สรรพากรจ่อลดภาษีหัก ณ ที่จ่ายจูงใจธุรกิจอีบิสซิเนส

เอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ

สรรพากรเล็งลดภาษีหัก ณ ที่จ่ายเหลือ 1-2% หนุนเพิ่มสภาพคล่องผู้ประกอบการทำธุรกิจ ชี้เป็นมาตรการจูงใจธุรกิจเข้าระบบ “อีบิสซิเนส” ยื่นภาษี “อีไฟลิ่ง” ชงคลังเคาะเสนอ ครม.ใน 1-2 เดือนนี้

นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพากร กล่าวว่า กรมอยู่ระหว่างศึกษาการ “ลด” อัตราภาษีหัก ณ ที่จ่ายสำหรับผู้ประกอบการ หลังจากที่พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 48) พ.ศ. 2562 หรือ พ.ร.บ.ภาษีอีเพย์เมนต์มีผลบังคับใช้แล้ว

ทั้งนี้ กรมสรรพากรจะเสนอกฎหมายลำดับรองให้กระทรวงการคลังพิจารณาภายในเดือน เม.ย.นี้ ซึ่งมี 3 ส่วนหลัก ได้แก่ 1) กฎกระทรวง เพื่อรองรับการนำส่งข้อมูลธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ 2.กฎกระทรวง เพื่อรองรับการหักภาษีและนำส่งภาษีทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-Withholding tax) และ 3.ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เพื่อรองรับการจัดทำและนำส่งข้อมูลใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์และใบรับอิเล็กทรอนิกส์ (e-Tax invoice/e-Receipt) และการยื่นแบบแสดงรายการภาษีทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-Filing)

นายปิ่นสาย สุรัสวดี รักษาการในตำแหน่งที่ปรึกษาด้านยุทธศาสตร์การจัดเก็บภาษี ในฐานะโฆษกกรมสรรพากร กล่าวว่า ในอีก 1-2 เดือนจะมีความชัดเจนในเรื่องการปรับลดอัตราภาษีหัก ณ ที่จ่าย ซึ่งต้องการให้เป็นมาตรการจูงใจสำหรับผู้ประกอบการที่ทำธุรกิจรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-Business) ที่ยื่นแบบเป็น e-Filing ซึ่งจะเป็นแบบสมัครใจ

“ปัจจุบันภาษีหัก ณ ที่จ่าย ถ้าเป็นกรณีรับจ้างทำของจะถูกหักที่ 3% ซึ่งขณะนี้กำลังพิจารณาว่าจะลดให้เหลือหัก 2% หรือ 1% ทั้งนี้ คงจะมีความชัดเจนใน 1-2 เดือนนี้” นายปิ่นสายกล่าว

ก่อนหน้านี้นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.คลัง ได้ระบุถึงการผลักดันภาษีอิเล็กทรอนิกส์ต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น e-Filing รวมถึง e-Tax invoice และ e-Receipt นั้นจะเป็นประโยชน์กับผู้ประกอบการ โดยแทนที่ผู้ประกอบการจะต้องแบกเอกสารไปยื่นภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ทุกสิ้นเดือน ก็สามารถยื่นเป็นอิเล็กทรอนิกส์ได้กรมสรรพากรก็ออกใบเสร็จเป็นอิเล็กทรอนิกส์ให้

รมว.คลังระบุด้วยว่า ผู้ประกอบการที่ทำ e-Business กระทรวงการคลังจะพิจารณาให้นำภาษีมาหักลบ (offset) ได้ เช่น เมื่อผู้ประกอบการถูกเก็บภาษีหัก ณ ที่จ่ายไว้ รัฐก็จะคำนวณคืนภาษีให้ทันที จากเดิมที่ต้องไปขอเคลมคืนในภายหลัง

แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลังกล่าวว่า การเสนอเรื่องการปรับลดอัตราภาษีหัก ณ ที่จ่ายลงสำหรับการโอนธุรกรรมผ่านอิเล็กทรอนิกส์ โดยเหลืออัตราที่ต่ำกว่าการจ่ายด้วยเงินสด ถือเป็นงานต่อเนื่องตามแผนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระบบการชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์แห่งชาติ ดังนั้น จึงไม่น่าจะมีปัญหาหากจะเสนอ ครม.เห็นชอบในช่วงที่ยังไม่มีรัฐบาลชุดใหม่ ขณะเดียวกัน รัฐบาลชุดเดิมก็ยังคงมีอำนาจเต็มอีกด้วย ไม่ได้ถือว่าเป็นรัฐบาลรักษาการแต่อย่างใด

โดยกรมสรรพากรมีแนวคิดปรับลดภาษีหัก ณ ที่จ่ายให้แก่ผู้ประกอบการอยู่แล้ว เพื่อให้สอดคล้องกับอัตราภาษีนิติบุคคลที่ลดลงมาเหลือ 20% ในปัจจุบัน จากก่อนหน้านี้ที่จัดเก็บที่ 30% ทั้งนี้ เพื่อช่วยให้ผู้ประกอบการมีสภาพคล่องในการทำธุรกิจมากขึ้น