เวสต์เท็กซัส-เบรนท์ปรับขึ้น ขานรับการเจรจาการค้ารอบใหม่ระหว่างสหรัฐ-จีน

+ ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสและเบรนท์ปรับตัวเพิ่มขึ้นราวร้อยละ 2 หลังผู้เล่นในตลาดคลายความกังวลเกี่ยวกับสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน เนื่องจากทั้งสองประเทศเตรียมการเจรจาการค้ารอบใหม่ในช่วงวันที่ 7-8 ม.ค.นี้ อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำมันดิบได้รับแรงกดดันจากปริมาณน้ำมันสำเร็จรูปคงคลังสหรัฐฯ ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นมากกว่าคาดการณ์

+ คณะผู้แทนของรัฐบาลสหรัฐฯ เตรียมเดินทางไปประเทศจีนเพื่อเจรจาการค้ารอบใหม่ในช่วงวันที่ 7-8 ม.ค.นี้ หลังจากทั้งสองประเทศมหาอำนาจได้ชะลอการขึ้นภาษีนำเข้าของแต่ละประเทศเป็นเวลา 90 วัน

+ Baker Hughes รายงานตัวเลขแท่นขุดเจาะน้ำมันดิบในสหรัฐฯ ประจำสัปดาห์สิ้นสุด ณ วันที่ 4 ม.ค. 62 ปรับตัวลดลง 8 แท่น มาอยู่ที่ 877 แท่น ซึ่งถือเป็นการปรับลดลงครั้งแรกในรอบสามสัปดาห์ เนื่องจากผู้ผลิตในสหรัฐฯ เริ่มชะลอการขุดเจาะน้ำมันดิบลง หลังราคาน้ำมันดิบปรับตัวลดลงในช่วงเดือนที่ผ่านมา

– ราคาน้ำมันดิบลดช่วงบวกลง หลังสำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐฯ (EIA) เผยว่า ปริมาณน้ำมันเบนซินและดีเซลคงคลังปรับตัวเพิ่มขึ้น 6.9 และ 9.5 ล้านบาร์เรล ตามลำดับ ซึ่งมากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ว่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้นน้อยกว่า 2 ล้านบาร์เรล ซึ่งสาเหตุหลักมาจากโรงกลั่นน้ำมันในสหรัฐฯ ที่ยังเพิ่มอัตราการกลั่นน้ำมันดิบอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ค่อนข้างทรงตัว

ราคาน้ำมันเบนซิน ปรับตัวเพิ่มขึ้นมากกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ ได้รับแรงหนุนจากอุปทานน้ำมันเบนซินที่มีแนวโน้มปรับตัวลดลงหลังจีนเตรียมลดการส่งออกในเดือน ม.ค. ลง ประกอบกับความต้องการที่คาดการณ์ว่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้นก่อนเทศกาลตรุษจีน

ราคาน้ำมันดีเซล ปรับตัวเพิ่มขึ้นมากกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ หลังได้รับแรงหนุนจากอุปทานที่ปรับตัวลดลง หลังปริมาณการส่งออกจากอินเดียปรับตัวลดลง เนื่องจากโรงกลั่นในประเทศเตรียมที่จะปิดซ่อมบำรุง

ไทยออยล์คาดการณ์ราคาน้ำมันดิบในสัปดาห์นี้

ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสเคลื่อนไหวในกรอบ 45-50 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

ราคาน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวในกรอบ 55-60 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

ปัจจัยที่น่าจับตามอง

จับตาเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มขยายตัวช้ากว่าที่คาดการณ์ และอาจส่งผลให้ความต้องการใช้น้ำมันโตชะลอตัวลง หลังตัวเลขเศรษฐกิจของจีนและยูโรโซนอ่อนแอลง

ปริมาณน้ำมันดิบส่งออกของซาอุดิอาระเบียมีแนวโน้มปรับตัวลดลง หลังประเทศรายงานปริมาณการส่งออกน้ำมันดิบของซาอุดิอาระเบียยืนอยู่ที่ 7.253 ล้านบาร์เรลต่อวัน ในเดือนธ.ค. 61 ซึ่งปรับตัวลดลงจากในเดือนพ.ย. ที่ส่งออกอยู่ที่ 7.717 ล้านบาร์เรลต่อวัน