ค่าเงินบาทแข็งค่า คาดการณ์เฟดคงดอกเบี้ย

แฟ้มภาพ

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า ภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันอังคารที่ 29 มกราคม 2562 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (29/1) ที่ระดับ 31.54/31.56 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ทรงตัวจากระดับปิดตลาดในวันจันทร์ (28/1) ที่ระดับ 31.53/31.55 บาท/ดอลลาร์ ท่ามกลางการอ่อนค่าของดอลลาร์สหรัฐ เทียบกับสกุลเงินอื่น ๆ ภายหลังจากประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ได้กล่าวว่า เขาไม่เชื่อมั่นว่าสภาคองเกรสจะสามารถบรรลุข้อตกลงในการจัดสรรงบประมาณสร้างกำแพงกั้นชายแดนเม็กซิโก วงเงิน 5.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ได้ตามที่เขาต้องการ นอกจากนี้เขายังคิดว่า โอกาสที่สภาคองเกรสจะบรรลุข้อตกลงดังกล่าว มีน้อยกว่า 50% ก่อนที่งบประมาณสำหรับหน่วยงานรัฐบาลจะสิ้นสุดลงในวันที่ 15 กุมภาพันธ์นี้ และมีโอกาสสูงที่สภาวะชัตดาวน์จะกลับมายืดเยื้ออีกครั้ง ซึ่งอาจกดดันให้ทรัมป์ต้องใช้อำนาจประธานาธิบดีในการประกาศภาวะฉุกเฉินแห่งชาติ และออกกฎหมายอนุมัติงบประมาณสร้างกำแพงกั้นชายแดนเม็กซิโกเองโดยที่ไม่ต้องผ่านการอนุมัติจากสภาคองเกรส หลังจากผลของกฎหมายดังกล่าวหมดอายุลง

นอกจากนี้ ดอลลาร์สหรัฐยังได้รับแรงกดดันจากการคาดการณ์ว่า ธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) จะคงอัตราดอกเบี้ยในการประชุม 2 วัน ระหว่างวันที่ 29-30 มกราคม โดยเป็นที่คาดว่า Fed จะยังคงมีมุมมองความกังวลเกี่ยวกับสภาวะเศรษฐกิจสหรัฐ รวมถึงเศรษฐกิจโลก สำหรับปัจจัยภายในประเทศ สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (PMI) ในเดือนธันวาคม 2561 อยู่ที่ 112.54 ขยายตัว 0.75% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยได้รับอานิสงส์จากการขยายตัวของอุตสาหกรรมยานยนต์ที่เติบโตได้ดี ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินบาทอ่อนค่าขึ้น โดยเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 31.50-31.60 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนปิดตลาดที่ระดับ 31.52/54 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโร ค่าเงินยูโรเปิดตลาดเช้าวันนี้ (29/1) ที่ระดับ 1.1425/27 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร แข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันจันทร์ (28/1) ที่ระดับ 1.1406/08 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ภายหลังการอ่อนค่าของดอลลาร์สหรัฐ ทั้งนี้ นายมาริโอ ดรากี ประธานธนาคารกลางยุโรป ได้แถลงต่อรัฐสภายุโรปเมื่อคืนวันที่ 28 มกราคม ว่าเศรษฐกิจยูโรโซน ยังคงได้รับแรงกดดันจากความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลก ที่เป็นปัจจัยกดดันให้ความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจลดลง รวมถึงอุปสงค์ที่ซบเซาในต่างประเทศและในบางภาคอุตสาหกรรม สภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลง อาจกดดันให้ธนาคารกลางยุโรป (ECB) อาจกลับมาทำการซื้อพันธบัตรตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) หากมีความจำเป็น หลังจากได้ประกาศยุติไปเมื่อเดือนก่อน สำหรับระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.1421-1.1450 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.13166/67 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยน ค่าเงินเยนเปิดตลาดเช้าวันนี้ (29/1) ที่ระดับ 109.18/19 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวแข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันจันทร์  (28/1) ที่ 109.40/42 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ตามการอ่อนค่าของดอลลาร์สหรัฐเช่นกัน นอกจากนี้ รัฐบาลญี่ปุ่นได้เปิดเผยรายงานเศรษฐกิจประจำเดือนมกราคม 2562 ว่าเศรษฐกิจญี่ปุ่นมีแนวโน้มขยายตัวในระยะเวลายาวนานที่สุดนับตั้งแต่สิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 ท่ามกลางอุปสงค์ในประเทศที่แข็งแกร่งและตลาดแรงงานที่ตึงตัว สำหรับระหว่างวันค่่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 109.14-109.44 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 109.44/45 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ดัชนีสำคัญทางเศรษฐกิจของสหรัฐในสัปดาห์นี้ ได้ก่ ตัวเลขจ้างงานภาคเอกชนเดือน ม.ค. จาก ADP (30/1) คณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (FOMC) แถลงมติอัตราดอกเบี้ย (30/1) จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ (31/1) ตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตรเดือน ม.ค. (1/2) ดัชนีผู้จัดการฝายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตเดือน ม.ค.จากมาร์กิต (1/2) ดัชนีภาคการผลิตเดือน ม.ค. จากสถาบันจัดการด้านอุปทานของสหรัฐ (ISM) (1/2)

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ -2.10/-1.685 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยง ภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ -0.75/-0.25 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ

 

ไม่พลาดข่าวสารเศรษฐกิจ เจาะลึกทุกประเด็นทั้งภาครัฐ-เอกชน เพิ่มเราเป็นเพื่อนที่ Line ได้เลย พิมพ์ @prachachat หรือ คลิกลิงก์ https://line.me/R/ti/p/@prachachat 

หรือจะสแกน QR Code ในรูป เราพร้อมเสิร์ฟข่าวเศรษฐกิจ-ธุรกิจถึงมือผู้อ่านทันที!