รมช.คลังชี้ร่างพ.ร.บ.ภาษีที่ดินเข้า สนช. วาระ 2-3 กลาง พ.ย.นี้ คาดเริ่มเก็บภาษีได้ 1 ม.ค.63

รมช.คลังชี้ร่างพ.ร.บ.ภาษีที่ดินเข้า สนช. วาระ 2-3 กลาง พ.ย.นี้ คาดเริ่มเก็บภาษีได้ 1 ม.ค.63 ระบุเวอร์ชั่นใหม่ “ยกเว้น-ลดหย่อน-ผ่อนปรน” อื้อ ไม่ให้กระทบประชาชนในช่วงเปลี่ยนผ่านระยะแรก

นายวิสุทธิ์ ศรีสุพรรณ รมช.คลัง กล่าวว่า ร่างพระราชบัญญัติภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง จะเสนอเข้าที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) วาระ 2 และ วาระ 3 ในช่วงกลางเดือน พ.ย.นี้ เนื่องจากได้พิจารณาเสร็จสิ้นในขั้นคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างกฎหมายแล้ว ซึ่งหากผ่าน สนช. ก็จะเริ่มมีการจัดเก็บภาษีในวันที่ 1 ม.ค. 2563 อย่างไรก็ดี กฎหมายจะผ่านหรือไม่ ก็ขึ้นกับทาง สนช.

โดยในรายละเอียดทาง กมธ. ได้ให้ความสำคัญกับผู้เสียภาษีทุกกลุ่ม ทั้งกลุ่มเกษตรกรที่เป็นกลุ่มอ่อนไหว กลุ่มที่มีบ้าน กลุ่มที่ทำอาชีพอื่น ๆ ทั้งพาณิชยกรรมและอุตสาหกรรม และ กลุ่มที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ในที่ดิน ซึ่งรัฐบาลได้พิจารณาอย่างถี่ถ้วนไม่ให้เป็นภาระตกกับกลุ่มต่าง ๆจนเกินควร ขณะที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะมีรายได้ ที่ระยะแรกคงไม่ได้เพิ่มมาก แต่ระยะยาวจะมีฐานภาษีที่แน่นอนและสามารถลดการใช้ดุลยพินิจไปได้มาก

“กฎหมายนี้ ไม่ใช่กฎหมายใหม่ แต่เป็นการที่เรารวมภาษีโรงเรือนกับ ภาษีบำรุงท้องที่เข้าไว้ด้วยกัน เพื่อแก้ไขปัญหาอุปสรรคที่มีทั้งหมด โดยใช้ฐานภาษีทรัพย์สิน คือราคาที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ที่กรมธนารักษ์ประเมิน แทนฐานภาษีบำรุงท้องที่ที่เมื่อก่อนเก็บจากเกษตรกร คนมีบ้าน ก็จะมีทั้งพื้นที่วงใน วงกลาง วงนอก ทั้งใน กทม. ปริมณฑล และภูมิภาค กับฐานภาษีโรงเรือนที่เก็บจากรายได้ ที่ส่วนใหญ่ไม่ได้มีสัญญากัน จึงเป็นการใช้ดุลยพินิจ หรือถ้ามีสัญญาก็เก็บอัตรา 12.5% ถือว่าสูง และซ้อนกับภาษีฐานรายได้ ส่วนคนไม่มีสัญญาก็ถูกประเมินค่ารายปี ตามดุลยพินิจของท้องถิ่น แถมมีข้อโต้แย้งค่อนข้างมาก” นายวิสุทธิ์กล่าว

ทั้งนี้ ในกรณีที่ดินเกษตรกรรม หากมีมูลค่าไม่เกิน 50 ล้านบาท ถ้าเป็นบุคคลธรรมดา จะได้รับยกเว้นภาษี หลังจากนั้นจะเก็บเป็นขั้นบันไดในอัตรา 0.01% เช่น ถ้าที่ดินมูลค่า 60 ล้านบาท ในส่วน 10 ล้านบาท จะเก็บ 1,000 บาท (ล้านละ 100 บาท) ส่วนกรณีนิติบุคคล ถือครองที่ดินเกษตรกรรม จะเสียภาษีตั้งแต่บาทแรก
“นอกจากนี้ กรณีบุคคลธรรมดา ในช่วงเปลี่ยนผ่าน ก็จะมีการยกเว้นภาษีให้ในช่วง 3 ปีแรกด้วย ไม่ว่าจะมีที่ดินมูลค่าเท่าไหร่ ยกเว้นนิติบุคคลที่ต้องจัดเก็บ” นายวิสุทธิ์กล่าว

ส่วนกรณีที่ดินที่เป็นที่อยู่อาศัย ทาง กมธ. สรุปยกเว้นภาษีให้บ้านหลังหลักที่มีมูลค่าไม่เกิน 50 ล้านบาท ถ้าเกินกว่า 50 ล้านบาท จะเก็บอัตรา 0.02% หรือล้านละ 200 บาท เช่น 60 ล้านบาท ก็เสีย 2,000 บาทต่อปี หรือเฉลี่ยเดือนละไม่ถึง 170 บาท แต่กรณีเป็นบ้านหลังรอง หรือตั้งแต่หลังที่ 2 เป็นต้นไป จะเก็บภาษีตั้งแต่บาทแรก ในอัตรา 0.02%

รมช.คลัง กล่าวอีกว่า ส่วนกรณีที่ดินที่ใช้ประโยชน์เชิงพาณิชยกรรมและอุตสาหกรรม จะเก็บภาษีเป็นขั้นบันได ซึ่งจะไม่เป็นภาระเกินควร โดยเก็บสูงสุดไม่เกิน 0.7% ซึ่งกรณีโรงเรียน โรงพยาบาล สนามกีฬา จะมีการลดหย่อนภาษีให้ได้ถึง 90% อย่างไรก็ดี จะต้องกำหนดอีกทีในกฎหมายลำดับรอง ซึ่งรัฐบาลจะพิจารณาให้ตามประเภทการใช้ประโยชน์

ส่วนกรณีที่ดินรกร้างว่างเปล่า หลักการคือ เพื่อให้เกิดการใช้ประโยชน์ที่ดินให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจ ดังนั้นคนที่ไม่ใช้ประโยชน์ที่ดินควรจะรับภาระภาษี อัตราเริ่มต้นจะประมาณ 0.2% และปรับเพิ่มขึ้นทุก ๆ 3 ปี หากยังไม่มีการใช้ประโยชน์ กระทั่งต่อเนื่องถึง 27 ปี จะเก็บสูงสุดที่ 3%

“ถ้าไม่ใช้ประโยชน์ที่ดินต่อเนื่องกัน 27 ปี ภาษีจะเพิ่มเป็น 3% แต่ถ้ามีการใช้ประโยชน์ปีใดปีหนึ่งก็จะหยุดไป ก็เป็นทางเลือก จะเอาไปทำเกษตรกรก็ได้ หรือใช้เพื่อสาธารณะประโยชน์ชั่วคราวก็ได้ หรือให้คนอื่นเช่าเพื่อทำเกษตรก็ได้” รมช.คลังกล่าว

ส่วนกรณีที่ดินที่เป็นทรัพย์สินรอการขาย (NPA) และ ทรัพย์สินที่อยู่ระหว่างพัฒนา (ดีเวลล็อป) จะยกเว้นภาษีให้ในระยะ 5 ปีแรก หลังจากนั้นก็จัดเก็บตามประเภทการใช้ประโยชน์

รมช.คลัง กล่าวด้วยว่า เนื่องจากกฎหมายจะมีทั้งการยกเว้น ลดหย่อน ผ่อนปรนภาษี ดังนั้น กรณีผู้ที่เคยเสียภาษีโรงเรือนหากต้องเสียมากขึ้น จะได้รับการผ่อนปรนให้เป็นเวลา 4 ปี เช่น ถ้าเสียภาษีมากกว่าเดิม 1,000 บาท ปีแรกจะให้จ่ายแค่ 250 บาท ปีที่สาม 500 บาท ปีที่สาม 750 บาท และ ปีที่สี่จึงจะเสีย 1,000 บาทเต็ม
“ฉะนั้น ในปีแรก จะไม่ได้ทำให้รัฐมีรายได้เพิ่มมาก สมมุติถ้าประเมินว่าจะมีรายได้เพิ่ม 1 หมื่นล้านบาท ก็จะมีรายได้เพิ่มจริง ๆ แค่ 2,500 ล้านบาท แล้วยังไม่นับพวกลดหย่อน ผ่อนปรนอีก” รมช.คลังกล่าว