ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่า หลังแถลงการณ์เฟด

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า ภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันอังคารที่ 8 สิงหาคม 2560 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (8/8) ที่ระดับ 33.28/30 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าขึ้นจากระดับปิดตลาดในวันจันทร์ (7/8) ที่ 33.30/32 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าลงหลังจากที่ช่วงเมื่อคืนที่ผ่านมา มีการแถลงการณ์ของ นายเจมส์ บูลลาร์ด ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) สาขาเซนต์หลุยส์ โดยเขากล่าวว่า เฟดสามารถตรึงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ระดับเดิมในช่วงนี้ เพราะว่าอัตราเงินเฟ้อไม่มีแนวโน้มพุ่งขึ้นมากนัก ถึงแม้ตลาดการจ้างงานสหรัฐ ยังคงปรับตัวดีขึ้นก็ตาม ซึ่งหากไม่มีการเปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับปัจจุบันก็จะยังคงถือเป็นระดับที่เหมาะสมต่อไปในระยะสั้น โดยที่ผ่านมาเฟดมักจะใช้ดัชนีราคาค่าใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) พื้นฐาน ซึ่งไม่รวมราคาอาหารและพลังงาน เป็นมาตรวัดภาวะเงินเฟ้อ โดยปัจจุบันดัชนี PCE พื้นฐานอยู่ที่ 1.5% ซึ่งยังคงต่ำกว่าเป้าหมายที่เฟดตั้งไว้ที่ 2% แต่นายบูลลาร์ดได้แสดงความคิดเห็นว่า ดัชนี PCE พื้นฐานมีแนวโน้มที่จะพุ่งขึ้นสู่ 1.8% ถ้าหากอัตราการว่างงานในสหรัฐสามารถลดลงสู่ 3% ได้ในอนาคต โดยปัจจุบันอัตราการว่างงานในสหรัฐ อยู่ที่ระดับ 4.3% และระดับ 3% ที่เขากล่าวมาเป็นระดับที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน นอกจากนี้เขาได้กล่าวย้ำว่า ถ้าหากอัตราเงินเฟ้อแทบไม่ได้รับแรงหนุนให้พุ่งขึ้น เฟดก็ยังคงไม่มีความจำเป็นต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อชะลอการเติบโตทางเศรษฐกิจ ถ้อยแถลงของนายบูลลาร์ดในวันจันทร์สอดคล้องกับถ้อยแถลงอื่น ๆ ที่เขาเคยกล่าวไว้ในช่วงหนึ่งปีที่ผ่านมา โดยเขาเคยกล่าวว่าเฟดไม่มีความจำเป็นต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย จนกว่าเศรษฐกิจสหรัฐจะก้าวพ้นสภาวะในปัจจุบันได้ ซึ่งก็คืออัตราเงินเฟ้อควรจะฟื้นตัวจากระดับต่ำ และอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจที่สูงกว่า 2% ต่อปี ซึ่งการแถลงการณ์ครั้งนี้เป็นแรงกดดันต่อค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ หลังจากที่ได้รับแรงหนุนจากตัวเลขการจ้างงานที่แข็งแกร่งเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (4/8) สุดท้ายนายบูลลาร์ดกล่าวว่า อัตราเงินเฟ้อที่ระดับต่ำในระยะนี้เป็น “เรื่องที่น่ากังวล” เพราะว่าสิ่งนี้อาจจะไม่ได้เป็นเพียงเหตุการณ์ชั่วคราว แต่เป็นสัญญาณบ่งชี้ถึงปัจจัยถาวร อย่างเช่นเทคโนโลยีที่ก้าวหน้ามากยิ่งขึ้น ซึ่งส่งผลให้ราคาสินค้าและบริการหลายประเภทร่วงลง ถึงแม้ว่านักลงทุนบางรายจะมองว่า การอ่อนค่าของดอลลาร์สหรัฐ ในระยะนี้อาจจะช่วยหนุนอัตราเงินเฟ้อให้ปรับขึ้นได้ก็ตาม ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 33.23-33.30 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนปิดตลาดที่ระดับ 33.25/27 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโรในวันนี้ (8/8) ค่าเงินยูโรเปิดตลาดที่ระดับ 1.1804/05 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร แข็งค่าขึ้นจากระดับปิดตลาดเมื่อวันจันทร์ (7/8) ที่ 1.1794/96 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ค่าเงินยูโรแข็งค่าขึ้นจากแรงหนุนของดอลลาร์สหรัฐ ก่อนที่ในช่วงบ่ายสำนักงานสถิติของรัฐบาลกลางเยอรมนีจะออกมาเปิดเผยว่า ยอดส่งออกและยอดนำเข้าของเยอรมนีร่วงลงมากเกินคาดในเดือนมิถุนายน ซึ่งส่งผลให้ยอดเกินดุลการค้าของเยอรมนีเพิ่มขึ้นโดยรวม ทั้งนี้ ยอดส่งออกลดลง 2.8% ซึ่งเป็นการลดลงมากที่สุดนับตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2015 หลังจากที่เพิ่มขึ้น 5 เดือนติดต่อกัน ส่วนยอดนำเข้าลดลง 4.5% ซึ่งเป็นการลดลงมากที่สุดนับตั้งแต่เดือนมกราคม 2009 ข้อมูลดังกล่าวอาจจะทำให้มีการวิพากษ์วิจารณ์ภาวะการส่งออกของเยอรมนีมากขึ้น หลังจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ได้ย้ำข้อเรียกร้องให้รัฐบาลเพิ่มการลงทุนเพื่อเป็นวิธีหนึ่งในการลดยอดเกินดุลบัญชีเดินสะพัด, เพิ่มยอดนำเข้า และสนับสนุนการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจในประเทศอื่น ๆ ทั้งวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.1788-1.1824 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.1808/12 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับค่าเงินเยนในวันนี้ (8/8) เปิดตลาดที่ระดับ 110.69/72 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าขึ้นจากระดับปิดตลาดเมื่อวันจันทร์ (7/8) ที่ระดับ 110.86/87 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ค่าเงินเยนรวมถึงทองคำแข็งค่าขึ้นในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัยหลังจากที่ความเป็นไปได้ที่เฟดจะปรับขึ้นดอกเบี้ยในปีนี้ปรับลดลง ซึ่งนายทอม เคนดัล นักวิเคราะห์ของธนาคารไอซีบีซี สแตนดาร์ดกล่าวว่า เหล่าสินทรัพย์ปลอดภัยอาจจะได้รับแรงหนุนในช่วงหลายสัปดาห์ข้างหน้า ถ้าหากนักการเมืองสหรัฐเลือกที่จะปรับขึ้นเพดานหนี้ โดยไม่ผูกติดประเด็นหนี้กับมาตรการทางภาษีหรืองบใช้จ่าย โดยทั้งนี้การเคลื่อนไหวระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 110.50-110.81 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 110.29/32 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ดัชนีสำคัญทางเศรษฐกิจในช่วงสัปดาห์นี้ ตัวเลขยอดสั่งซื้อสินค้าคงทนของญี่ปุ่น (9/8) ดัชนีราคาผู้ผลิตของญี่ปุ่น (9/8), ตัวเลขสต็อกสินค้าและยอดค้าส่งเดือนมิถุนายน ของสหรัฐ (9/8), ดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) เดือนกรกฎาคมของสหรัฐ (10/8), ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) เดือนกรกฎาคมของสหรัฐ (11/8)

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ -1.00/-0.70 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยง ภาคเช้า 1 เดือนอยู่ที่ -2.40/-1.30 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ