ความปั่นป่วนในตลาดเกิดใหม่

คอลัมน์ ลงทุนทั่วโลก

โดย สุรศักดิ์ ธรรมโม บลจ.วรรณ

หลังจากที่ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้นตั้งแต่ 17 เม.ย.ที่ผ่านมา ตลาดการเงินประเทศเกิดใหม่ (EM) ประสบกับภาวะการไหลออกของเงินทุน ส่งผลให้ดัชนีตลาดหุ้นและค่าเงินของตลาดเกิดใหม่ในภาพรวมปรับลงมากและอ่อนค่ามาก ตามลำดับ และปัญหานี้รุนแรงมากเป็นพิเศษในประเทศตลาดเกิดใหม่ที่อยู่ในภูมิภาคละตินอเมริกา เพราะประเทศเหล่านี้มีปัญหาเชิงโครงสร้างเศรษฐกิจมหภาคที่สำคัญ คือขาดดุลบัญชีเดินสะพัดในระดับสูงและหนี้ต่างประเทศที่เพิ่มขึ้นมากในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา

การแข็งค่าของดอลลาร์สหรัฐมาจากมุมมองของนักลงทุนในตลาดอัตราแลกเปลี่ยนที่ประเมินว่า เศรษฐกิจสหรัฐแข็งแกร่งมาก ขณะที่เศรษฐกิจประเทศอื่น ๆ ที่เหลือในโลกนั้นกลับขยายตัวช้ากว่าคาดเมื่อเทียบกับการคาดการณ์เมื่อต้นปีนี้ที่ผ่านมา ดังนั้น จังหวะในการขึ้นดอกเบี้ยนโยบายนั้น ธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) น่าจะมีจำนวนครั้งและจังหวะของการขึ้นดอกเบี้ยนโยบายมากกว่าคาด ขณะที่ประเทศที่เหลือในโลก ส่วนใหญ่ (ยกเว้นประเทศที่เจอภาวะเงินไหลออกมาก จะต้องขึ้นดอกเบี้ยเพื่อยับยั้งการไหลออกของเงิน) อาจจะต้องใช้เวลายาวนานกว่าคาดในการขึ้นดอกเบี้ยนโยบายจากภาวะเศรษฐกิจที่ขยายตัวช้าลง โดยดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ทั้งประเทศพัฒนาแล้วและประเทศตลาดเกิดใหม่ ซึ่งถือเป็นดัชนีที่บ่งชี้แนวโน้มเศรษฐกิจล่วงหน้าที่แม่นยำที่สุด มีทิศทางปรับลงด้วยเช่นกัน

ซึ่งการคาดการณ์ของตลาดถือว่าถูกต้อง เพราะหลังจากนั้นในการประชุม Fed เมื่อต้นเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา พบว่าการคาดการณ์ ดอกเบี้ยนโยบายโดยสมาชิกของ Fed นั้น พบว่าแนวโน้มการขึ้นดอกเบี้ยมากกว่าคาด คือ 4 ครั้งในปีนี้ แทนที่จะเป็น 3 ครั้ง ทำให้นักลงทุนส่วนที่มองว่า Fed จะขึ้นดอกเบี้ยเพียง 3 ครั้ง ต้องปรับมุมมองใหม่และปรับสถานะการลงทุนของตนให้สอดคล้องกับภาวการณ์ที่เปลี่ยนไป

นอกจากนี้ ความตึงเครียดทางการค้าที่เริ่มมาปะทุหลังการประชุมสุดยอดผู้นำสหรัฐและเกาหลีเหนือจบลงในวันที่ 12 มิ.ย.เป็นต้นมา เป็นส่วนหนึ่งที่สร้างบรรยากาศความไม่แน่นอนในตลาดและกดดันตลาดการเงินประเทศ EM ด้วยเช่นกัน

จากเนื้อหาในด้านบน เราจะเห็นคำสำคัญที่แทนพฤติกรรมของตลาด “ดีกว่าคาด” หรือ “ต่ำกว่าคาด” สะท้อนกระบวนการการตัดสินใจในการลงทุนและส่งผลต่อมาเป็นทิศทางของตลาดการเงินและอัตราแลกเปลี่ยนที่ในระยะสั้นจะเคลื่อนไหวตามการคาดการณ์ที่เป็นไป ทั้งเป็นไปตามคาดและผิดไปจากที่คาด แต่ในระยะกลางและยาว ปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจจะเป็นตัวกำหนดทิศทางตลาด

เมื่อเป็นเช่นนั้น ความปั่นป่วนในตลาด EM จะดำเนินต่อเนื่องไปนานแค่ไหนและสร้างปัญหามากหรือไม่ ขึ้นอยู่กับปัจจัยพื้นฐานของประเทศนั้น ทั้งนี้ ในเชิงปัจจัยพื้นฐาน ประเทศที่ขาดดุลบัญชีเดินสะพัดในระดับสูงและมีการเพิ่มของหนี้ต่างประเทศในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา ประกอบไปด้วย อาร์เจนตินา ตุรกี อินโดนีเซีย และหลายประเทศในละตินอเมริการวมทั้งแอฟริกาใต้ เป็นประเทศที่นักลงทุนจะจับตาอย่างใกล้ชิด