอกเบี้ย 1.35% ขั้นต่ำ 2 แสนบาทขึ้นไป, ธนาคารไอซีบีซี ออกเงินฝากประจำ online deposit ให้ดอกเบี้ยตั้งแต่ 1.45-1.80% ตั้งแต่ช่วง พ.ค.เริ่มมีธนาคารออกผลิตภัณฑ์เงินฝากพิเศษมากขึ้น เช่น ธนาคารแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ ออกเงินฝาก 12 เดือน อัตราดอกเบี้ยสูงสุด 1.85% ต้องเปิดบัญชีเริ่มต้น 1 ล้านบาทแต่ไม่เกิน 5 บาท และดอกเบี้ย 1.70% สำหรับผู้ฝากเงินขั้นต่ำ 2 ล้านบาท รวมทั้งเงินฝากไม่ประจำ (ออมทรัพย์ดอกเบี้ยสูง) ที่ 0.75-1.45% ฝากขั้นต่ำ 5,000 บาท ด้านธนาคารธนชาต ออกเงินฝาก ออมทรัพย์ดอกเบี้ยสูง 1.50% ฝากขั้นต่ำ 1 แสนบาทขึ้นไป ธนาคารเกียรตินาคิน ล่าสุด ออกเงินฝากประจำพิเศษ 5 เดือน อัตราดอกเบี้ย 1.65% ขึ้นต่ำ 5 พันบาท สูงสุดไม่เกิน 10 ล้านบาท เป็นต้น

จับตาครึ่งปีหลังแข่งดูดเงินฝาก

นายนริศ สถาผลเดชา เจ้าหน้าที่บริหารศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีเอ็มบี กล่าวว่า เริ่มเห็นสถาบันการเงินทั้งระบบมีการปรับขึ้นดอกเบี้ยเงินฝากบ้างแล้ว โดยการออกโปรดักต์เงินฝากพิเศษ แต่ในไตรมาส 2 นี้ยังไม่ร้อนแรงนัก เชื่อว่าจะเห็นแบงก์แข่งกันออกโปรดักต์เงินฝากดอกเบี้ยสูง ๆ ชัดเจนช่วงครึ่งปีหลัง เนื่องจากเริ่มเห็น LDR (loan to deposit ratio) หรือสัดส่วนสินเชื่อต่อยอดเงินฝากในระบบธนาคารพาณิชย์เพิ่มขึ้น

โดยปัจจุบัน LDR เฉลี่ยของแบงก์เพิ่มขึ้นมาราว 1.2% จากที่ทรงตัวต่อเนื่องในช่วง 7-8 ปีที่ราว 96% ก็เป็นตัวสะท้อนให้เห็นว่าเริ่มเห็นแบงก์ระดมเงินฝากมากขึ้น เพื่อไปใช้ในการดำเนินธุรกิจในระยะข้างหน้า เช่น นำไปเตรียมพร้อมสำหรับการปล่อยสินเชื่อที่เห็นการเติบโตต่อเนื่อง

อีกปัจจัยที่ทำให้ธนาคารพาณิชย์ยังไม่มีการแข่งขันออกโปรดักต์เงินฝากแรง ๆ แม้ความต้องการสินเชื่อเพิ่มขึ้น เนื่องจากยังคงห่วงเรื่องส่วนต่างรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ (NIM) ที่มีแนวโน้มลดลง เนื่องจากความสามารถทำกำไรจากอัตราดอกเบี้ยมีน้อยลง เพราะดอกเบี้ยเงินกู้ไม่ได้ขยับ หากแบงก์เร่งปรับขึ้นดอกเบี้ยเงินฝาก ก็เท่ากับว่าแบงก์ต้องแบกภาระต้นทุนที่สูงขึ้น จึงอาจกดดัน NIM ในระบบยิ่งต่ำลงต่อเนื่อง

“เงินฝากในระบบวันนี้ก็เพิ่มขึ้น ส่วนหนึ่งก็เป็นเพราะแบงก์อยากได้เงินฝากมากขึ้นด้วย เพื่อนำไปรองรับการปล่อยกู้ในโครงการต่าง ๆ ซึ่งหากดูเงินฝากสิ้นไตรมาสแรกโตขึ้นราว 1.5% มาอยู่ที่ 13.15 ล้านล้านบาท จากสิ้นปีก่อนเงินฝากในระบบอยู่ที่ 12.96 ล้านล้านบาท”

เคแบงก์ชี้ต้องบริหาร NIM

นางสาวขัตติยา อินทรวิชัย กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า เคแบงก์ยังไม่ได้มีการออกโปรดักต์เงินฝากพิเศษใหม่ ๆ ดอกเบี้ยเงินฝากของกสิกรไทยยังอยู่ทรง ๆ รวมถึงสัดส่วนสินเชื่อต่อเงินฝากก็ยังอยู่ที่ 95-97% ตามที่ธนาคารตั้งใจไว้ หากมีการแข่งขันแย่งเงินฝาก ธนาคารก็คงต้องมีการปรับดอกเบี้ยขึ้นด้วยแต่จะเห็นครึ่งปีหลัง

“วันนี้อัตราดอกเบี้ยฝากเราไม่ได้เปลี่ยนแปลง แต่การที่เห็นแบงก์อื่นระดมทุนเพราะสัดส่วนสินเชื่อต่อเงินฝากลดลง และตัว LDR ก็ถือเป็นตัวสะท้อนให้เห็นว่าขณะนี้ ตลาดเริ่มแข่งขันด้านดอกเบี้ยฝากตัวหนึ่ง แต่หากตลาดแข่งกันแรงมาก ก็ยังเชื่อว่าเรายังได้เปรียบ เพราะเป็นเมนแบงก์มีบัญชีเงินฝากที่เป็นกระแสรายวันสูงถึง 60-70% เชื่อว่าเรายังมีเงินอยู่จำนวนหนึ่ง ที่จะไม่ไหลไปแบงก์อื่น เพราะการเปิดบัญชีกระแสรายวันหมุนเวียนได้ไม่ได้เพื่อต้องการดอกเบี้ยฝากสูง ๆ ส่วน NIM ต้องบริหารสินเชื่อให้ดี เพื่อไม่ให้ลดลง”

ด้านนายผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย กล่าวว่า ธนาคารยังไม่ได้ปรับขึ้นดอกเบี้ยฝาก เนื่องจากต้องรอสัญญาณการปรับขึ้นชัดเจน และต้องสอดคล้องกับการปล่อยสินเชื่อ เพราะหากสินเชื่อไม่ได้ขยายตัวมาก การระดมเงินฝากก็จะเป็นต้นทุน