บาทอ่อนสุดในรอบ 5 เดือน หลังตลาดกังวลสงครามการค้าสหรัฐกับจีน

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า ภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันจันทร์ที่ 11 มิถุนายน 2561 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันที่ (11/6) ที่ระดับ 32.03/05 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวแข็งค่าขึ้นเล็กน้อยจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (8/6) ที่ 32.05/06 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ในช่วงต้นสัปดาห์ปัจจัยหลักที่นักลงทุนจับตาคือการประชุมสุดยอดระหว่างนายโดนัลด์ ทรัมป์ และนายคิม จอง อึน ที่จะจัดขึ้นที่ประเทศสิงคโปร์ ทั้งนี้ประธานาธิบดีของสหรัฐ และผู้นำเกาหลีเหนือได้ลงนามเอกสารสำคัญร่วมกัน ซึ่งได้ให้คำมั่นว่าจะสร้างความสัมพันธ์ครั้งใหม่ที่จะนำไปสู่สันติภาพ ขณะที่เกาหลีเหนือให้คำมั่นว่าจะผลักดันให้การปลดอาวุธนิวเคลียร์สำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดี นอกจากนี้เอกสารดังกล่าวยังระบุว่า สหรัฐ และเกาหลีเหนือจะสร้างระบอบการปกครองที่มีสันติภาพและเสถียรภาพบนคาบสมุทรเกาหลี และในคืนวันพุธ ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวแข็งค่าขึ้น หลังจากคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน (FOMC) ของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) มีมติเป็นเอกฉันท์ให้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยระยะสั้น 0.25% สู่ระดับ 1.75-2.00% % ในการประชุม ตามที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ โดยการปรับอัตราดอกเบี้ยดังกล่าว นับเป็นการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเป็นครั้งที่ 2 ในปีนี้ หลังจากปรับขึ้นครั้งแรกในเดือนมีนาคม และเป็นการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเป็นครั้งที่ 7 นับตั้งแต่เฟดเริ่มวงจรปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเดือนธันวาคม 2558 นอกจากนี้ เฟดยังได้ส่งสัญญาณปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก 2 ครั้งในช่วงที่เหลือของปีนี้ โดยคาดว่าจะปรับขึ้นในเดือนกันยายน และธันวาคม ส่งผลให้มีการคาดการณ์ว่าเฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยรวม 4 ครั้งในปีนี้ นอกจากนี้เฟดได้ส่งสัญญาณปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 3 ครั้ง ในปีหน้า นอกจากนี้ยังมีแถลงการณ์จากนายเจอโรม เอช พาวเวลล์ ประธานเฟด และเฟดสาขาต่าง ๆ อาทิ นายวิลเลียม ซี ดัดลีย์ รองประธาน, และนายจอห์น ซี วิลเลียมส์ ซึ่งยังคงแสดงความเห็นเชิงบวกต่อสภาวะเศรษฐกิจของสหรัฐ โดยระบุว่า ตลาดแรงงานของสหรัฐยังคงทวีความแข็งแกร่งมากยิ่งขึ้น และกิจกรรมทางเศรษฐกิจปรับขึ้นในอัตราที่แข็งแกร่ง โดยการจ้างงานปรับขึ้นอย่างแข็งแกร่งโดยเฉลี่ยในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา และอัตราการว่างงานปรับลดลง ทางด้านตัวเลขเศรษฐกิจในระยะนี้บ่งชี้ว่า อัตราการเติบโตของปริมาณการจับจ่ายใช้สอยในภาคครัวเรือนเพิ่มสูงขึ้น ในขณะที่การลงทุนถาวรของธุรกิจยังคงเติบโตอย่างแข็งแกร่งต่อไป อีกทั้งอัตราเงินเฟ้อโดยรวมและอัตราเงินเฟ้อสำหรับสินค้าอื่น ๆ นอกเหนือจากอาหารและพลังงาน ได้ปรับเข้าใกล้ระดับ 2% ส่วนสัญญาณบ่งชี้ถึงการคาดการณ์ภาวะเงินเฟ้อในระยะยาวแทบไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ในวันศุกร์ (15/6) ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ ยังคงมีแรงหนุนอย่างต่อเนื่องจากการอ่อนค่าลงของค่าเงินยูโร ส่งผลให้ค่าเงินบาทอ่อนค่าสุดในรอบ 5 เดือน ทั้งนี้ในระหว่างสัปดาห์ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 32.02-32.47 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนปิดตลาดในวันศุกร์ (15/6) ที่ระดับ 32.42/32.47 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับค่าเงินยูโรเปิดตลาดในวันจันทร์ (11/6) ที่ระดับ 1.1797/1.1800 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ปรับตัวแข็งค่าขึ้นจากระดับปิดตลาด (8/6) ที่ 1.1764/68 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ในส่วนของการประชุมสุดยอดของกลุ่มประเทศสมาชิก G7 ในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมานั้น ยังคงแสดงให้เห็นถึงความไม่แน่นอนของสถานการณ์การเมืองโลก ซึ่งยังคงมีความกังวลในเรื่องของนโยบายเรียกเก็บภาษีนำเข้าเหล็กและอะลูมิเนียมของสหรัฐ โดยทางนางอังเกลา แมร์เคิล นายกรัฐมนตรีเยอรมนีกล่าวว่า แม้การถอนตัวของสหรัฐจากการร่วมลงนามในแถลงการณ์ร่วมของที่ประชุม G7 จะยังไม่ถือเป็นการสิ้นสุดความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐกับยุโรป แต่ก็สะท้อนให้เห็นว่าสหภาพยุโรปไม่สามารถพึ่งพาพันธมิตรได้อีกต่อไป และต้องยืนหยัดด้วยตัวเอง นอกจากนี้นางแมร์เคิลยังกล่าวเพิ่มเติมว่า สหาภาพยุโรปเตรียมใช้มาตรการตอบโต้นโยบายเรียกเก็บภาษีนำเข้าของสหรัฐ โดยจะทำให้สอดคล้องกับกฎขององค์การการค้าโลก (WTC) และในช่วงปลายสัปดาห์ค่าเงินยูโรได้รับแรงกดดนอย่างหนักจากผลการประชุมของธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) ในวันพฤหัสบดี (14/6) ซึ่งระบุว่า อีซีบีจะยุติมาตรการเข้าซื้อพันธบัตรสิ้นปีนี้ ซึ่งจะถือเป็นการดำเนินขั้นตอนที่ใหญ่ที่สุดที่จะนำไปสู่การยุติมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ หลังจากเศรษฐกิจยูโรโซนเริ่มเข้าสู่ภาวะตกต่ำเมื่อ 10 ปีก่อน นอกจากนี้อีซีบียังส่งสัญญาณว่า ยังคงต้องใช้เวลาอีกนานก่อนที่อีซีบีจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย และสิ่งนี้บ่งชี้ว่า นายมาริโอ ดรากี ประธานอีซีบีอาจจะดำรงตำแหน่งจนครบวาระในเดือนตุลาคม 2019 โดยที่เขาไม่เคยปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเลยในวาระการดำรงตำแหน่งนาน 8 ปีของเขา ซึ่งการแถลงการณ์ครั้งนี้ต่างจากการคาดการณ์ของนักลงทุนในช่วงก่อนหน้านี้ที่คาดว่าทางอีซีบีจะยุติมาตรการเข้าซื้อพันธบัตรดังกล่าวในช่วงเดือนกันยายน

ทั้งนี้ในระหว่างสัุปดาห์ค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.1541-1.1840 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ก่อนปิดตลาดในวันศุกร์ (15/6) ที่ระดับ 1.1588/1.1591 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับค่าเงินเยนนั้นเปิดตลาดในวันจันทร์ (11/6) ที่ระดับ 109.44/48 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวอ่อนค่าเล็กน้อยจากระดับปิดตลาดในวันศุกร์ (8/6) ที่ระดับ 109.31/35 เยน/ดอลลาร์ โดยในวันจันทร์ (11/6) สำนักงานคณะรัฐบาลญี่ปุ่นเปิดเผยยอดสั่งซื้อเครื่องจักรพื้นฐาน ปรับตัวสูงขึ้น 10.1% ในเดือนเมษายน เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า ซึ่งตัวเลขดังกล่าวบ่งชี้ว่า บริษัทเอกชนญี่ปุ่นได้เพิ่มการใช้จ่ายเพื่อขยายศักยภาพด้านการผลิตเพื่อรองรับอุปสงค์ที่แข็งแกร่งในต่างประเทศและได้นำเครื่องจักรมาใช้แทนคนในการทำงานเพื่อรองรับภาวะขาดแคลนแรงงานภายในประเทศอีกด้วย ต่อมาในวันอังคาร (12/6) ธนาคารญี่ปุ่นเปิดเผยตัวเลขดัชนีราคาผู้ผลิตที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น 2.7% ในเดือนเมษายน ซึ่งเป็นการขยายตัวเร็วสุดในปีนี้ โดยได้รับปัจจัยหนุนจากราคาพลังงานที่เพิ่มขึ้น นอกจากนี้รายงานยังระบุว่า การดัดตัวขึ้นของราคาสินค้าจะช่วยหนุนราคาผู้บริโภคให้ปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งอาจตรงตามเป้าหมายของธนาคารกลางญี่ปุ่นที่ต้องการผลักดันการเติบโตทางเศรษฐกิจด้วยการกระตุ้นเงินเฟ้อ และในวันศุกร์ (15/6) ธนาคารกลางญี่ปุ่น (บีโอเจ) มีมติคงเป้าหมายอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นที่ระดับ -0.1% หลังสิ้นสุดการประชุมวันนี้ พร้อมทั้งคงเป้าหมายอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล (JBG) อายุ 10 ปีไว้ที่ราวระดับ 0% ทั้งนี้ตลอดสัปดาห์ค่าเงินเยนมีกรอบเคลื่อนไหวระหว่าง 109.20-110.90 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนปิดตลาดวันศุกร์ (15/6) ที่ระดับ 110.52/109.54 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ