“บัวหลวง” ชี้หุ้นเริ่มฟื้น-ระวังสงครามการค้าเห็นผลปี’62

โบรกฯบัวหลวงส่งซิกตลาดหุ้นไทยรีบาวนด์ คงเป้าดัชนีสิ้นปีนี้ 1,760 จุด ชูกำไร บจ.โต 9.6% ชี้ช่องลงทุนหุ้น 5 กลุ่ม ปัจจัยนอกกดดันเพียบ สงครามการค้าเห็นผลชัดปีหน้า เงินไหลออก-ค่าเงิน ส่วนต่างบอนด์ยีลด์สหรัฐชี้ทิศการขึ้นดอกเบี้ย

นายชัยพร น้อมพิทักษ์เจริญ รองกรรมการผู้จัดการสายงานค้าหลักทรัพย์บุคคล บมจ.หลักทรัพย์บัวหลวง เปิดเผยว่า หลังจากที่ดัชนีตลาดหุ้นไทยได้ปรับตัวลดลงต่ำมาอยู่ในระดับ 1,600 จุด พบว่ามีหุ้นใหญ่ที่ให้ผลตอบแทนจากเงินปันผลสูงเฉลี่ย 3.5-6% ได้รับความสนใจจากนักลงทุนเข้ามาเก็บสะสมเพิ่มขึ้น เนื่องจากให้ผลตอบแทนที่ดีกว่าเมื่อเทียบกับดอกเบี้ยเงินฝาก 1.25% ขณะที่เริ่มเห็นสัญญาณตลาาดหุ้นไทยรีบาวนด์ (ฟื้นตัว) ขึ้นมา ซึ่งดัชนีมีโอกาสจะปรับตัวขึ้นไปยืนได้ที่ระดับ 1,730 จุดได้ ดังนั้นจึงยังคงเป้าหมายดัชนีที่ 1,760 จุดภายในสิ้นปีนี้ ขณะที่คาดการณ์กำไรรวมของบริษัทจดทะเบียน (บจ.) เติบโต 9.6%

“เรามองว่ากำไร บจ.ปีนี้มีการกระจายตัวมากขึ้นกว่าปีที่แล้วที่กระจุกตัวแค่ 20-30 บริษัท ซึ่งจะทำให้นักลงทุนได้ประโยชน์มากขึ้น” นายชัยพรกล่าว

สำหรับปัจจัยภายนอกประเทศเรื่องผลกระทบการตั้งกำแพงภาษีระหว่างสหรัฐกับจีน คาดว่าจะเห็นผลกระทบที่ชัดเจนในปี”62 ซึ่งต้องพิจารณาว่าจะรุนแรงแค่ไหน แต่หากเกิดขึ้นจริงในมูลค่า 50,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ก็มองว่าเป็นสัดส่วนที่น้อยมาก เพราะส่งผลกระทบต่อจีดีพีจีนเพียง 0.1-0.2% เท่านั้น ในขณะที่อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจจีนอยู่ที่ 6.6-6.8% ต่อปี

อย่างไรก็ดี หากดัชนีไหลลงไปซื้อขาย (เทรด) ในระดับ P/E (อัตราส่วนราคาหุ้นต่อกำไรสุทธิของ บจ.) ที่ 13.3 เท่า ประเมินว่าดัชนีลงต่ำสุดที่ระดับ 1,500 จุด (บวก/ลบ) ซึ่งหุ้นที่น่าสนใจ คือ กลุ่มพาณิชย์, โรงไฟฟ้า, การเงิน ที่คาดว่าจะมีอัพไซด์อยู่ในกรอบ 10% และท่องเที่ยว-โรงแรม ซึ่งได้รับผลกระทบจากทัวร์จีนแค่ชั่วคราว ส่วนหุ้นที่ควรหลีกเลี่ยง คือ กลุ่มเกษตร ราคาพืชผลยังไม่ได้ฟื้นตัวอย่างที่คาด และกลุ่มส่งออกบางตัว เช่น อิเล็กทรอนิกส์ เพราะไม่แน่ใจว่าอยู่ในห่วงโซ่อุปทานของหลายประเทศที่จะโดนกำแพงภาษีหรือไม่

ส่วนเงินทุนต่างชาติยังอยู่ในภาวะไหลออกที่ยังกดดันอยู่บ้าง โดยต้องจับตาทิศทางสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐกับสกุลเงินทั่วโลก โดยเฉพาะค่าเงินบาท ซึ่งปัจจุบันอยู่ที่ 33 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าเกินระดับค่าเฉลี่ยที่บัวหลวงได้ประเมินไว้ที่ 32.50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ แต่อย่างไรก็ตาม ค่าเงินดอลลาร์คงไม่ได้แข็งค่าตลอด โดยพิจารณาจาก dollar index พบว่ายังมี room (ช่องว่าง) อยู่ราว 5% ไปจนถึงปีหน้าหากธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 5 ครั้ง ไปอยู่ที่ 3.25% ภายในช่วงไตรมาส 3/62 แต่ถ้าเฟดขึ้นดอกเบี้ยน้อยกว่าที่คาด ค่าเงินดอลลาร์อาจจะไม่ได้แข็งค่ามากนัก นอกจากนี้ ต้องดูส่วนต่างอัตราผลตอบแทนพันธบัตร (บอนด์ยีลด์) สหรัฐระยะยาว 10 ปี และสั้น 2 ปี ซึ่งมีส่วนต่างอยู่ที่ 0.24% ถือว่าต่ำสุดในรอบกว่า 10 ปี