สรรพากรชี้แก้ 2 กม.ภาษีแป้ก ขยายฐานเงินได้ซื้อขายอสังหา-อีบิสซิเนส

ปิ่นสาย สุรัสวดี

สรรพากรทำใจแก้กฎหมายขยายฐานภาษีแป้ก 2 ฉบับ ทั้งร่างที่ปรับให้บุคคลธรรมดาต้องใช้ราคาซื้อขายอสังหาฯจริงเป็นฐานคำนวณภาษี รวมถึงร่างกฎหมายอีบิสซิเนสที่จะจัดเก็บ VAT จากแพลตฟอร์มต่างประเทศ ขณะที่การเก็บภาษีลงทุนตราสารหนี้ผ่านกองทุนรวมผ่าน สนช.แล้ว รอลงราชกิจจานุเบกษา

แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลังเปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า สำหรับร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) แก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร เรื่องการกำหนดฐานภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในการโอนกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองในอสังหาริมทรัพย์ ตามมาตรา 49 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร มีแนวโน้มจะต้องตกไปในรัฐบาลชุดปัจจุบันนี้แล้ว เนื่องจากปัจจุบันยังอยู่ในขั้นการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา และไม่มีทีท่าว่าจะถูกหยิบยกมาพิจารณาให้แล้วเสร็จ แม้ว่าร่างกฎหมายฉบับนี้จะผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) ไปตั้งแต่กว่า 2 ปีก่อน หรือเมื่อวันที่ 18 ต.ค. 2559 แล้วก็ตาม

ทั้งนี้ ร่างกฎหมายดังกล่าวเป็นการกำหนดให้คำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจากการซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ จะต้องใช้ราคาซื้อขายจริง หรือราคาประเมิน โดยให้ใช้ราคาที่สูงที่สุด จากปัจจุบันที่ใช้แต่ราคาประเมินเป็นฐานเพียงอย่างเดียว ซึ่งราคาประเมินมักจะต่ำกว่าราคาซื้อขายจริง ทำให้กรมสรรพากรจัดเก็บภาษีได้ต่ำ

แหล่งข่าวกล่าวว่า ก่อนหน้านี้ก็มีข้อทักท้วงจากกรมที่ดินว่า การจะให้ผู้ซื้อขายแจ้งราคาซื้อขายจริง บางกรณีอาจจะมีการไต่สวนข้อเท็จจริงและเรียกเอกสารเพิ่มจากการขายอสังหาริมทรัพย์ รวมถึงยังอาจส่งผลให้มีการแจ้งราคาซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ต่ำกว่าความเป็นจริงเพื่อให้เสียภาษีต่ำ และมีโอกาสทำให้เกิดการทุจริตของเจ้าหน้าที่ที่ดินได้

นอกจากนี้ต่อมา นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ได้ประชุมร่วมกับกรมสรรพากร เห็นควรให้มีการเพิ่มมาตรา 52 ในร่างกฎหมายดังกล่าว กำหนดให้ตอนโอนให้ถือเอาตามราคาที่ผู้โอนแจ้ง เนื่องจากทางกรมที่ดินกังวลว่า ถ้าเก็บภาษีจากราคาจริง หากผู้โอนบอกราคาไม่ตรงความจริง เจ้าหน้าที่ที่รับโอนจะมีความผิด

ขณะที่นายปิ่นสาย สุรัสวดี รักษาการในตำแหน่งที่ปรึกษาด้านยุทธศาสตร์การจัดเก็บภาษีในฐานะโฆษกกรมสรรพากร กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ร่างกฎหมายที่เป็นการปรับปรุง มาตรา 49 ทวิ ของประมวลรัษฎากร ที่ให้ใช้ราคาซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นราคาจริงมาใช้เป็นฐานคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา น่าจะผลักดันได้ไม่ทันในช่วงรัฐบาลชุดนี้แล้ว รวมถึงร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่…) พ.ศ. … เพื่อรองรับการจัดเก็บภาษีจากผู้ประกอบการธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ (e-Business) ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการจัดเก็บภาษี VAT จากการให้บริการในต่างประเทศ หรือการเก็บภาษีจากแพลตฟอร์มจากต่างประเทศ ที่คงเสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ไม่ทันเช่นเดียวกัน

อย่างไรก็ดี เมื่อเร็ว ๆ นี้ ร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร ในเรื่อง การจัดเก็บภาษีเงินได้จากการลงทุนในตราสารหนี้ผ่านกองทุนรวม ได้ผ่านความเห็นชอบของ สนช.แล้ว อยู่ระหว่างรอประกาศในราชกิจจานุเบกษา เพื่อมีผลบังคับใช้อย่างเป็นทางการต่อไป

ด้านนายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพากร กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ล่าสุดร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่…) พ.ศ. … เพื่อรองรับการจัดเก็บภาษีจากผู้ประกอบการธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ (e-Business) ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการจัดเก็บภาษี VAT จากการให้บริการในต่างประเทศ ยังไม่ผ่านการพิจารณาในชั้นกฤษฎีกา ซึ่งร่างกฎหมายฉบับนี้ทางกรมสรรพากรอยากให้ผ่านในรัฐบาลชุดนี้ แต่ก็ไม่แน่ใจว่าจะทันหรือไม่

 

 

ไม่พลาดข่าวสารเศรษฐกิจ เจาะลึกทุกประเด็นทั้งภาครัฐ-เอกชน เพิ่มเราเป็นเพื่อนที่ Line ได้เลยพิมพ์ @prachachat หรือ คลิกลิงก์ https://line.me/R/ti/p/@prachachat 

หรือจะสแกน QR Code ในรูป เราพร้อมเสิร์ฟข่าวเศรษฐกิจ-ธุรกิจถึงมือผู้อ่านทันที!