สศค.ชี้เศรษฐกิจการคลัง ก.ย.61 ขยายตัวต่อเนื่อง คงเป้าจีดีพีปีนี้โต 4.5%

“เศรษฐกิจไทยในเดือนกันยายนและไตรมาส 3 ของปี 2561 มีการขยายตัวจากอุปสงค์ภายในประเทศอย่างต่อเนื่อง โดยการบริโภคภาคเอกชนยังคงส่งสัญญาณบวกจากปริมาณการจำหน่ายรถยนต์นั่งและการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มที่ยังขยายตัวได้ดี

ขณะที่อุปสงค์ภายนอกประเทศที่สะท้อนจากมูลค่าการส่งออกสินค้ายังขยายตัวได้ต่อเนื่อง สอดคล้องกับด้านอุปทานที่สะท้อนจากดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรและจำนวนนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศยังขยายตัวได้ต่อเนื่องเช่นกัน

ส่วนเสถียรภาพภายในและภายนอกประเทศยังอยู่ในระดับมั่นคง สามารถรองรับความผันผวนจากต่างประเทศได้ ทั้งนี้ ปัจจัยภายนอกจากต่างประเทศที่ต้องติดตามใกล้ชิด ได้แก่ ผลกระทบจากสงครามการค้าและจำนวนนักท่องเที่ยวจากประเทศจีน”

นายวโรทัย โกศลพิศิษฐ์ ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการคลัง สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.)เปิดเผยรายงานภาวะเศรษฐกิจการคลังประจำเดือนกันยายนปี 2561 ว่า “เศรษฐกิจไทยในเดือนกันยายนและไตรมาส 3 ของปี 2561 มีการขยายตัวจากอุปสงค์ภายในประเทศอย่างต่อเนื่อง โดยการบริโภคภาคเอกชนยังคงส่งสัญญาณบวกจากปริมาณการจำหน่ายรถยนต์นั่งและการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มที่ยังขยายตัวได้ดี

ขณะที่อุปสงค์ภายนอกประเทศที่สะท้อนจากมูลค่าการส่งออกสินค้ายังขยายตัวได้ต่อเนื่อง สอดคล้องกับด้านอุปทานที่สะท้อนจากดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรและจำนวนนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศยังขยายตัวได้ต่อเนื่องเช่นกัน ส่วนเสถียรภาพภายในและภายนอกประเทศยังอยู่ในระดับมั่นคง สามารถรองรับความผันผวนจากต่างประเทศได้ ทั้งนี้ ปัจจัยภายนอกจากต่างประเทศที่ต้องติดตามใกล้ชิด ได้แก่ ผลกระทบจากสงครามการค้าและจำนวนนักท่องเที่ยวจากประเทศจีน” โดยมีรายละเอียดสรุป ได้ดังนี้

เครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคภาคเอกชนขยายตัวได้ดี สะท้อนจากปริมาณการจำหน่ายรถยนต์นั่งในเดือนกันยายน 2561 ที่ขยายตัวร้อยละ 15.6 ต่อปี เป็นการขยายตัวเป็นบวกติดต่อกันเป็นเดือนที่ 21 นับตั้งแต่มกราคม 2560 ทำให้ในไตรมาสที่ 3 ปี 2561 ปริมาณจำหน่ายรถยนต์นั่งขยายตัวร้อยละ 21.2 ต่อปี

โดยส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการส่งเสริมการขายของค่ายรถยนต์ต่าง ๆ สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวม ในเดือนกันยายน 2561 อยู่ที่ระดับ 69.2 ปรับตัวลงเล็กน้อยจากเดือนก่อนหน้า เนื่องจากราคาพืชผลเกษตรในบางรายการยังอยู่ในระดับต่ำ อย่างไรก็ดี ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในไตรมาส 3 ปรับตัวดีขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้าจากระดับ 67.5 มาอยู่ที่ระดับ 69.6

เครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการลงทุนภาคเอกชนในเดือนกันยายน 2561 ขยายตัวจากการลงทุนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักร สะท้อนจากปริมาณจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ ขยายตัวร้อยละ 13.5 ต่อปี ชะลอลงจากเดือนหน้า แต่ยังเป็นการขยายตัวเป็นบวกติดต่อกันเป็นเดือนที่ 15 เนื่องจากยอดจำหน่ายรถกระบะขนาด 1 ตัน ขยายตัวร้อยละ 23.7 ต่อปี

ทำให้ในไตรมาส 3 ของปี 2561 ปริมาณจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ขยายตัวได้ร้อยละ 22.8 สำหรับการลงทุนในหมวดก่อสร้าง สะท้อนจากปริมาณจำหน่ายปูนซีเมนต์ภายในประเทศ ขยายตัวต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้าอยู่ที่ร้อยละ 8.8 ต่อปี ทำให้ในไตรมาส 3 ปี 2561 ปริมาณการจำหน่ายปูนซีเมนต์ภายในประเทศขยายตัวจากไตรมาสก่อนหน้าอยู่ที่ร้อยละ 8.8 เช่นกัน

สำหรับดัชนีวัสดุก่อสร้างในเดือนกันยายน 2561 เท่ากับ 108.9 เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.5 เป็นการขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 15 ทำให้ในไตรมาส 3 ปี 2561 ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างขยายตัวต่อเนื่องจากไตรมาสก่อนหน้าที่ร้อยละ 6.0 ขณะที่ภาษีการทำธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์ เดือนกันยายนอยู่ที่ร้อยละ 9.7 และในไตรมาส 3 ภาษีการทำธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์ ขยายตัวต่อเนื่องจาก ไตรมาสก่อนหน้าที่ร้อยละ 5.2 ต่อปี

เครื่องชี้เศรษฐกิจไทยด้านอุปทานในเดือนกันยายน 2561 พบว่า ดัชนีผลผลิตด้านเกษตรกรรมยังขยายตัวต่อเนื่องแม้จะไม่มากนัก โดยดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรเดือนกันยายนขยายตัวที่ร้อยละ 2.1 ต่อปี เป็นการขยายตัวได้ดีในผลผลิตไข่ไก่ที่ขยายตัวร้อยละ 0.9 ต่อปี ทำให้ไตรมาสที่ 3 ปี 2561 ดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรขยายตัวที่ร้อยละ 4.8 ต่อปี

สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม (TISI) อยู่ที่ระดับ 91.5 ปรับตัวลดลงจากเดือนก่อนหน้าเล็กน้อย เนื่องจากผู้ประกอบการมีความกังวลเกี่ยวกับราคาน้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้น และสถานการณ์ค่าเงินบาท ส่งผลให้ดัชนี TISI ในไตรมาสที่ 3 ปี 2561 อยู่ที่ระดับ 92.4

นอกจากนี้ จำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่เดินทางเข้าประเทศไทยในเดือนกันยายน 2561 มีจำนวน 2.66 ล้านคน ขยายตัวร้อยละ 2.1 ต่อปี โดยจำนวนนักท่องเที่ยวมาเลเซียขยายตัวร้อยละ 40.1 ต่อปี นับเป็นการขยายตัวต่อเนื่องสูงสุดในรอบ 37 เดือน

ในขณะที่ นักท่องเที่ยวประเทศอื่น ยังคงขยายตัวได้ดี เช่น นักท่องเที่ยวชาวฮ่องกง ลาว และไต้หวัน เป็นต้น ทำให้ในไตรมาสที่ 3 ปี 2561 นักท่องเที่ยวต่างประเทศที่เดินทางเข้ามาประเทศไทยมีจำนวน 9.06 ล้านคน ขยายตัวร้อยละ 1.9 ต่อปี สร้างรายได้จากการท่องเที่ยวต่างประเทศในไตรมาสที่ 3 ปี 2561 มูลค่า 474.6 พันล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 0.5 ต่อปี

เสถียรภาพเศรษฐกิจภายในประเทศยังอยู่ในเกณฑ์ดี และเสถียรภาพภายนอกอยู่ในระดับที่มั่นคง สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนกันยายน 2561 อยู่ที่ร้อยละ 1.3 ต่อปี โดยมีสาเหตุสำคัญจากการเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันส่งผลให้ราคาสินค้าหมวดพลังงานสูงขึ้น

ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ร้อยละ 0.8 ต่อปี ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไป และอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานในไตรมาสที่ 3 ปี 2561 อยู่ที่ร้อยละ 1.1 และ 0.7 ต่อปีตามลำดับ

สำหรับอัตราการว่างงานในเดือนกันยายน 2561 อยู่ที่ร้อยละ 1.0 ของกำลังแรงงานรวม หรือคิดเป็นจำนวนผู้ว่างงาน 3.7 แสนคน ทำให้ในไตรมาสที่ 3 ปี 2561 อัตราการว่างงานอยู่ที่ร้อยละ 1.0 ของกำลังแรงงานรวม

ขณะที่สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP ณ สิ้นเดือนสิงหาคม 2561 อยู่ที่ร้อยละ 41.32 ต่อ GDP ซึ่งอยู่ภายใต้กรอบวินัยการเงินการคลังที่ตั้งเพดานไว้ไม่เกินร้อยละ 60 ต่อ GDP ตามพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561

สำหรับเสถียรภาพภายนอกยังอยู่ในระดับมั่นคง และสามารถรองรับความเสี่ยงจากความผันผวนของเศรษฐกิจโลกได้ สะท้อนจากทุนสำรองระหว่างประเทศ ณ เดือนกันยายน 2561 อยู่ที่ระดับ 204.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ มากกว่าหนี้ต่างประเทศระยะสั้น 3.2 เท่า

นายวโรทัย กล่าวต่อว่า สำหรับเศรษฐกิจไทยในปี 2561 คาดว่าจะสามารถขยายตัวอย่างต่อเนื่องที่ร้อยละ 4.5 (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 4.3 – 4.7) เร่งขึ้นจากปีก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 3.9 โดยได้รับแรงขับเคลื่อนหลักมาจากการใช้จ่ายภาคเอกชนทั้งด้านการบริโภคและการลงทุนที่มีแนวโน้มขยายตัวเร่งขึ้น ซึ่งสอดคล้องกับการจ้างงานที่ขยายตัวเพิ่มขึ้น และรายได้ครัวเรือนในภาคเกษตรกรรมที่เริ่มขยายตัวดีขึ้นตามปริมาณผลผลิตสินค้าเกษตรที่เพิ่มสูงขึ้น

นอกจากนี้ มาตรการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยของภาครัฐ โดยเฉพาะโครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐยังช่วยสนับสนุนการจับจ่ายใช้สอยของประชาชน และความคืบหน้าของโครงการลงทุนภาครัฐจากปีก่อนหน้ายังเป็นแรงสนับสนุนให้การลงทุนภาคเอกชนมีแนวโน้มขยายตัวดีขึ้นจากปีก่อนหน้าอีกด้วย

สำหรับจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่เข้ามายังประเทศไทยยังคงมีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าอย่างต่อเนื่องเช่นกัน ซึ่งคาดว่าจะยังคงสนับสนุนให้ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยวขยายตัวดีตามไปด้วย

อย่างไรก็ตาม การขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าที่ชะลอตัวลง และนโยบายกีดกันทางการค้าของสหรัฐรวมถึงการตอบโต้จากประเทศต่างๆ คาดว่าจะส่งผลให้การส่งออกสินค้าชะลอลงเล็กน้อย สำหรับเสถียรภาพเศรษฐกิจภายในประเทศ คาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2561 จะอยู่ที่ร้อยละ 1.2 (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 1.0 – 1.4) เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า ตามทิศทางราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกและการฟื้นตัวของอุปสงค์ภายในประเทศ

ทั้งนี้ รองโฆษกกระทรวงการคลัง ได้กล่าวทิ้งท้ายว่า “ในการประมาณการเศรษฐกิจไทยจำเป็นต้องคำนึงถึงปัจจัยเสี่ยงที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด อาทิ ผลกระทบจากนโยบายกีดกันทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน รวมทั้งความผันผวนของตลาดการเงินโลก”

สำหรับรายงานประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2561 ได้แก่

1. ด้านการขยายตัวทางเศรษฐกิจ เศรษฐกิจไทยในปี 2561 คาดว่าจะสามารถขยายตัวอย่างต่อเนื่องที่ร้อยละ 4.5 (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 4.3 – 4.7) เร่งขึ้นจากปีก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 3.9 โดยได้รับอานิสงศ์จากเศรษฐกิจไทยครึ่งปีแรกของปี 61 ขยายตัวมากกว่าที่คาดถึงร้อยละ 4.8 ประกอบกับได้รับแรงขับเคลื่อนหลักมาจากการใช้จ่ายภาคเอกชนทั้งด้านการบริโภคและการลงทุนที่มีแนวโน้มขยายตัวเร่งขึ้น

โดยคาดว่าการบริโภคภาคเอกชนมีแนวโน้มขยายตัวที่ร้อยละ 4.2 (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 4.0 – 4.4) เช่นเดียวกับการลงทุนภาคเอกชนที่คาดว่าจะขยายตัวในอัตราเร่งที่ร้อยละ 3.9 (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 3.7 – 4.1) ซึ่งสอดคล้องกับการจ้างงานที่ขยายตัวเพิ่มขึ้น และรายได้ครัวเรือนในภาคเกษตรกรรมที่เริ่มขยายตัวดีขึ้นตามปริมาณผลผลิตสินค้าเกษตรที่เพิ่มสูงขึ้น

นอกจากนี้ มาตรการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยของภาครัฐ โดยเฉพาะโครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐยังช่วยสนับสนุนการจับจ่ายใช้สอยของประชาชน และความคืบหน้าของโครงการลงทุนภาครัฐจากปีก่อนหน้ายังเป็นแรงสนับสนุนให้การลงทุนภาคเอกชนมีแนวโน้มขยายตัวดีขึ้นจากปีก่อนหน้าอีกด้วย

ทั้งนี้ การลงทุนภาครัฐมีแนวโน้มขยายตัวในระดับสูงที่ร้อยละ 5.1 (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 4.9 – 5.3) เช่นเดียวกับการบริโภคภาครัฐที่คาดว่าจะขยายตัวได้อย่างต่อเนื่องที่ร้อยละ 2.6 (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 2.4 – 2.8)

นอกจากนี้จำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่เข้ามายังประเทศไทยยังคงมีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าอย่างต่อเนื่องเช่นกัน ซึ่งคาดว่าจะยังคงสนับสนุนให้ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยวขยายตัวดีตามไปด้วย

อย่างไรก็ตาม การขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าที่ชะลอตัวลง และนโยบายกีดกันทางการค้าของสหรัฐรวมถึงการตอบโต้จากประเทศต่างๆ คาดว่าจะส่งผลให้การส่งออกสินค้าชะลอลงเล็กน้อย โดยปริมาณส่งออกสินค้าและบริการมีแนวโน้มขยายตัวที่ร้อยละ 4.6 (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 4.4 – 4.8)

ส่วนปริมาณการนำเข้าสินค้าและบริการคาดว่าจะมีแนวโน้มขยายตัวเร่งขึ้นมาอยู่ที่ร้อยละ 7.8 (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 7.6 – 8.0) สอดคล้องกับแนวโน้มการลงทุนภาคเอกชนที่คาดว่าจะเร่งขึ้น นอกจากนี้ ยังได้รับแรงสนับสนุนจากโครงการลงทุนขนาดใหญ่ของภาครัฐอีกด้วย

2. ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ

สำหรับเสถียรภาพเศรษฐกิจภายในประเทศ คาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2561 จะอยู่ที่ร้อยละ 1.2 (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 1.0 – 1.4) เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า ตามทิศทางราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกและการฟื้นตัวของอุปสงค์ภายในประเทศ

สำหรับเสถียรภาพภายนอกประเทศดุลบัญชีเดินสะพัดจะเกินดุล 39.5 พันล้านเหรียญสหรัฐหรือคิดเป็นร้อยละ 7.7 ของ GDP (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 7.5 – 7.9 ของ GDP) เนื่องจากดุลการค้าที่คาดว่าจะเกินดุลที่ 20.9 พันล้านเหรียญสหรัฐ (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ 20.7 – 21.1 พันล้านเหรียญสหรัฐ) ตามมูลค่าสินค้าส่งออกคาดว่าจะขยายตัวที่ร้อยละ 8.0 (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 7.8 – 8.2) ในขณะที่มูลค่าสินค้านำเข้าคาดว่าจะขยายตัวที่ร้อยละ 16.0 (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 15.8 – 16.2)