คปภ.ชูโมเดลประกันพืชผลใหม่ เบี้ยเฉลี่ยภัย-แพ็กเกจคุ้มครองปีต่อปี

คปภ.ชูโมเดลประกันพืชผล “คุ้มครองแบบแพ็กเกจ” ปีต่อปี ชงคิดเบี้ยประกันเฉลี่ยภัย เร่งประสานกรมส่งเสริมการเกษตรเก็บข้อมูลพื้นที่ไร่สวนทั่วประเทศ พร้อมหนุนเพิ่มคุ้มครองสวนทุเรียน ทั้ง “โรคจากรากเน่า-โรคกระทบเฉพาะผลผลิต” เปิดภาคสมัครใจ แนะผู้เอาประกันซื้อเพิ่ม

นางคนึงนิจ สุจิตจร ผู้ช่วยเลขาธิการสายกำกับผลิตภัณฑ์ประกันภัย สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า คปภ.มีไอเดียจัดทำแผนประกันพืชผลแบบแพ็กเกจสำหรับให้ความคุ้มครองปีต่อปี ซึ่งขณะนี้ได้ประสานกับกรมส่งเสริมการเกษตรดำเนินการจัดเก็บข้อมูลในพื้นที่ไร่สวนของเกษตรกรทั่วประเทศ เพื่อพิจารณาความเสี่ยงของพืชแต่ละชนิด เนื่องจากมีความทนทานต่อภัยธรรมชาติที่แตกต่างกัน ขณะเดียวกันผลผลิตก็ยังออกมาไม่พร้อมกันด้วย คปภ.จึงคาดว่าจะคิดเบี้ยประกันแบบเฉลี่ยภัย ซึ่งเป็นโมเดลเดียวกับประเทศเกาหลีใต้ ทั้งนี้ คาดว่าจะออกมาชัดเจนในปี 2562

สำหรับแนวคิดทำประกันพืชผลแบบแพ็กเกจนี้ เกิดจากการลงพื้นที่ อ.หลังสวน จ.ชุมพร ตามโครงการ คปภ.เพื่อชุมชนปีที่ 2 ซึ่งในพื้นที่ดังกล่าวมีการปลูกผลไม้หลายชนิด โดยเฉพาะทุเรียน, เงาะ, ลองกอง, มังคุด ซึ่งล้วนเป็นผลไม้เศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศที่มีการส่งออกจำนวนมาก แต่พื้นที่ดังกล่าวมีสภาพภูมิประเทศที่สุ่มเสี่ยงต่อการประสบภัยทางธรรมชาติ ทั้งพายุ, น้ำท่วม, น้ำป่าไหลหลาก ส่งผลทำให้พืชผลการเกษตรและผลไม้ได้รับความเสียหายอยู่บ่อยครั้ง

“การนำระบบประกันภัยเข้ามาบริหารความเสี่ยงเป็นการตอบสนองนโยบายรัฐที่ช่วยส่งเสริมให้เกษตรกรไม่ต้องแบกรับความเสี่ยงไว้เอง บวกกับภาครัฐยังมีการชดเชยรายได้ให้แก่เกษตรกรที่ได้รับความเสียหายจากภัยธรรมชาติอยู่แล้วด้วย” นางคนึงนิจกล่าว

นางคนึงนิจกล่าวเพิ่มเติมว่า หลังจากการรับฟังสภาพปัญหาด้านประกันภัยของพื้นที่แห่งนี้ คปภ.ยังได้แนวคิดเพิ่มเติมในการรับประกันภัยสวนทุเรียน ซึ่งจะเป็นความคุ้มครองโรคจากรากเน่าและความคุ้มครองครอบคลุมโรคเฉพาะที่กระทบต่อผลผลิตทุเรียน ซึ่งขณะนี้ คปภ.ได้ให้สำนักงาน คปภ.ชุมพรสรุปข้อมูล และเสนอเข้ามาเพื่อให้สายส่งเสริมและประกันภัยภูมิภาครวบรวมพิจารณาว่า เกษตรกรต้องการความเสี่ยงภัยอะไรบ้าง ซึ่งอาจจะจัดทำเป็นภาคสมัครใจในส่วนความคุ้มครองที่ผู้เอาประกันจะต้องซื้อเพิ่ม

นอกจากนี้ ชุมชนแต่ละพื้นที่ยังสามารถรวมกลุ่มเป็นสหกรณ์สวนทุเรียนนำระบบประกันภัยเข้ามาบริหารความเสี่ยง ซึ่งอาจจะต่อรองเบี้ยประกันในอัตราที่ถูกลงได้

ทั้งนี้ ปัจจุบันทุเรียนถือเป็นผลไม้ที่มีการส่งออกมากที่สุด และมีราคาสูงอย่างต่อเนื่อง หลังจากความต้องการของต่างประเทศที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะประเทศจีน ทำให้เกษตรกรเปลี่ยนมาปลูกทุเรียนกันมากขึ้น ซึ่งปัจจุบันประกันมีแผนความคุ้มครองครอบคลุมเฉพาะภัยธรรมชาติ อาทิ ลมพายุ, น้ำท่วม, ลูกเห็บ, ฟ้าผ่า รวมถึงความคุ้มครองอีกกลุ่มหนึ่ง คือ ไฟไหม้, สัตว์เดินชน ซึ่งความเสียหายที่เกิดขึ้นจะต้องเป็นความเสียหายโดยสิ้นเชิง (total loss) หรือต้นทุเรียนไม่สามารถให้ผลผลิตได้อีก

“สำหรับการประเมินทุนประกันจะดูจากอายุต้นทุเรียน ยิ่งอายุของต้นมีมากเท่าไร เบี้ยประกันก็จะยิ่งแพง เนื่องจากให้ผลผลิตที่มากขึ้น ซึ่งปัจจุบันเบี้ยประกันเริ่มต้นที่ 200 บาทต่อไร่” นางคนึงนิจกล่าว