ดีลมหากาพย์ TMB-ธนชาต ชี้ชะตาควบรวม รอด-ล่ม ?

อภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.คลัง
นับถอยหลังดีลควบรวมแบงก์ธนชาตกับทีเอ็มบี (ธนาคารทหารไทย) ใกล้จะเห็นชัดขึ้นทุกที ซึ่งขั้นตอนหนึ่งที่สำคัญของความสำเร็จของดีลนี้คือการตั้งราคาหุ้นของแต่ละแบงก์ ที่ยอมรับได้ทั้งสองฝ่าย โดยใช้วิธีแลกเปลี่ยนหุ้นกันหรือที่เรียกว่า swap นั่นเอง

ประเด็นนี้มีสัญญาณชัดเจนหลังจากที่ขุนคลัง “อภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์” ให้สัมภาษณ์ “ประชาชาติธุรกิจ” เมื่อต้น ธ.ค. 2561 ที่ผ่านมาว่า มีผู้ถือหุ้นต่างชาติของธนาคารธนชาตมาหารือเกี่ยวกับการควบรวมกิจการ หลังจากนั้น 2 แบงก์นี้ก็ถูกเกาะติดกันมาต่อเนื่องถึงวันนี้

ปัจจุบัน (14 ม.ค. 62) ราคาหุ้นแบงก์ทหารไทยอยู่ที่ 2.16 บาท เคลื่อนไหวใกล้เคียงกับระดับมูลค่าทางบัญชี (BV) ที่อยู่ระดับ 2.21 บาท ขณะที่ P/BV (ราคาหุ้นต่อมูลค่าทางบัญชี) อยู่ที่ 0.98 เท่า ฝั่งแบงก์ธนชาตซึ่งมี บมจ.ทุนธนชาต (TCAP) ถือหุ้นใหญ่ ปัจจุบันราคาหุ้นอยู่ที่ 53.25 บาท ขณะที่มูลค่าทางบัญชี
55.38 บาท และ P/BV อยู่ที่ 0.95 เท่า

นายธนเดช รังษีธนานนท์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์บล.อาร์เอชบี (ประเทศไทย) กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ดีลควบรวมนี้คาดว่าธนชาตจะเป็นตัวหลักในการ swap หุ้นกับทีเอ็มบี ซึ่งปกติการทำดีลราคาหุ้นสวอปนั้นจะต้องพิจารณาสัดส่วนระหว่างราคาหุ้นกับมูลค่าทางบัญชีหุ้น (P/BV) โดยปัจจุบันหุ้นของทั้งสองแบงก์ซื้อขายอยู่ในระดับใกล้เคียงกัน อยู่ที่ 0.9 เท่า

แต่เนื่องจากผู้ถือหุ้นใหญ่ทีเอ็มบีคือ “กระทรวงการคลัง” ซึ่งมีต้นทุนอยู่ประมาณ 3.80 บาทต่อหุ้น ถ้าเทียบ book value จะอยู่ที่ 1.6 เท่า นั่นหมายความว่าการควบรวมกิจการที่แบงก์ธนชาตจะเป็นฝ่ายสวอปจะต้องแลกเปลี่ยนหุ้นที่ราคาไม่ต่ำกว่า 3.80 บาทต่อหุ้น เพราะคลังไม่สามารถขายหุ้นต่ำกว่าต้นทุนที่มีอยู่ได้แปลว่า P/BV ของหุ้นทีเอ็มบีจะอยู่ที่ 1.6 เท่า จะทำให้แบงก์ธนชาตมีต้นทุนที่สูงขึ้น และอาจต้องเพิ่มทุนมากขึ้นด้วย

“จริง ๆ แล้วแบงก์ไทยโดยเฉลี่ยไม่ได้ซื้อขายหุ้นระดับที่สูงขนาดนั้น ถ้าแบงก์ธนชาตจะสวอป เขาก็ต้องจ่ายแพงขึ้น” 

อีกตัวแปรสำคัญคือผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของทั้ง 2 แบงก์ อย่างทีเอ็มบีคือกระทรวงการคลังถือหุ้น 25.92% และ “ING BANK N.V.” ถือหุ้น 25.02% ส่วนธนาคารธนชาตได้แก่ บมจ.ทุนธนชาต 50.96% และอีก 48.99% ถือโดย Scotia Netherlands Holdings B.V. (สโกเทีย) ที่น่าจะคุยยากที่สุดคือ “กระทรวงการคลัง” ซึ่งขณะนี้ยังไม่รู้ว่าจะเข้าไปอยู่ภายใต้องค์กรใหม่หรือจะขายหุ้นออกไป

“ถ้าเข้าไปอยู่ในองค์กรใหม่ จะต้องลดสัดส่วนลงพอสมควร เพราะถ้าควบรวมกันแล้ว แบงก์จะมีขนาดใหญ่ขึ้นเท่าตัว ฉะนั้นตอนนี้มีข้อยุ่งยากอยู่ที่คลัง” นายธนเดชกล่าว

ผลจากการควบรวม 2 แบงก์คือ จะทำให้แบงก์มีขนาดใหญ่ขึ้น และต้นทุนดำเนินงานที่ลดลงทั้งในแง่สาขาและคนที่ทับซ้อนกัน แต่เรื่องระบบเทคโนโลยีอาจจะยังตอบไม่ได้ เพราะแต่ละแบงก์จะมีระบบเครือข่ายของตัวเอง ซึ่งหากควบรวมกันได้จริงก็จะเห็นการลงทุนเพิ่มในส่วนของเทคโนโลยีให้อยู่บนแพลตฟอร์มเดียวกัน

ปัจจุบันธนาคารธนชาตเป็นเจ้าตลาดสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ ซึ่งมีฐานลูกค้ารายย่อยจำนวนมาก ขณะที่ทีเอ็มบีโดดเด่นด้านบริการทางการเงินที่ทันสมัยผ่านเทคโนโลยีจัดเป็นดิจิทัลแบงกิ้งที่เด่นที่สุดในแบงก์ขนาดกลาง ขณะที่ธนชาตมีสาขา515 สาขา และทีเอ็มบี 417 สาขา หาก 2 แบงก์นี้รวมกันจะมีสินทรัพย์กว่า 1.84 ล้านล้านบาท ส่วนเงินฝาก 1.39 ล้านล้านบาท และสินเชื่ออยู่ที่ 1.32 ล้านล้านบาท หากจัดอันดับก็ยังคงอยู่อันดับ 6 เท่าตำแหน่งเดิมของธนชาต เป็นรองแบงก์กรุงศรีอยุธยาที่อยู่อันดับ 5

ขณะที่นายประภาศ คงเอียด ผู้อำนวยการ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ดีลรวมกิจการ “ทีเอ็มบีกับธนชาต” กระทรวงการคลังคาดหวังให้ได้ข้อสรุปภายในสิ้นเดือน ม.ค.นี้ ว่า ดีลจะไปต่อหรือไม่

ขณะนี้ยังอยู่ระหว่างรอข้อเสนอจากฝั่งเอกชนที่เจรจากันอยู่ ว่าจะออกมาเป็นอย่างไร ซึ่งไม่ว่าจะออกมาแบบใด จะต้องตอบสาธารณะได้ว่า รัฐจะได้อะไร

“ต้องดูว่ารวมกันแล้ว รัฐต้องไม่เสียประโยชน์ ซึ่งนโยบายตอนนี้ กระทรวงการคลังยังไม่ได้คิดถึงการขายหุ้นทีเอ็มบีทั้งหมด แต่ถ้าสัดส่วนจะลดลงไป รมว.คลังก็บอกว่า ถ้าดูแล้วในระยะยาวได้ประโยชน์ก็ไม่มีปัญหา” นายประภาศกล่าว

ส่วนโอกาสที่ดีลจะล่มหรือไม่นั้น นายประภาศกล่าวว่า ตอนนี้ถือว่าทุกอย่างยังมีความเป็นไปได้

อย่างไรก็ตาม มีคนในวงการคลังชี้ว่า สถานการณ์ของดีลรวม “ธนชาต-ทีเอ็มบี” ขึ้นกับต่างชาติ “สโกเทีย” กับ”ไอเอ็นจี” จะต่อรองกันได้ลงตัวหรือไม่

เพราะปกติของการทำดีลควบรวมกิจการความยากลำบากสุดคือเวลาเจรจาราคาหุ้นที่จะแลกกันไม่สำเร็จ โดยเฉพาะธุรกิจธนาคารพาณิชย์เพราะความเสี่ยงที่ต้องแบกรับหลังจากแต่ละฝั่งต้องแก้ผ้าให้อีกฝั่งหนึ่งเข้าไปตรวจสอบทรัพย์สินหนี้สินและทุน รวมถึงภาระต่าง ๆ ที่มีในวันข้างหน้า ไม่ว่าจะเป็นอาทิ ปัญหาหนี้เสียภาระตั้งสำรอง การแข่งขันที่เข้มข้นทั้งด้านราคาและเทคโนโลยีที่ไล่ล่าธุรกิจแบงก์อยู่ทุกวันนี้ วัฒนธรรมองค์กร และกฎระเบียบปฏิบัติต่าง ๆ ของหน่วยงานกำกับดูแล

ถึงแม้ว่าการรวมกันของ 2 แบงก์จะหมายถึงการรวมจุดแข็งของแต่ละแบงก์เพื่อมาเสริมเติมเต็มให้กันและกัน และทำให้มีขนาดใหญ่ขึ้นและมีประสิทธิภาพในการดำเนินงานได้มากขึ้นพร้อมจะสยายปีกออกไปสู้เจ้าตลาดที่สตรองอยู่แล้ว ซึ่งสิ่งเหล่านี้ก็เป็นต้นทุนหนึ่งเหมือนกัน

แต่หากดีลนี้สำเร็จ คลังก็จะได้ถือหุ้นของแบงก์ที่มีขนาดใหญ่ขึ้น และราคาหุ้นที่ดูจะดีกว่าที่ถือหุ้น “ทีเอ็มบี” เพียว ๆ แล้วหลังจากนั้น กระทรวงการคลังอยากจะถอยออกจากหุ้นแบงก์ หรือขายหุ้นออกก็น่าจะง่ายขึ้นกว่าปัจจุบันที่มีต้นทุนสูงค้ำคออยู่

 

ไม่พลาดข่าวสารเศรษฐกิจ เจาะลึกทุกประเด็นทั้งภาครัฐ-เอกชน เพิ่มเราเป็นเพื่อนที่ Line ได้เลย พิมพ์ @prachachat หรือ คลิกลิงก์ https://line.me/R/ti/p/@prachachat 

หรือจะสแกน QR Code ในรูป เราพร้อมเสิร์ฟข่าวเศรษฐกิจ-ธุรกิจถึงมือผู้อ่านทันที!