การเตรียมตัวสู่วัยเกษียณ

คอลัมน์ คุยฟุ้งเรื่องการเงิน

โดย ทอมมี่ แอคชัวรี่ www.actuarialbiz.com

 

 

 

 

 

สืบเนื่องจากแนวคิดเรื่องภาษีคนโสดมีออกมาในช่วงที่ประเทศไทยกำลังเข้าสู่ภาวะประชากรสูงอายุที่กำลังเข้าสู่วัยเกษียณเป็นจำนวนมาก ทำให้ภาครัฐไม่สามารถจัดเก็บภาษีได้เพียงพอเพื่อรองรับกับภาระเลี้ยงดูประชากรวัยเกษียณในอนาคต ในแต่ละประเทศทั่วโลกตอนนี้กำลังพยายามบริหารสัดส่วนประชากรวัยทำงานกับวัยเกษียณให้ลงตัว ในสมัยก่อนหลาย ๆ ประเทศ (รวมถึงประเทศไทย) จะรณรงค์ให้คนในประเทศตัวเองมีลูกเยอะ ๆ เพื่อให้เด็กโตออกมาสู่ตลาดแรงงาน ทำให้ประชากรวัยทำงานมากกว่าวัยเกษียณ และขับเคลื่อนประเทศไปได้เร็วขึ้น

แต่ในทางกลับกัน การเพิ่มจำนวนประชากรในประเทศนั้น ก็นำไปสู่ภาวะขาดแคลนทรัพยากร รวมไปถึงระบบการศึกษาเพื่อให้ประชากรมีคุณภาพ ทำให้ในเวลาต่อมาภาครัฐรณรงค์ให้ประชากรคุมกำเนิดและมีลูกน้อยลง ประชากรวัยทำงานที่มากล้นในสมัยก่อน ได้ค่อย ๆ ขยับเข้ามาเป็นประชากรวัยเกษียณในอนาคตอันใกล้นี้ ทำให้เราเริ่มเห็นว่าประชากรวัยเกษียณกำลังจะมีมากกว่าวัยทำงานหลายเท่า ซึ่งก็แน่นอนว่าแหล่งรายได้ของภาครัฐนั้นมาจากกลุ่มประชากรวัยทำงาน แต่แหล่งรายจ่ายของภาครัฐนั้นอยู่ที่กลุ่มประชากรวัยเกษียณ เป็นผลให้ประชากรวัยทำงานต้องทำงานเพื่อเสียภาษีให้รัฐมากขึ้น

ทั้งหมดนี้เป็นเรื่องของประชากรศาสตร์ ซึ่งเป็นที่มาของแนวคิดเรื่องภาษีคนโสด เพื่อสนับสนุนให้คนไทยหันมาแต่งงานและมีลูกกันมากขึ้น รัฐจะได้เก็บภาษีจากเด็กกลุ่มที่กำลังจะเกิดและเข้าสู่ตลาดแรงงานในอนาคตได้เต็มเม็ดเต็มหน่วย หรืออาจกล่าวอีกนัยหนึ่งว่า รัฐกลัวว่าเด็กกลุ่มที่กำลังจะเกิดมานี้จะต้องช่วยกันทำงานหนักเพื่อรองรับกับภาวะประชากรสูงอายุที่ล้นหลาม การมีปริมาณของเด็กเยอะ ๆ จึงเป็นหนึ่งในทางเลือกสำหรับทางออกที่ว่านี้

อย่างไรก็ตาม ปริมาณที่ออกมาโดยไม่มีพื้นฐานที่ดีพอมารองรับ ก็อาจจะทำให้เกิดปัญหาต่าง ๆ ตามมาได้ ไม่ว่าจะเป็นมาตรฐานการศึกษาที่ไม่ดีพอ การโจรกรรม ยาเสพติด หรือแม้แต่การคอร์รัปชั่น เป็นต้น ดังนั้น การแก้ปัญหาประชากรผู้สูงอายุ (aging population) โดยไปสนับสนุนให้คนแต่งงานมีลูกกันมากขึ้น (เช่น มาตรการภาษีคนโสด) นั้นจึงอาจเป็นเพียงแค่การแก้ปัญหาที่ปลายเหตุเท่านั้น หนำซ้ำยังเป็นการซื้อเวลาเพื่อปัดปัญหาออกไปข้างหน้าเสียอีก เพราะยิ่งประเทศผลิตประชากรกันมากขึ้นเท่าไร คนกลุ่มนั้นก็จะกลายเป็นประชากรสูงอายุเข้าสักวัน และปัญหาก็ยังคงคาราคาซังเหมือนเดิมอยู่ดี ถึงตอนนั้นก็คงจะยิ่งแก้ปัญหากันยากขึ้นจนกลายเป็นภาวะงูกินหางที่ไม่มีที่สิ้นสุด

และเพื่อเป็นการตัดวงจรงูกินหางเหล่านี้ ภาครัฐสามารถเตรียมความพร้อมของคนที่กำลังเข้าสู่วัยเกษียณได้โดยการส่งเสริมการออมสำหรับคนกลุ่มนี้ให้มากขึ้น เพื่อให้แต่ละคนมีเป้าหมายทางการเงินและเก็บเงินสะสมเพื่อยามเกษียณสำหรับตนเอง ซึ่งวิธีนี้น่าจะเป็นการแก้ปัญหาที่ถูกจุดที่สุด และภาครัฐเองยังสามารถใช้เครื่องมือทางภาษีเป็นเครื่องจูงใจและกระตุ้นพฤติกรรมของประชาชนในประเทศได้อยู่เหมือนเดิม เพียงแต่ต้องใช้ให้มีประสิทธิผลและมีวิธีการที่แยบยลมารองรับ (เช่น ค่าลดหย่อนภาษีจากการซื้อประกันชีวิตหรือประกันบำนาญ) แทนที่จะไปเก็บภาษีประชาชนบางกลุ่มเพื่อเร่งผลิตประชากรขึ้นมาเป็นแรงงานในอนาคต

การซื้อประกันชีวิตหรือประกันแบบบำนาญจึงเป็นเครื่องมือทางการเงินที่ดีที่สุดเพื่อการออมไว้ใช้ในยามเกษียณ โดยกลไกการออมเหล่านี้จะกลายเป็นส่วนหนึ่งของการวางแผนทางการเงินในระยะยาวของแต่ละคน อีกทั้งยังเป็นเครื่องมือในการบริหารความเสี่ยงระดับครัวเรือนสำหรับประชาชนในประเทศที่ภาครัฐเล็งเห็นความสำคัญและให้การสนับสนุนมาอย่างต่อเนื่อง

ดังนั้น การเพิ่มเพดานค่าลดหย่อนภาษีจากการซื้อประกันชีวิตหรือประกันบำนาญเพื่อการออมนั้น น่าจะเป็นหนึ่งในทางเลือกที่ได้ผลมากที่สุด แม้ภาครัฐจะขาดรายได้จากการเก็บภาษีได้น้อยลงไป แต่ในระยะยาวภาครัฐก็สามารถประหยัดค่าใช้จ่ายในการจัดการปัญหาประชากรผู้สูงอายุที่เพิ่มปริมาณขึ้นแบบก้าวกระโดดได้อย่างมีประสิทธิภาพ และที่ได้มากยิ่งไปกว่านั้น คือการจูงใจให้ประชาชนมีวินัยในการออมและนำไปสู่ความพอเพียงเพื่อการเกษียณ ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นในสังคมไทยสมัยนี้

และแม้ว่าแนวคิดภาษีคนโสดอาจจะโดนวิพากษ์วิจารณ์จนตกประเด็นไป แต่ถ้ายังแก้ปัญหากันไม่ถูกจุด รับรองว่าอนาคตคงมีคนเสนอนโยบายใหม่ ๆ เอาใจประชาชน อย่าง “ลดหย่อนภาษีให้ลูกคนแรก” ออกมาแน่นอน ! ! !

ถึงเวลานั้นก็คงต้องให้ประชาชนตัดสินใจเองระหว่าง “การลดหย่อนภาษีให้ลูกคนแรก” หรือ “การเพิ่มเพดานค่าลดหย่อนภาษีจากการซื้อประกันชีวิตหรือประกันแบบบำนาญ” ทั้งสองอย่างแก้ปัญหาประชากรผู้สูงอายุได้เหมือนกัน เพียงแต่แบบแรกเป็นการยืดระเบิดเวลาให้ไกลออกไป ส่วนแบบหลังเป็นการแก้ปัญหาระยะยาวอย่างยั่งยืน

ถ้าดูจากลักษณะของความเป็นคนไทย ก็คงพอจะเดากันได้ครับว่า ถ้ามีให้เลือกแล้วอยากจะเลือกแบบไหน ?