สรุป 11 เหตุการณ์สำคัญ ตลาดตราสารหนี้ไทยในรอบปี 2561

คอลัมน์ สถานีลงทุน
โดย ศิรินารถ อมรธรรม สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย

ในปี 2561 ที่ผ่านมา มีหลายเหตุการณ์สำคัญของตลาดตราสารหนี้ไทยที่ควรบันทึกไว้ ดังนี้

1.อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทย หรือ government bond yield 10 ปีของไทยลดลงต่ำกว่า bond yield ของสหรัฐเมื่อวันที่ 9 ม.ค. 2561 และต่อเนื่องยาวนานจนถึงปัจจุบัน ซึ่งถือเป็นปรากฏการณ์ที่มีโอกาสเกิดขึ้นน้อยมากที่ bond yield ของตลาด emerging market (EM) จะต่ำกว่าตลาดพัฒนาแล้ว

2.ก.ล.ต.ปรับปรุงหลักเกณฑ์การออกตราสารหนี้ใหม่ ซึ่งจำกัดการเสนอขายตั๋วบี/อีของบริษัทเอกชนเฉพาะต่อนักลงทุนสถาบันและในวงจำกัดไม่เกิน 10 ฉบับ (PP 10) เริ่มมีผลบังคับใช้ 1 เม.ย. 2561 ส่งผลให้มูลค่าการออกตราสารหนี้ระยะสั้นภาค real sector ทั้งปีลดลง 7% เป็นการลดลงจากการออกตั๋ว B/E กว่า 21% (98 พันล้านบาท) โดยหันไปออกหุ้นกู้เพิ่มขึ้น 63% (56 พันล้านบาท)

3.bond yield สหรัฐอายุ 10 ปี ปรับตัวขึ้นแตะ 3% เป็นครั้งแรกในรอบ 7 ปี เมื่อ 24 เม.ย. 2561 ส่งผลให้เกิดความผันผวนของตลาดทุนทั่วโลก แต่สำหรับตลาดตราสารหนี้ไทย bond yield ไทย 10 ปีก็ไม่ได้ขยับตามสักเท่าไหร่ fund flow ในเดือนเมษายนพบว่ามีการขายสุทธิในตราสารหนี้ระยะสั้นเท่านั้น แต่ยังคงมีการซื้อสุทธิในตราสารหนี้ระยะยาว

4.ธนาคารทหารไทย (TMB) ออก green bond มูลค่า USD 60 ล้านในเดือนมิถุนายน เป็นธนาคารพาณิชย์แห่งแรกของไทยที่ออก green bond โดยเป็นการจำหน่ายทั้งจำนวนแก่ IFC

5.ค่าเงิน Lira ของตุรกีอ่อนค่าลงอย่างหนักจากวิกฤตเศรษฐกิจและการเมืองในประเทศช่วงเดือน ส.ค. ส่งผลให้เกิดความกังวลต่อเนื่องไปยังค่าเงินและตลาดการเงินของประเทศ EM ต่าง ๆ ขณะที่ไทยมีการขาย bond ของนักลงทุนต่างชาติเพียงไม่กี่วันเท่านั้นก็กลับมาซื้อสุทธิอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ ส.ค.ถึงปลายปี

6.ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) ออกหุ้นกู้เพื่อความยั่งยืน (sustainability bond) มูลค่ารวม USD 100 ล้านในเดือนตุลาคม เป็นธนาคารพาณิชย์แห่งแรกของไทยและอาเซียน โดยเสนอขายแก่นักลงทุนต่างประเทศในฮ่องกง

7.นักลงทุนต่างชาติถือครองตราสารหนี้ไทยรวมมูลค่าสูงสุดเป็นประวัติการณ์ทะลุ 1 ล้านล้านบาท ไปอยู่ที่ 1,002,499 ล้านบาท ณ สิ้นเดือนพฤศจิกายน ก่อนจะย่อต่ำลงมาอยู่ที่ 985,773 ล้านบาท ณ สิ้นปี 2561 หรือเท่ากับร้อยละ 11.8 ของมูลค่าคงค้างรวมพันธบัตรรัฐบาลและ ธปท. โดยมีกระแสเงินทุนไหลเข้าสุทธิทั้งปีที่ 133,764 ล้านบาท ซึ่งเป็นการเข้าซื้อสุทธิในตราสารหนี้ของภาครัฐระยะยาว (239,255 ล้านบาท) และไหลออกจากตราสารหนี้ภาครัฐระยะสั้นที่ถือจนครบกำหนดรวมกับการซื้อสุทธิ (-105,878 ล้านบาท)

8.บริษัท บี.กริม เพาเวอร์ (BGRIM) ออก green bond มูลค่า 5,000 ล้านบาทในเดือนธันวาคมเป็นรายแรกของบริษัทเอกชนไทยที่ได้รับการรับรองจาก Climate Bonds Initiative ซึ่งเป็นมาตรฐาน green bond ระดับสากล

9.กนง.มีมติปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายเป็นครั้งแรกในรอบ 7 ปี จากร้อยละ 1.50 เป็นร้อยละ 1.75 ต่อปี ในวันที่ 19 ธ.ค. 2561 ซึ่งธนาคารกลางสหรัฐก็ได้ปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายขึ้นเช่นกัน และนับเป็นครั้งที่ 4 ในรอบปี ส่งผลให้ภายหลังการประกาศขึ้นดอกเบี้ยจนถึงปลายปี bond yield ไทยรุ่นอายุต่ำกว่า 1 ปี ปรับตัวขึ้น 3-12 Bps ส่วนรุ่นอายุตั้งแต่ 2-10 ปี กลับปรับตัวลง 4-12 Bps 2-10 spread ของไทยจึงลดลงเหลือ 70 Bps ณ สิ้นปี จาก 108 Bps เมื่อตอนต้นปี

10.ก.ล.ต.ออกเกณฑ์การเสนอขาย green bond เมื่อวันที่ 31 ธ.ค. 2561 โดยกำหนดให้เปิดเผยข้อมูลเพิ่มเติม เช่น วัตถุประสงค์การใช้เงิน กระบวนการคัดเลือกโครงการลงทุน และการบริหารเงินจากการระดมทุน เป็นต้น เพื่อให้สอดรับกับมาตรฐานสากล

สำหรับภาวะตลาดตราสารหนี้ไทยในปี 2561 ที่ผ่านมา ยังคงเติบโตได้ดีมีมูลค่าคงค้างรวมทะลุ 13 ล้านล้านบาทเป็นครั้งแรก โดยเพิ่มขึ้นร้อยละ 11.5 จาก 11.71 ล้านล้านบาทในปีก่อนหน้ามาอยู่ที่ 13.06 ล้านล้านบาท ส่วนตราสารหนี้ภาคเอกชนระยะยาว มียอดการออกทะลุ 8 แสนล้านบาทติดต่อกันเป็นปีที่ 3 โดยในปี 2561 มียอดการออกสูงสุดทำลายสถิติที่ 878,990 ล้านบาท เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 6.2 จากปีก่อนหน้านี้

ส่วนทิศทางอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลในปี 2562 นี้ นายธาดา พฤฒิธาดา กรรมการผู้จัดการสมาคมตลาดตราสารหนี้ไทยมีความเห็นว่า อัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะสั้นจะเคลื่อนไหวอยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกับดอกเบี้ยนโยบายที่คาดว่าจะทรงตัวในระดับร้อยละ 1.75 ตลอดทั้งปี ส่วนอัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาวจะแกว่งตัวแคบ ๆ อยู่ในระดับใกล้เคียงกับปัจจุบัน จากอัตราเงินเฟ้อของไทยยังอยู่ในระดับต่ำ และเศรษฐกิจโลกที่ถูกกดดันจากสงครามการค้า

 

 

ไม่พลาดข่าวสารเศรษฐกิจ เจาะลึกทุกประเด็นทั้งภาครัฐ-เอกชน เพิ่มเราเป็นเพื่อนที่ Line ได้เลย พิมพ์ @prachachat หรือ คลิกลิงก์ https://line.me/R/ti/p/@prachachat

หรือจะสแกน QR Code ในรูป เราพร้อมเสิร์ฟข่าวเศรษฐกิจ-ธุรกิจถึงมือผู้อ่านทันที!