ค่าเงินดอลลาร์และยูโรผันผวนในกรอบ ตลาดจับตาการเมืองเยอรมนี

แฟ้มภาพ

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า ภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันจันทร์ที่ 2 กรกฎาคม 2561 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (2/7) ที่ 33.03/04 บาท/ดอลลาร์ สหรัฐมปรับตัวแข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (29/6) ที่ 33.12/14 บาท/ดอลลาร์ โดยค่าเงินดอลลาร์ปรับตัวอ่อนค่าในวันศุกร์หลังการประชุมผู้นำสหภาพยุโรปได้บรรลุข้อตกลงเกี่ยวกับการรับผู้อพยพ แต่ยังคงได้รับปัจจัยบวกจากรายงานของหนังสือพิมพ์ไชน่า ซีเคียวริตี้ เจอร์นัลที่ว่า ทางการจีนได้ทำการทบทวนข้อจำกัดในการเข้าถึงตลาดการลงทุนจากต่างประเทศ และเตรียมประกาศมาตรการผ่อนคลายข้อจำกัดในการลงทุนในภาคพลังงานและธนาคารในเร็ว ๆ นี้ รายงานระบุว่า ข้อจำกัดในด้านพลังงาน, ทรัพยากร, โครงสร้างพื้นฐาน, การคมนาคม, กระแสหมุนเวียนด้านการค้า จะถูกยกเลิกหรือผ่อนคลายลง นอกจากนี้ตลาดยังได้แรงหนุนจากรายงานของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ระบุว่า ธนาคารขนาดใหญ่ 34 แห่งจาก 35 แห่ง สามารถผ่านการทดสอบภาวะวิกฤต (Stress Test) ซึ่งธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ได้จัดการทดสอบดังกล่าวขึ้นเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดวิกฤตการณ์ทางการเงินขึ้น สำหรับข้อมูลทางเศรษฐกิจที่ได้รับการเปิดเผยเมื่อวันศุกร์ ได้แก่ กระทรวงพาณิชย์สหรัฐเผยการใช้จ่ายของผู้บริโภคสหรัฐเพิ่มขึ้นเพียง 0.2% ในเดือน พ.ค. โดยต่ำกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ที่ 0.4% โดยการใช้จ่ายของผู้บริโภคสหรัฐที่ชะลอตัวในเดือน พ.ค. ได้รับผลกระทบจากการใช้จ่ายด้านสาธารณูปโภคที่ลดลง, ดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) เพิ่มขึ้น 0.2% ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ่้นในระดับดังกล่าวติดต่อกัน 6 เดือน, อีกทั้งมหาวิทยาลัยมิชิแกนเผยดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคสหรัฐลดลงเกินคาดสู่ 98.2 จากระดับ 99.3 ในช่วงต้นเดือนมิถุนายน ทั้งนี้ในระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 33.03-33.15 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนปิดตลาดที่ระดับ 33.14/15 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับค่าเงินยูโรวันนี้ (2/7) เปิดตลาดที่ระดับ 1.1660/61 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ปรับตัวแข็งค่าจากระดับปิดตลาด (29/6) ที่ 1.1642/43 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ค่าเงินยูโรได้รับปัจจัยหนุนจากการประชุมสหภาพยุโรปสามารถบรรลุข้อตกลงเกี่ยวกับนโยบายผู้อพยพ ซึ่งก่อนหน้านี้ได้สร้างความวิตกกังวลว่าจะก่อให้เกิดความแตกแยกในประเทศกลุ่มยุโรปและอาจส่งผลกระทบต่อเอกภาพของพรรคร่วมรัฐบาลเยอรมนี โดยบรรดาผู้นำสหภาพยุโรปเห็นควรในการจัดตั้งประเทศศูนย์กลางการรับผู้อพยพขึ้นใหม่ และแยกผู้อพยพออกเป็นสองกลุ่ม นอกจากนี้สำนักงานสถิติสหภาพยุโรป (ยูโรสแตท) เผยอัตราเงินเฟ้อในยูโรโซนแตะระดับ 2% เป็นครั้งแรกในรอบกว่า 1 ปีในเดือนมิถุนายน เนื่องจากต้นทุนพลังงานและอาหารพุ่งขึ้นอย่างมาก โดยธนาคารกลางยุโรป (ECB) ตั้งเป้าที่จะทำให้เงินเฟ้อต่ำกว่าแต่ใกล้เคียง 2% อันตรายจากสงครามการค้าโลก และนโยบายงบประมาณที่ไม่ชัดเจนของรัฐบาลชุดใหม่ของอิตาลียังเป็นความเสี่ยงใหญ่สำหรับเศรษฐกิจในยูโรโซน อย่างไรก็ดี ค่าเงินยูโรได้อ่อนค่าลงในการซื้อขายช่วงเช้าเนื่องจากนักลงทุนมองว่าการลาออกของนายซีโฮเฟอร์ รัฐมนตรีกิจการภายใน จะสร้างความไม่แน่นอนให้แก่นายกรัฐมนตรีเยอรมนี นางแองเจลา เมอร์เคล ในอนาคต ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.1625-1.1664 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.1642/43 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับค่าเงินเยนวันนี้ (2/7) เปิดตลาดที่ระดับ 111.00/01 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวอ่อนค่าจากระดับปิดตลาดในวันศุกร์ (29/6) ที่ระดับ 110.58/59 เยน/ดอลาร์สหรัฐ ค่าเงินเยนอ่อนค่าหลังจากนักลงทุนคลายความตึงเครียดเรื่องสงครามการค้าระหว่างจีนและสหรัฐ นอกจากนี้ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) เผยผลสำรวจความเชื่อมั่นภาคธุรกิจของบริษัทผู้ผลิตใหญ่ปรับตัวลดลงเล็กน้อยจาก +24 ในเดือนมีนาคมสู่ระดับ +21 ในเดือนมิถุนายน ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 110.58-111.05 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 1110.76/79 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ดัชนีสำคัญทางเศรษฐกิจของสหรัฐในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิต (2/7), รายงานการจ้างงานภาคนอกการเกษตรจากเอดีพี (5/7), รายงานการประชุมของคณะกรรมการนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (6/7), ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคการเกษตร (6/7), ค่าแรงเฉลี่ยต่อชั่วโมง (6/7), อัตราการว่างงาน (6/7)

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ -2.50/-2.40 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยง ภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ 0.25/0.75 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ