กูรูฟันธงเศรษฐกิจ Q4 โตชะลอ สงครามการค้าฉุดส่งออก

ภาพ Pixabay

นักเศรษฐศาสตร์ฟันธงเศรษฐกิจไทย Q4 ชะลอ ชี้สงครามการค้าสหรัฐ-จีนรุนแรงขึ้น ฉุดส่งออกไทย แถมผลกระทบเรือนักท่องเที่ยวจีนล่มยังไม่คลี่คลาย ศูนย์วิจัย TMB ห่วงไทยติดบ่วงถูกมะกันรีดภาษีกีดกันการค้า ขณะที่สำนักวิจัย “ซีไอเอ็มบี ไทย” ห่วงคู่ค้าเร่งนำเข้าสินค้ากระทบส่งออกไทยปีหน้า ด้าน สศค.ปรับจีดีพีสิ้น ต.ค.นี้

นายนริศ สถาผลเดชา ผู้บริหารศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี (TMB Analytics) ธนาคารทหารไทย เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า TMB ประเมินเศรษฐกิจไทยไตรมาส 4 จะเติบโตที่ 4.4% โดยปัจจัยเสี่ยงที่น่ากังวลมาจากสงครามทางการค้า ที่จะส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทยชะลอตัว รวมถึงการท่องเที่ยวที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์เรือนักท่องเที่ยวจีนล่มที่จังหวัดภูเก็ต

“ไทยมีแนวโน้มจะถูกเก็บภาษีนำเข้า 10% จากสหรัฐ แม้ไม่ได้อยู่ใน 10 ประเทศที่มีการเกินดุลทางการค้ากับสหรัฐ โดยอยู่ในอันดับ 13 จึงมีโอกาสถูกกีดกัน ดังนั้น หากสหรัฐกีดกันทางการค้าไทย ก็จะมีความเสี่ยงในเรื่องสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (GSP) ระหว่างกันด้วย” นายนริศกล่าว

นอกจากนี้ นโยบายทางการเงินของไทย ที่หย่อนเกณฑ์มากเกินไป ส่งผลให้ประชาชนมีการถือครองสินทรัพย์เสี่ยงมากขึ้น อาทิ คริปโทเคอร์เรนซี และการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ เป็นต้น

นายนริศกล่าวว่า ถ้ามองครึ่งปีหลังเศรษฐกิจน่าจะขยายตัวได้ประมาณ 4.4-4.5% ชะลอลงจากครึ่งปีแรกที่เติบโตสูงถึง 4.8% โดยสาเหตุหลักมาจากการส่งออกไทยที่จะชะลอลง จากสงครามทางการค้าที่รุนแรงขึ้น ผลกระทบจากเหตุการณ์เรือนักท่องเที่ยวจีนล่มที่จังหวัดภูเก็ต และยังมีเรื่องการลงทุนของภาครัฐ เนื่องจากช่วงที่ผ่านมา การเบิกจ่ายของภาครัฐไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ ส่วนการบริโภคภาคเอกชนมีสัญญาณการฟื้นตัวที่ชัดเจนขึ้น แต่ก็ยังเป็นการเติบโตอย่างช้า ๆ โดยปีนี้การบริโภคเอกชนน่าจะขยายตัวได้ที่กว่า 3%

นายอมรเทพ จาวะลา ผู้บริหารสำนักวิจัย ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยในไตรมาส 4 จะขยายตัวที่ 4.2% ขณะที่ครึ่งปีหลังจะขยายตัวที่ 4.2% และทั้งปีนี้เศรษฐกิจไทยจะเติบโตที่ 4.5% โดยปัจจัยที่เศรษฐกิจครึ่งปีหลัง โดยเฉพาะไตรมาส 4 ชะลอลงกว่าครึ่งปีแรก มาจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีน การท่องเที่ยว จากเหตุการณ์เรือล่ม ที่กระทบต่อความเชื่อมั่นนักท่องเที่ยวชาวจีนในการมาเที่ยวเมืองไทย ซึ่งนอกจากกระทบต่ออุตสาหกรรมท่องเที่ยว ยังกระทบการบริโภคภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวไปด้วย

ทั้งนี้ แม้ว่าเศรษฐกิจไทยไตรมาส 4 จะเติบโตในอัตราที่ชะลอตัวลง แต่ยังมีปัจจัยที่เป็นบวกต่อเศรษฐกิจไทยอยู่บ้าง คือ การลงทุนภาคเอกชน ที่มีความเชื่อมั่นในทิศทางทางการเมืองมากขึ้น ส่งผลให้ภาคเอกชนเร่งระดมทุนและลงทุนมากขึ้น ส่วนการบริโภคภาคเอกชนน่าจะทรงตัว โดยเฉพาะกำลังซื้อภาคครัวเรือนจากราคาสินค้าเกษตรยังนิ่ง ๆ จึงทำให้กำลังซื้อในระดับเศรษฐกิจฐานรากน่าจะทรงตัวต่อเนื่อง

ส่วนกรณีกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) คาดการณ์เศรษฐกิจโลกจะเติบโตลดลงนั้น นายอมรเทพกล่าวว่า ไม่ได้มีนัยสำคัญ และไม่ได้ส่งผลกระทบต่อไทยขั้นรุนแรง เนื่องจากปรับลดลงแค่ 0.1-0.2% อย่างไรก็ดี ปัจจัยที่ต้องระมัดระวังมาจากสงครามทางการค้าที่ส่งผลต่อความกังวลของผู้ประกอบการภาคเอกชนที่เป็นคู่ค้าในต่างประเทศ อาจเร่งการนำเข้าสินค้าเพิ่มขึ้นในปีนี้ และปี 2562 การส่งออกไทยจะได้รับผลกระทบมากขึ้น

“ทุกวันนี้มีการเร่งสต๊อกสินค้าไว้ก่อน เพราะกลัวว่าของจะแพง เมื่อถึงปีหน้าการส่งออกไทยอาจเกิดปัญหา เพราะผู้ประกอบการต่างประเทศเร่งนำเข้าสินค้าไปแล้ว ซึ่งจะทำให้ผู้ประกอบการไทยที่ส่งออกสินค้าแบบเดิม ๆ ขายของยากขึ้น” นายอมรเทพกล่าว

นายศรพล ตุลยะเสถียร ผู้อำนวยการสำนักนโยบายเศรษฐกิจมหภาค สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยว่า สศค.ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยในช่วงไตรมาส 4 จะเติบโตชะลอลงจากครึ่งปีแรกที่เติบโตสูงถึง 4.8% โดยปัจจัยเสี่ยงที่ต้องระวังมาจากภายนอก โดยเฉพาะสงครามการค้าที่คาดเดาได้ยาก ทั้งนี้ ที่ผ่านมา สศค.ประเมินเศรษฐกิจไทยปีนี้ว่าจะเติบโตที่ 4.5% ซึ่งจะมีการพิจารณาตัวเลขประมาณการใหม่อีกครั้งในสิ้นเดือน ต.ค.นี้