แกะรอยผลสอบคดี EARTH ตั้งคำถามแบงก์กรุงไทย…

ขณะที่มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ในหมู่พนักงานธนาคารกรุงไทย ถึงการดำเนินคดีการปล่อยสินเชื่อให้กับ บริษัท เอ็นเนอร์ยี เอิร์ธ จํากัด (มหาชน) (EARTH) ที่กลายเป็นหนี้เสียมูลค่า 12,000 ล้านบาท

หลังจากเมื่อ 24 ต.ค.ที่ผ่านมา นายผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย กล่าวว่า ธนาคารได้ผลสรุปการสอบสวน กรณีปล่อยกู้บริษัท EARTH และได้รายงานให้ที่ประชุมบอร์ดรับทราบ ซึ่งเบื้องต้นพบการทำความผิดของ “พนักงานทุกระดับ” เรื่องที่เกิดขึ้นพบทั้งความผิดจากระบบ ความผิดของพนักงาน ทั้งโดยตั้งใจและมาจากความบกพร่อง หลังจากนี้จะนำกรณีนี้มาปรับปรุงระบบป้องกันไม่ให้ปัญหาเกิดขึ้นอีก ส่วนพนักงานที่ทำผิดก็ดำเนินการเอาผิดทางวินัย ส่วนพนักงานร่วมมือกับคนภายนอกหรือไม่เป็นรายละเอียดขอไม่เปิดเผย

อย่างไรก็ตาม มีรายงานข่าวว่า ผลสอบสวนสรุปออกมาแล้วว่า ธนาคารกรุงไทยจะดำเนินคดีกับพนักงานรวม 15 คน ส่วนใหญ่เป็นพนักงานและผู้บริหารระดับกลาง โดยผู้บริหารระดับสูงหรือกรรมการธนาคารไม่ต้องรับผิดชอบ ทั้งที่การปล่อยสินเชื่อวงเงินสูงขนาดนี้ต้องมีการอนุมัติจากกรรมการธนาคาร

กรณีดังกล่าวมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์และนำกรณีของเอิร์ธไปเปรียบเทียบกับคดีการปล่อยสินเชื่อให้กลุ่ม บมจ.กฤษดามหานคร มูลค่า 8,000 ล้านบาท เนื่องจากกรณีกฤษดามหานคร แบงก์มีหลักประกันเป็นที่ดิน แม้ช่วงที่ปล่อยสินเชื่อมูลค่าที่ดินอาจไม่คุ้มหนี้ แต่ปัจจุบันมูลค่าที่ดินจากการประมูลขายเกินมูลหนี้แล้ว ขณะที่การปล่อยสินเชื่อให้เอิร์ธไม่มีหลักประกันอะไรเลย ขณะเดียวกันคดีปล่อยกู้กฤษดามหานคร มีการดำเนินคดีเอาผิดตั้งแต่ประธานบอร์ดธนาคาร กรรมการผู้จัดการ ผู้บริหารระดับรอง จนถึงพนักงานสินเชื่อ แต่กรณีคดีเอิร์ธจากการสอบสวนบอร์ดของธนาคารไม่ต้องรับผิดชอบ

จึงเกิดคำถามว่ามาตรฐานความรับผิดชอบของผู้บริหารธนาคารและบอร์ดควรอยู่ตรงไหน

สำหรับกรณีการปล่อยสินเชื่อ EARTH เริ่มตั้งแต่สมัยนายกิตติพันธ์ อนุตรโสตถิ อดีตรองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายธุรกิจขนาดใหญ่ ธนาคารกรุงไทย (ปัจจุบันดำรงตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย) เป็นผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการปล่อยกู้ ซึ่งเป็นยุคที่นายวรภัค ธันยาวงษ์ นั่งเป็นกรรมการผู้จัดการธนาคารกรุงไทย

เป็นผลมาจากที่ผู้บริหาร EARTH กู้เงินแบงก์กรุงไทยไปซื้อเหมืองถ่านหินที่อินโดนีเซีย โดยทำเอกสารโครงการว่าเหมืองถ่านหินมีมูลค่ามหาศาล แต่ข้อเท็จจริงมีมูลค่าเพียง 20% ของโครงการที่นำมาเสนอ และได้มีการเบิกเงินไปแล้วรอบหนึ่ง

ช่วงที่ 2 สร้างเรื่องว่าลูกค้าจีนซื้อถ่านหินจากบริษัทในอินโดนีเซีย (ในเครือเอิร์ธ) โดยบริษัทแห่งนี้จะซื้อถ่านหินจากเหมืองของตัวเองหรือจากเหมืองอื่น ๆ เพื่อส่งมอบให้ลูกค้า แต่ทำแค่ช่วงแรกเพื่อให้มี B/L (bill of lading)

หากเป็นจริงก็เท่ากับว่าเป็นกระบวนการที่ตั้งใจโกง ขณะที่ 7 พ.ย.ที่ผ่านมา สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ขยายระยะเวลาให้บริษัท EARTH ชี้แจงข้อมูลเกี่ยวกับความมีอยู่จริงของเหมืองถ่านหิน 2 แห่ง ในประเทศอินโดนีเซีย เป็นภายในเดือน พ.ย. 2561 และให้รายงานผลการทบทวนมูลค่ายุติธรรมของสิทธิในเหมืองถ่านหิน ภายในเดือน ธ.ค. 2561 จากเดิมที่ครบกำหนดในวันที่ 9 ต.ค. 2561 หลังจากบริษัท อีวาย คอร์ปอเรท แอดไวซอรี่ เซอร์วิสเซส จำกัด ในฐานะผู้ทำแผนฟื้นฟูกิจการของ EARTH ได้ยื่นขอ ก.ล.ต. ขยายระยะเวลาการนำส่งคำชี้แจงและข้อมูลที่เกี่ยวข้อง