ส่องพฤติกรรมการซื้อสินค้า ในอีก 5 ปีข้างหน้า

คอลัมน์ Smart SMEs

โดย สุรีรัตน์ ลีลาทวีวัฒน์ ธนาคารกสิกรไทย

ใคร ๆ ก็รู้แล้วว่า “online-platform” กลายเป็นช่องทางการตลาดและขายสินค้าออนไลน์ที่โดดเด่น และได้รับความสนใจอย่างมาก โดยหลังจากการรุกเข้ามาของกลุ่มผู้ประกอบการ e-Market place (ตลาดกลางค้าปลีกออนไลน์) ต่างชาติ โดยเฉพาะจีน รวมถึงการรุกตลาดออนไลน์อย่างจริงจังของผู้ประกอบการค้าปลีกสมัยใหม่ (modern trade) ในทุก ๆ online-platform จึงคาดว่าภาพรวมตลาด online-shopping ของไทยน่าจะมีแนวโน้มขยายตัวได้อย่างรวดเร็วและแข่งขันกันรุนแรงกว่าที่คิด !

ถึงแม้ว่าตลาด online-shopping จะเข้ามามีบทบาทต่อพฤติกรรมการเลือกซื้อสินค้าของผู้บริโภคในปัจจุบันมากขึ้น แต่ในอีก 5 ปีข้างหน้า ช่องทาง offline ก็ยังฆ่าไม่ตาย ผู้บริโภคยังมีการเลือกซื้อสินค้าผ่านทั้ง 2 ช่องทาง ขึ้นอยู่กับประเภทของสินค้าและอารมณ์ หรือความต้องการในขณะนั้น ดังนั้น จึงต้องทำธุรกิจค้าปลีกทั้ง 2 แพลตฟอร์มควบคู่กันไป หรือเป็นลักษณะของการบริหารจัดการและเชื่อมโยงธุรกิจค้าปลีกแต่ละช่องทางเข้าด้วยกัน (online to offline : O2O) อย่างเหมาะสม และต้องปรับตัวให้สามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้าให้ได้มากที่สุด เรามาดูกันดีกว่าว่าอีก 5 ปีข้างหน้า พฤติกรรมการเลือกซื้อสินค้าของผู้บริโภคจะเปลี่ยนไปอย่างไรบ้าง

1.กลุ่มสินค้าที่ขายผ่านช่องทาง online รุ่ง ยังคงเป็นกลุ่มสินค้าที่มีมูลค่าไม่สูงนัก หรือราคาถูกกว่าการจำหน่ายบนแพลตฟอร์มอื่น ๆ ซื้อง่ายและสะดวก ไม่ต้องใช้เวลาเยอะ ได้แก่ สินค้าแฟชั่น (เสื้อผ้า กระเป๋า รองเท้า) วิตามินและอาหารเสริม อุปกรณ์เสริมทางด้านไอที (หูฟัง เคสมือถือ สายชาร์จแบตมือถือ) รวมถึงเครื่องสำอางและน้ำหอม ดังนั้น ผู้ประกอบการธุรกิจค้าปลีกที่ขายสินค้ากลุ่มนี้ก็ควรจะหันมาทำตลาดบนแพลตฟอร์มออนไลน์เพิ่มขึ้น

2.กลุ่มสินค้าขายผ่านช่องทาง offline ที่ยังไปต่อได้ สินค้าที่ผู้บริโภคยังคงเลือกซื้อที่หน้าร้าน หรือผ่านช่องทาง offline ส่วนใหญ่เป็นสินค้าที่มีมูลค่าค่อนข้างสูง และผู้บริโภคต้องการสัมผัส จับต้องสินค้า หรือเลือกด้วยตนเองก่อนตัดสินใจซื้อ ได้แก่ อุปกรณ์ไอทีที่มีมูลค่าสูง (สมาร์ทโฟน สมาร์ทวอตช์) กลุ่มอาหารสด/แช่เย็น/แช่แข็ง เฟอร์นิเจอร์และของตกแต่งบ้าน รวมถึงเครื่องใช้ไฟฟ้า ถึงแม้ผู้ประกอบการในกลุ่มนี้จะยังขายสินค้าได้ แต่โจทย์ใหญ่ก็คือจะปรับตัวอย่างไรให้ธุรกิจแข่งขันได้ ท่ามกลางการรุกทำตลาดของผู้ประกอบการรายใหญ่ เนื่องจากตลาดค้าปลีกที่แข่งขันกันรุนแรง ทำให้ผู้ประกอบการ SMEs ไม่ควรหยุดนิ่งเพียงเท่านี้ ผู้ประกอบการต้องพยายามปรับตัวให้เป็น “next best choice” สำหรับลูกค้าอยู่เสมอ ๆ

Advertisment

เนื่องจากพฤติกรรมของลูกค้ามีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา โดยอาจจะเริ่มจากการปรับตัวเล็ก ๆ หรือเริ่มต้นจากสิ่งที่ตนเองถนัดก่อน เพื่อให้ลูกค้าเกิดความรู้สึกพิเศษต่อสินค้าหรือแบรนด์ หรือรู้สึกแตกต่างจากคู่แข่งรายอื่น ๆ หลังจากนั้น เมื่อธุรกิจเริ่มแข็งแกร่งขึ้นก็ค่อยขยับขยายไปสู่การให้บริการเสริมอื่น ๆ ในสเกลที่ใหญ่ขึ้นครับ

 

ไม่พลาดข่าวสารเศรษฐกิจ เจาะลึกทุกประเด็นทั้งภาครัฐ-เอกชน เพิ่มเราเป็นเพื่อนที่ Line ได้เลย พิมพ์ @prachachat หรือ คลิกลิงก์ https://line.me/R/ti/p/@prachachat

หรือจะสแกน QR Code ในรูป เราพร้อมเสิร์ฟข่าวเศรษฐกิจ-ธุรกิจถึงมือผู้อ่านทันที!

Advertisment