กยศ.เผยมาตรการจูงใจผู้ชำระหนี้ปิดบัญชี เพิ่มเติม หวังลดเบี้ยปรับ 85% เปิดทางผู้กู้ชำระปิดบัญชี

กยศ.ตอบแทนกลุ่มผู้กู้ยืมที่ไม่เคยผิดนัดชำระหนี้และผู้กู้ยืม ที่อยู่ในช่วงปลอดหนี้ หากปิดบัญชีจะได้ลดหย่อนหนี้ 3% ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป พร้อมออกมาตรการจูงใจชั่วคราวสำหรับผู้กู้ยืมที่ผิดนัดชำระหนี้ หากปิดบัญชีจะได้ลดเบี้ยปรับ 85% ตั้งแต่บัดนี้ถึง 31 พ.ค. 62 เท่านั้น

นายชัยณรงค์ กัจฉปานันท์ ผู้จัดการกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) เปิดเผยว่า ขณะนี้คณะกรรมการกองทุนฯ ได้ออกระเบียบเพื่อให้สิทธิสำหรับกลุ่มผู้กู้ยืมปกติที่ไม่เคยผิดนัดชำระหนี้ ซึ่งถือว่าเป็น ผู้กู้ยืมชั้นดี หรือผู้กู้ยืมที่อยู่ในช่วงปลอดหนี้และมีความตั้งใจในการส่งต่อโอกาสทางการศึกษาให้กับรุ่นน้อง ก่อนกำหนด หากมาชำระหนี้ปิดบัญชีจะได้รับการลดหย่อนเงินต้น 3% ณ วันที่ชำระหนี้ปิดบัญชี ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป ซึ่งเป็นไปตามระเบียบคณะกรรมการกองทุน ว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขในการผ่อนผันการชำระเงินคืนกองทุน ลดหย่อนหนี้ หรือระงับการเรียกให้ชำระหนี้ พ.ศ. 2561 ซึ่งระบบจะทำการลดหนี้ให้อัตโนมัติ เมื่อผู้กู้ยืมติดต่อชำระหนี้ปิดบัญชีที่หน้าเคาน์เตอร์ของธนาคารกรุงไทยหรือธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย

นอกจากนี้คณะกรรมการกองทุนฯ ยังได้มีมติอนุมัติมาตรการจูงใจให้ผู้กู้ยืมมาชำระหนี้ปิดบัญชีเพิ่มเติม สำหรับผู้กู้ยืมที่ผิดนัดชำระหนี้ทุกราย โดยจะลดเบี้ยปรับให้ 85% ของเบี้ยปรับ ณ วันที่ชำระหนี้ปิดบัญชี ระหว่างวันที่ 1 ธันวาคม 2561 – 31 พฤษภาคม 2562 เท่านั้น เนื่องจากกองทุนเห็นว่ามีผู้กู้ยืมและผู้ค้ำประกันจำนวนไม่น้อยมีความต้องการจะปลดภาระหนี้ของตน แต่ไม่สามารถชำระหนี้ได้ เนื่องจากมีเบี้ยปรับที่เกิดจากการค้างชำระหนี้จำนวนมาก ทั้งนี้ มาตรการดังกล่าวเป็นแนวคิดที่คณะกรรมการได้พิจารณาอย่างรอบคอบ มาระยะหนึ่งแล้ว กองทุนหวังว่ามาตรการนี้จะช่วยกระตุ้นให้ผู้กู้และผู้ค้ำประกันตัดสินใจชำระปิดบัญชี เพื่อปลดภาระหนี้ของตนเองได้เร็วขึ้น รวมถึงได้ร่วมส่งต่อโอกาสทางการศึกษาให้นักเรียน นักศึกษารุ่นน้อง พร้อมได้รับสิทธิประโยชน์ตามมาตรการจูงใจดังกล่าว

นายชัยณรงค์กล่าวว่า สำหรับสถานะผู้กู้ยืมในปัจจุบันที่อยู่ระหว่างการชำระหนี้ จำนวน 3,668,861 ราย คิดเป็น 64% โดยเป็นผู้กู้ที่มีการผ่อนชำระหนี้ตามปกติ จำนวน 1,329,394 ราย คิดเป็น 40% และผู้กู้ที่ผิดนัดชำระหนี้ จำนวน 2,339,467 ราย คิดเป็น 60% ผู้กู้ที่อยู่ในช่วงปลอดหนี้ จำนวน 885,662 ราย คิดเป็น 20% ผู้กู้ที่ชำระหนี้เสร็จสิ้น จำนวน 904,888 ราย คิดเป็น 15% ผู้กู้ที่เสียชีวิต/ทุพพลภาพ จำนวน 54,324 ราย คิดเป็น 1% ปัจจุบันทาง กยศ.ดำเนินคดีในกรณีที่ผู้กู้ยืมผิดนัดชำระหนี้ ประมาณ 1,000,000 คดี โดยทุกคดีที่ดำเนินการฟ้องจะถูกเข้ากระบวนการบังคับคดีทั้งหมด นอกจากนี้ กยศ.ดำเนินการให้กู้ยืม จำนวน 5,500,000 ราย เป็นเงินให้กู้ยืม จำนวน 583,000 ล้านบาท และหนี้เสีย จำนวน 75,000 ล้านบาท

“ที่ผ่านมา กยศ.ใช้เงินจากงบประมาณ จำนวน 30,000 ล้านบาทต่อปี แต่ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา เรามีระบบติดตามการชำระหนี้ที่ดีขึ้นจึงไม่จำเป็นต้องใช้เงินงบประมาณ สำหรับผลการชำระหนี้ในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา จำนวน 5,000 ล้านบาท โดยปัจจุบันมีผลการชำระหนี้ จำนวน 26,000 ล้านบาท คาดว่าภายในปีนี้ กยศ.สามารถรับชำระหนี้ได้ จำนวน 30,000 ล้านบาท ซึ่งรอบการชำระหนี้ในช่วงเดือน ต.ค.-พ.ย. 61 มีผลการชำระหนี้เพิ่มขึ้น 18% จากปีก่อน

นอกจากนี้กรณีผู้กู้ยืมจบการศึกษาได้ 2 ปี กยศ.คิดอัตราดอกเบี้ยแก่ผู้กู้ยืม อยู่ที่ 1% ต่อปี ในกรณีที่ผู้กู้ยืมผิดนัดชำระหนี้ไม่เกิน 1 ปี คิดเบี้ยปรับ อยู่ที่ 12% ในขณะเดียวกันกรณีที่ผู้กู้ยืมผิดนัดชำระหนี้เกิน 1 ปีขึ้นไป คิดเบี้ยปรับ อยู่ที่ 18%

นอกจากนี้สาเหตุการชำระหนี้มี 3 สาเหตุ ประกอบด้วย 1.กลุ่มผู้ยากจนหรือขาดแคลนทุนทรัพย์ 2.กลุ่มขาดแคลนทางการเงินหรือขาดวินัยทางการเงิน โดยเป็นผู้กู้ยืมที่เรียนจบและมีงานทำแต่สร้างภาระหนี้เพิ่ม เช่น การซื้อรถยนต์ ที่อยู่อาศัย โทรศัพท์ ทำให้ไม่มีเงินหมุนเวียนมาชำระหนี้ กยศ. และ 3.กลุ่มขาดจิตสำนึกในการชำระหนี้ ซึ่งมีเงินแต่มองว่าไม่มีความจำเป็นต้องชำระหนี้ของ กยศ. โดยผู้ที่กู้ยืมผิดนัดชำระหนี้ทาง กยศ.จะส่งข้อความแจ้งเตือนเพื่อมาชำระหนี้ ในขณะเดียวกันหลังจากส่งข้อคามแจ้งเตือนยังไม่มีการชำระหนี้ทาง กยศ.จะส่งหนังสือทวงถามถึงการชำระหนี้ดังกล่าวและฟ้องดำเนินคดีต่อไป ในปัจจุบัน กยศ. มีหมายเลขโทรศัพท์จากลูกหนี้ผู้กู้ยืม จำนวน 3,000,000 เลขหมาย โดยที่ผ่านมามีสายโทรศัพท์ที่ติดต่อ กยศ. จำนวน 50,000 สายต่อเดือน ในขณะที่ปัจจุบันมีสายโทรศัพท์ติดต่อเพิ่มขึ้น จำนวน 200,000 สายต่อเดือน

โดยผู้กู้ยืมสามารถลงทะเบียนแจ้งขอใช้สิทธิลดเบี้ยปรับได้ตามเงื่อนไขที่ประกาศทางหน้าเว็บไซต์ กยศ. www.studentloan.or.th/discount/ หรือดาวน์โหลดแบบแจ้งความประสงค์ได้ที่ www.studentloan.or.th/discount-form/ และส่งแฟกซ์มายังเบอร์ 0 2016 4940 และ 0 2016 4950 หรือหากมีข้อสงสัยสามารถโทรศัพท์สอบถามเพิ่มเติมได้ที่เบอร์ 0 2016 4888 กด 9 หรือต่อ 550-580 และหมายเลขโทรศัพท์มือถือ 09 4212 6349 – 69 (20 หมายเลข) ทั้งนี้ กองทุนยังได้เพิ่มช่องทาง LINE@ เพื่อรองรับจำนวนผู้กู้ยืมที่ติดต่อเข้ามายังกองทุนเป็นจำนวนมากอีกด้วย โดยสามารถใช้ชื่อบัญชี LINE@กยศ.