พอร์ตหุ้นใต้เงา “คิงเพาเวอร์” มูลค่ารวม 2.3 พันล้าน

หลังจากเหตุการณ์เฮลิคอปเตอร์ตกที่นอกสนามคิงเพาเวอร์ สเตเดียม ประเทศอังกฤษ ทำให้ เจ้าสัว “วิชัย ศรีวัฒนประภา” เจ้าของธุรกิจดิวตี้ฟรี “คิง พาวเวอร์” ได้เสียชีวิตในเหตุการณ์ดังกล่าว

นับเป็นการสูญเสียครั้งใหญ่ของครอบครัว “ศรีวัฒนประภา” เส้นทางธุรกิจของกลุ่มคิงเพาเวอร์จึงถูกจับตามองเป็นพิเศษ โดยเฉพาะส่วนที่เป็นหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ เนื่องด้วยช่วงที่ผ่านมา “เจ้าสัววิชัย” เนื้อหอมมาก ผู้บริหารหลายบริษัทเชิญชวนให้เข้ามาถือหุ้นของบริษัทหลายแห่ง แม้วันนี้เจ้าสัวฯได้ขายหุ้นออกไปแล้ว แต่ก็ยังมีกลิ่นอายชื่อลูก ๆ ของเจ้าสัวที่ถืออยู่ โดยเฉพาะลูกชายคนเล็ก “นายอัยยวัฒน์ ศรีวัฒนประภา” วันนี้ “ประชาชาติธุรกิจ” จึงขอรวบรวมมาเสนอ ดังนี้

เริ่มกันที่ลูกชายคนเล็ก “อัยยวัฒน์” ได้แก่ บมจ.ดับบลิวพี เอ็นเนอร์ยี่ (WP) เข้ามาถือหุ้นใหญ่เป็นอันดับ 1 มีจำนวน 96,612,804 หุ้น คิดเป็น 18.63% ของทุนเรียกชำระแล้ว โดยราคาหุ้น ณ วันที่ 26 ต.ค. 61 อยู่ที่ 6.50 บาทต่อหุ้น คิดเป็นมูลค่ารวมกว่า 627.98 ล้านบาท

อีกหุ้นชื่อดังที่รู้จักกันดี คือ บมจ.เอเชีย เอวิเอชั่น (AAV) ที่เจ้าสัวเคยเข้ามาซื้อหุ้นก้อนใหญ่จากผู้ถือหุ้นใหญ่ “ธรรศพลฐ์ แบเลเว็ลด์” ทำให้ครอบครัว “ศรีวัฒนาประภา” กลายเป็นถือหุ้นใหญ่ ซึ่งต่อมาเจ้าสัวได้ขายหุ้นในส่วนที่ถือออก และเหลือลูกชาย “อัยยวัฒน์” ที่ถือหุ้นอยู่จำนวน 130 ล้านหุ้น หรือ 2.68% ราคาหุ้นอยู่ที่ 3.98 บาทต่อหุ้น คิดเป็นมูลค่ารวมทั้งสิ้น 517.4 ล้านบาท ซึ่งในช่วงนั้น ที่เจ้าสัวเข้ามาถือหุ้นในธุรกิจสายการบินโลว์คอสต์แอร์เอเชีย เป็นช่วงที่ถูกมองว่าเป็นการแผ่อาณาจักรคิง เพาเวอร์ที่ยิ่งใหญ่

และยังมีหุ้นใหญ่ในธุรกิจพลังงานที่มีชื่อตระกูลของเจ้าสัวติดด้วย ในนาม “อัยยวัฒน์” ถือหุ้นใน บมจ.กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ (GULF) ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่เป็นอันดับที่ 12 จำนวนกว่า 15,567,000 หุ้น สัดส่วน 0.73% โดยราคาหุ้นอยู่ที่ 75.50 บาทต่อหุ้น หรือคิดเป็นมูลค่ารวมสูงถึง 1,175.31 ล้านบาท

หากรวม ๆ มูลค่าหุ้น 3 ตัวนี้ในมือ “อัยยวัฒน์ ศรีวัฒนประภา” ก็สูงประมาณกว่า 2,320.69 ล้านบาทแล้ว

อีกดีลดังที่ “เจ้าสัววิชัย” ใจกล้าเข้ามาร่วมด้วยช่วยกัน คือ ส่งบริษัท คิง เพาเวอร์ มหานคร จำกัด ดำเนินการเข้าซื้อสินทรัพย์ “โครงการมหานคร” ของ บมจ.เพซ ดีเวลลอปเมนท์ คอร์ปอเรชั่น (PACE) ในช่วงที่มีปัญหาใหญ่ ซึ่งมูลค่ารวมราว 14,000 ล้านบาท เมื่อวันที่ 10 เม.ย. 61 ที่ผ่านมานี้

นอกจากนี้ หุ้นอื่น ๆ ที่เคยมีชื่อของสมาชิก “ศรีวัฒนประภา” ถือหุ้นจำนวนไม่น้อย ได้แก่ 1.นายอัยยวัฒน์ ศรีวัฒนประภา เคยถือหุ้น บมจ.โกลบอลกรีนเคมีคอล (GGC) จำนวน 5 ล้านหุ้น สัดส่วน 0.51% เมื่อวันที่ 28 เม.ย. 60 และเคยถือหุ้นบริษัท ท่าอากาศยานไทย (AOT) จำนวน 11,460,000 หุ้น สัดส่วน 0.80% เมื่อวันที่ 14 ธ.ค. 59

รวมถึงเคยถือหุ้นอยู่ในบริษัท บีซีพีจี (BCPG) จำนวน 20 ล้านหุ้น สัดส่วน 1.01% เมื่อวันที่ 26 ก.ย. 59 และเคยถือหุ้นในบริษัท แอล เอช ไฟแนนซ์เชียล กรุ๊ป (LHFG) จำนวน 86 ล้านหุ้น สัดส่วน 0.63% เมื่อวันที่ 4 พ.ค. 59 และก่อนหน้านี้เคยถือหุ้นในบริษัท พลังงานบริสุทธิ์ (EA) จำนวน 51,647,900 หุ้น สัดส่วน 1.38% เมื่อวันที่ 29 มี.ค. 59 ปัจจุบันไม่ปรากฏรายชื่อแล้ว

นอกจากนี้ ยังมี 2.นายอภิเชษฐ์ ศรีวัฒนประภา เคยถือหุ้น AAV จำนวน 39,700,000 หุ้น สัดส่วน 0.82% เมื่อวันที่ 28 พ.ค. 61 และก่อนหน้านี้เคยถือหุ้นในบริษัท แอล เอช ไฟแนนซ์เชียล กรุ๊ป (LHFG) จำนวน 200 ล้านหุ้น สัดส่วน 1.47% เมื่อวันที่ 4 พ.ค. 59 รวมถึงเคยถือหุ้นใน บมจ.พลังงานบริสุทธิ์ (EA) จำนวน 47,064,000 หุ้น สัดส่วน 1.26% เมื่อวันที่ 25 มี.ค. 59

และ 3.นางสาวอรุณรุ่ง ศรีวัฒนประภา ก่อนหน้านี้เคยถือหุ้น AAV จำนวน 242,500,000 หุ้น สัดส่วน 5% เมื่อวันที่ 24 พ.ย. 60

นี่คือส่วนหนึ่งของอาณาจักร “เจ้าสัววิชัย” ที่ได้เข้ามาอยู่ในวังวนตลาดหุ้นไทย ส่วนนับจากนี้ หุ้นต่าง ๆ ที่ถืออยู่ในมือครอบครัว “ศรีวัฒนประภา” ในวันที่ไร้เงาเจ้าสัวจะมีแรงกระเพื่อมให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างไร เป็นฉากใหญ่ที่ต้องติดตามกันต่อไป