คลังดัน กบช.รับมือสังคมสูงอายุ หวังประชาชนมีรายได้หลังเกษียณกว่า 5 หมื่นบาทต่อเดือน

นายสมชัย สัจจพงษ์ ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวในการเปิดงาน “Future Wealth & Luxury EXPO 2017 มหกรรมการลงทุนเพื่อความมั่งคั่งในอนาคต” ว่า กระทรวงการคลังได้เตรียมพร้อมการดูแลสังคมผู้สูงอายุในหลาย ๆเรื่อง ทั้งมาตรการภาษีต่าง ๆที่จูงใจบริษัทเอกชนจ้างผู้เกษียณอายุทำงานต่อ โดยให้หักภาษีได้ 2 เท่า ขณะที่ทางกรมธนารักษ์ก็มีนโยบายสร้างที่อยู่อาศัย “ซีเนียคอมเพล็กซ์” เพื่อรองรับผู้สูงอายุในหลายจังหวัด อาทิ สมุทรปราการ ชลบุรี ประจวบคีรีขันธ์ เชียงใหม่ เป็นต้น

นอกจากนี้ ที่ผ่านมายังได้เสนอร่างพระราชบัญญัติการจัดตั้งกองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ (กบช.) ซึ่งผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีไปแล้ว อยู่ระหว่างกฤษฎีกาตรวจร่าง ตรงนี้จะเป็นอีกเครื่องมือที่จะสร้างความมั่นใจว่าผู้สูงอายุจะมีหลักประกันด้านรายได้หลังเกษียณ

“กบช. เราจะบังคับให้แรงงานในระบบมาออม โดยทั้งลูกจ้างและนายจ้างต้องมีเงินใส่เข้าไป ซึ่งจะเริ่มจากอัตราต่ำ ๆก่อน เพราะจะไปโยงกับกองทุนประกันสังคมด้วย เพื่อให้รวมกันแล้วคนหลังเกษียณมีรายได้ประมาณ 50% ของรายได้เดือนสุดท้าย จากปัจจุบันถ้าเฉพาะกองทุนประกันสังคมจะทำให้มีรายได้หลังเกษียณเดือนละ 7,500 บาท แต่ถ้ามี กบช. มาเสริม แล้วมีการออมตั้งแต่อายุ 15-60 ปี ก็จะได้เงินอีกกว่า 4 หมื่นบาทต่อเดือน รวมกันเป็นกว่า 5 หมื่นบาทต่อเดือน เพียงพอต่อการดำรงชีพ” นายสมชัยกล่าว

ทั้งนี้ สำหรับเงินสะสมและสมทบเข้า กบช. นั้น เบื้องต้นกำหนด 3% ใน 3 ปีแรก จากนั้น 5% ในอีก 2-3 ปีถัดมา และหลังจากนั้นจะเป็น 7% อย่างไรก็ดี ต้องไปคุยรายละเอียดในกฤษฎีกาอีกที เพราะต้องดูให้สอดคล้องกับของกองทุนประกันสังคมด้วย

นายสมชัย กล่าวอีกว่า ขณะที่ทางธนาคารออมสินจะมีการทำสินเชื่อบ้านผู้สูงอายุ (รีเวิร์สมอสเกต) จากนั้นเมื่อธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) แก้กฎหมายเรียบร้อยแล้วก็จะดำเนินการด้วย

นอกจากนี้ ต่อไปกระทรวงการคลังจะเก็บภาษีจากฐานทรัพย์สิน หรือเก็บจากความมั่งคั่งมากขึ้น จากปัจจุบันเก็บอยู่แค่ 1% ขณะที่เก็บภาษีฐานการบริโภคถึง 51% และ ฐานรายได้ 48% ได้แก่ ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ภาษีการรับมรดก ภาษีที่เกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ เป็นต้น