คลังปรับแผนก่อหนี้ลดพันล้าน เข็น TFF เฟสแรก 5 หมื่นล้านประเดิมขาย ก.ย.

คลังชง ครม.ปรับแผนบริหารหนี้ปีงบประมาณ 2561 รอบสุดท้าย เผยรัฐวิสาหกิจก่อหนี้ใหม่ลดพันล้าน หันใช้รายได้ตัวเองเป็นเงินลงทุนแทน คาดถึงสิ้นปีงบประมาณหนี้สาธารณะอยู่ที่ 42.8% “อภิศักดิ์” ปักธงขายหน่วยลงทุน TFF เฟสแรก 3-5 หมื่นล้าน ให้รายย่อยจองซื้อได้ก่อนในช่วงเดือน ก.ย.นี้ ชี้ไม่เป็นหนี้สาธารณะ

แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาล เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ทางกระทรวงการคลังได้เสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาปรับปรุงแผนบริหารหนี้สาธารณะ ประจำปีงบประมาณ 2561 ครั้งที่ 2 ซึ่งเป็นการปรับแผนรอบสุดท้ายในปีงบประมาณนี้ โดยที่มีการก่อหนี้ใหม่ลดลงกว่า 1,000 ล้านบาท เนื่องจากรัฐวิสาหกิจบางแห่งมีการเปลี่ยนแผนการใช้เงิน จากเดิมที่ใช้เงินกู้ไปเป็นแหล่งเงินอื่น อาทิ รายได้ของหน่วยงานเอง เป็นต้น อย่างไรก็ดี ภาพรวมวงเงินแผนบริหารหนี้สาธารณะมีการปรับเพิ่มขึ้นราว 8,000 ล้านบาท เนื่องจากมีการเพิ่มวงเงินในส่วนของแผนการปรับปรุงโครงสร้างหนี้

“การปรับปรุงแผนบริหารหนี้รอบนี้ มีการก่อหนี้ใหม่ลดลง และมีปรับเพิ่มในส่วนแผนปรับโครงสร้างหนี้ ดังนั้นในภาพรวมจึงเปลี่ยนแปลงไม่มาก โดยกระทรวงการคลังประเมินว่า เมื่อถึงสิ้นปีงบประมาณ 2561 ระดับหนี้สาธารณะจะอยู่ที่ 42.8% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) เท่ากับแผนเดิม” แหล่งข่าวกล่าว

แหล่งข่าวกล่าวอีกว่า สำหรับการเบิกจ่ายเงินกู้สำหรับโครงการลงทุนเมกะโปรเจ็กต์ต่าง ๆ ในช่วงที่ผ่านมา จนถึง ณ สิ้นเดือน มี.ค. 2561 ถือว่ามีความคืบหน้าไปได้เกือบ 50% โดยคาดว่าถึงสิ้นปีงบประมาณน่าจะเบิกจ่ายได้ใกล้เคียงเป้าหมาย ซึ่งที่ผ่านมา คณะกรรมการนโยบายและกำกับการบริหารหนี้สาธารณะที่เห็นชอบปรับปรุงแผนบริหารหนี้สาธารณะ ประจำปีงบประมาณ 2561 ครั้งที่ 2 ไม่ได้มีนโยบายให้ปรับปรุงในส่วนของการเบิกจ่ายเงินกู้สำหรับการลงทุนด้านคมนาคมขนส่งนี้ โดยยังคงให้เป็นไปตามแผนที่ปรับปรุงครั้งที่ 1 เดิม

ก่อนหน้านี้ ตามแผนบริหารหนี้สาธารณะ ปรับปรุงครั้งที่ 1 ได้บรรจุแผนการกู้เงินของรัฐบาลมาให้รัฐวิสาหกิจกู้ต่อเพื่อลงทุนระบบราง ได้แก่ 1) โครงการระบบขนส่งมวลชนทางรางในพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑล (สายสีแดง) ช่วงบางซื่อ-รังสิต วงเงิน 831.77 ล้านบาท 2) โครงการก่อสร้างทางคู่ ช่วงมาบกะเบา-ชุมทางถนนจิระ วงเงิน 2,495.48 ล้านบาท 3) โครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ช่วงลพบุรี-ปากน้ำโพ วงเงิน 3,829.70 ล้านบาทและโครงการก่อสร้างทางคู่อีก 3 โครงการ วงเงินรวมกัน 9,431.06 ล้านบาท ประกอบด้วย โครงการช่วงนครปฐม-หัวหิน, โครงการช่วงหัวหิน-ประจวบคีรีขันธ์ และโครงการช่วงประจวบคีรีขันธ์-ชุมพร ซึ่งทั้งหมดนี้ยังคงเป้าหมายการกู้เงินไว้เช่นเดิม

ขณะที่นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.คลัง กล่าวว่า กองทุนไทยแลนด์ฟิวเจอร์สฟันด์ (TFF) จะมีการยื่นแบบคำขออนุญาตเสนอขายหลักทรัพย์ และแบบแสดงรายการข้อมูล (ไฟลิ่ง) ต่อคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ในเดือน ก.ค.นี้ จากนั้นจะมีการสำรวจความต้องการซื้อหลักทรัพย์ (book building) จากนักลงทุนสถาบัน เพื่อกำหนดราคาขายหน่วยลงทุน และรัฐบาลจะเปิดโอกาสให้นักลงทุนรายย่อยจองซื้อได้ก่อน ในช่วงเดือน ก.ย.ปีนี้

“ผมคิดว่าคงมีความสนใจค่อนข้างสูงจากนักลงทุนสถาบันในประเทศ เพราะลงทุนได้ระยะยาว และให้ผลตอบแทนดีพอสมควร โดยเฉพาะธุรกิจประกันสามารถลงทุนได้ ซึ่งตอนนี้ประกันเขาก็พยายามหาการลงทุนระยะยาวแบบนี้อยู่” นายอภิศักดิ์กล่าว

ทั้งนี้ การเสนอขายหน่วยลงทุนดังกล่าวจะเป็นเฟสแรก ที่นำรายได้ค่าทางด่วนของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) มาแบ็กอัพ ส่วนเฟสต่อไปจะนำรายได้ของกรมทางหลวงในส่วนของมอเตอร์เวย์ สาย 7 กับสาย 9 เข้ามาระดมทุนในเฟสต่อไป คิดเป็นมูลค่าอีกเป็นแสนล้านบาท ซึ่งทางกรมทางหลวงจะเร่งแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้สามารถนำรายได้ค่าผ่านทางมาระดมทุนผ่าน TFF ได้

รมว.คลังกล่าวด้วยว่า การระดมเงินทุนผ่าน TFF นี้ ถือเป็นการระดมเงินจากภาคเอกชนผ่านตลาดทุน จึงไม่เป็นหนี้สาธารณะ ซึ่งอยู่ในแผนการคลังระยะปานกลางที่ได้วางไว้แล้ว

แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลังกล่าวว่า มูลค่าการระดมทุน TFF เฟสแรก จะอยู่ที่ราว 3-5 หมื่นล้านบาท