บล.ไทยพาณิชย์ ปรับเป้าดัชนีใหม่ที่ 1,800 จุด

บล.ไทยพาณิชย์ ปรับเป้าดัชนีหุ้นไทยใหม่อีกครั้งที่ 1,800 จุด หลังเศรษฐกิจโลกเติบโตชะลอ – ลุ้นฟันด์โฟลว์ช่วยหนุนเศรษฐกิจไทย

นายสุกิจ อุดมศิริกุล กรรมการผู้จัดการ สายงานวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ไทยพาณิชย์ จำกัด เปิดเผยภาพรวมเศรษฐกิจโลกปี 2562 ประเมินว่าเศรษฐกิจโลกจะเข้าสู่ภาวะการเติบโตแบบชะลอตัว ซึ่งภาวะดังกล่าวคาดว่าจะต่อเนื่องไปจนถึงปี 2563

ท่ามกลางความกังวลของนักลงทุนต่อเศรษฐกิจที่จะเข้าสู่ภาวะถดถอย บริษัทฯ มองว่า โอกาสที่จะเกิดเศรษฐกิจถดถอยมีค่อนข้างน้อย ด้วยข่าวสารที่เข้าถึงผู้คนได้มากขึ้น รวมถึงนโยบายทางการเงินของแต่ละประเทศที่ค่อนข้างครอบคลุมและระมัดระวังต่อการขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจ ดังนั้นโอกาสที่เศรษฐกิจจะเข้าสู่ภาวะถดถอยในปี 2562 – 2563 จึงมีค่อนข้างน้อย

ขณะเดียวกันปัจจัยที่ยังน่ากังวล คือ ความไม่แน่นอนของการดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจของประธานาธิบดีสหรัฐฯ นอกจากนี้ กรณีข้อพิพาททางการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีน คาดว่าจะยังไม่คลี่คลายคงในเร็วๆ นี้ แต่อาจไม่ส่งผลกระทบรุนแรงเหมือนช่วงที่ผ่านมา โดยปัจจัยที่น่าติดตามถัดจากข้อพิพาททางการค้า คือ สงครามทางเทคโนโลยี (Tech War) ที่ผ่านมาความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีของจีนได้เติบโตอย่างรวดเร็ว ทำให้สหรัฐฯ เริ่มจับตาความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีของจีนมากขึ้น

ด้านการแยกตัวของสหราชอาณาจักรออกจากสหภาพยุโรป (Brexit) หากอังกฤษออกจากสหภาพยุโรปโดยไม่มีข้อตกลงหลังแยกตัว จะส่งผลให้ราคาสินทรัพย์และค่าเงินปอร์นของอังกฤษปรับลดลงราว 20-30% ดังนั้น ประเมินว่าโอกาสในการแยกตัวออกมาแบบไม่มีข้อตกลงมีค่อนข้างน้อย โดยบริษัทฯ ประเมินว่าจะมีการเลื่อนระยะเวลาการทำข้อตกลงออกไปก่อน ขณะเดียวกันประเมินว่าโอกาสที่อังกฤษจะไม่แยกตัวออกจากสหภาพยุโรปมีค่อนข้างสูง ด้วยเศรษฐกิจที่ไม่ค่อยดีมากนัก การแยกตัวอาจส่งผลให้การเติบโตของเศรษฐกิจอังกฤษชะลอลง

ส่วนน้ำหนักการลงทุนในปี 2562 การลงทุนในหุ้นไทยมีความเสี่ยงเช่นกัน แต่ปลอดภัยกว่าการลงทุนในหุ้นต่างประเทศ โดยประเมินว่ามีโอกาสที่อัตราผลตอบแทน (Dividend Yield) มีแนวโน้มสูงขึ้นกว่าปี 2561 ที่ตลาดหุ้นปรับตัวลดลงค่อนข้างหนัก รวมถึงได้บรรยากาศ (sentiment) เชิงบวกจากการเลือกตั้ง อย่างไรก็ตาม ผลการเลือกตั้งเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ต้องติดตามต่อ

หากพิจารณาปัจจัยพื้นฐานนอกเหนือจากการเมือง เช่น ผลประกอบการ เป็นต้น มูลค่าหุ้น (Valuation) ไทยปรับลดลงมา และต่ำกว่าที่ควรจะเป็น ดังนั้นจึงคาดว่าหุ้นไทยจะยังสามารถเติบโตได้ต่อ โดยหุ้นไทยในปี 2561 เผชิญความผันผวนของราคาน้ำมันดิบโลกค่อนข้างมาก ซึ่งกระทบต่อผลประกอบการของหุ้นกลุ่มพลังงาน ที่เป็นกลุ่มที่มีน้ำหนักในตลาดสูง อย่างไรก็ตาม ธุรกิจอื่นนอกเหนือจากพลังงานไม่ได้รับผลกระทบต่อผลประกอบการในไตรมาส 4/61 ที่ผ่านมา

ส่วนน้ำหนักการลงทุนในหุ้นต่างประเทศ ปัจจุบันตลาดหุ้นสหรัฐฯ กำลังปรับฐาน โดยเฉพาะหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีที่ผลประกอบการถูกปรับประมาณการลง จึงยังไม่ใช่เวลาที่ดีที่จะเข้าไปลงทุน ขณะที่หุ้นในกลุ่มตลาดประเทศเกิดใหม่ (Emerging Market) ได้เปรียบในแง่ที่ราคาหุ้นปรับลดลงมา หลังได้รับผลกระทบจากที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย โดยปัจจุบันมีแนวโน้มฟื้นกลับขึ้นมา ดังนั้น หุ้นไทย หุ้น EMs หุ้นเอเชีย รวมถึงหุ้นจีน โดยประเมินว่าอาจมีการปรับขึ้นมาได้ในระยะสั้น หากการเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีนออกมาไม่แย่ลงกว่าเดิม

ด้านกลยุทธ์การลงทุน บล.ไทยพาณิชย์ ยังคงลงทุนแบบระมัดระวัง โดยประเมินว่าภาวะในปัจจุบันยังมีความเสี่ยงที่จะผัวผวนไปในทางที่ทั้งดีและแย่ ซึ่งบริษัทฯ มองว่าเป็นโอกาสที่จะทำกำไรได้ในช่วงระยะเวลานี้

ส่วนปัจจัยเสี่ยงต่างๆ กระจุกตัวอยู่ไตรมาส 1/62 ได้แก่ การแยกตัวของสหราชอาณาจักรออกจากสหภาพยุโรป (Brexit) ข้อพิพาททางการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีน การขึ้นดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) และราคาน้ำมันดิบ จึงประเมินว่าไตรมาส 1/62 จะเป็นไตรมาสที่ไม่ดีที่สุดจากทั้งปี

อย่างไรก็ตาม คาดว่าดัชนีหุ้นไทยจะสามารถปรับขึ้นได้ในไตรมาส 2/62 อย่างไรก็ตาม ประเมินว่าดัชนีหุ้นอาจปรับขึ้นได้ไม่สูงมากหากไม่มีเม็ดเงินต่างชาติ (Fund Flow) ไหลกลับเข้ามา จึงประเมินเป้าดัชนีในปีนี้ว่า หากมีฟันด์โฟลว์ช่วยหนุนคาดว่าดัชนีหุ้นไทยจะแตะ 1,800 จุดขึ้นไปได้ ในทางตรงกันข้าม หากฟันด์โฟลว์ไหลเข้ามาค่อนข้างน้อยคาดว่าดัชนีอยู่ที่บริเวณ 1,700 – 1,800 จุด ซึ่งเป็นการปรับเป้าดัชนีใหมา หลังเคยตั้งเป้าดัชนีไว้ที่ 2,000 จุด