สรรพากรเข้ม3ธุรกิจใช้เงินสดสูง “บริการ-ซื้อมาขายไป-กลุ่มการผลิต”เสี่ยง

เอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพากร
สรรพากรพุ่งเป้าตรวจเข้ม 3 กลุ่มธุรกิจใช้เงินสดมาก “กลุ่มการผลิต-ซื้อมาขายไป-บริการ” ชี้เสี่ยงแสดงรายได้ไม่สะท้อนข้อเท็จจริง เตรียมตรวจเข้มหลัง มิ.ย.นี้

นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพากร เปิดเผยว่า ปีนี้กรมสรรพากรมีนโยบายกำหนด 10 เกณฑ์ความเสี่ยงของธุรกิจ ที่กรมจะตรวจสอบอย่างเข้มข้น หลังเสร็จสิ้นมาตรการให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีลงทะเบียนเพื่อปรับปรุงงบการเงิน และเสียภาษีให้ถูกต้อง (มาตรการบัญชีเดียว) ในสิ้นเดือน มิ.ย.นี้ไปแล้ว โดยผู้ที่ลงทะเบียนจะได้รับการยกเว้นเบี้ยปรับเงินเพิ่ม และค่าปรับทางอาญา และผู้ที่ทำบัญชีถูกต้องจะได้รับการสนับสนุนสินเชื่อจาก 17 แบงก์ รวมถึงการค้ำประกัน ด้วยเงื่อนไขผ่อนปรนจากบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.)

นายเกรียงศักดิ์ ประสงค์สุกาญจน์ รองอธิบดีกรมสรรพากร กล่าวว่า จากการใช้ระบบวิเคราะห์ข้อมูล (data analytics) ของกรม ทำให้พบว่า กลุ่มธุรกิจที่มีธุรกรรมเกี่ยวข้องโดยตรงกับผู้บริโภค หลายรายมีแนวโน้มที่จะแสดงธุรกรรมที่ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง เพราะมีพฤติกรรมหลบเลี่ยงไม่ใช้ระบบชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ อย่างเช่น คิวอาร์โค้ด เป็นต้น โดยอาจจะใช้เงินสดเป็นหลัก ซึ่งมีความเสี่ยงว่าจะแสดงรายได้ไม่สอดคล้องกับข้อเท็จจริง

“กลุ่มธุรกิจการผลิต ธุรกิจซื้อมาขายไป และธุรกิจบริการ เป็นกลุ่มที่มีการทำธุรกรรมด้วยเงินสดค่อนข้างมาก ถือเป็นการทำธุรกรรมที่มีความเสี่ยงสูง ไม่ว่าจะเป็นการรับเช็ก การให้ลูกค้าโอนเงิน หรือให้ลูกค้าจ่ายเป็นเงินสดผ่านทางพนักงานส่งเอกสาริ ก่อนโอนเข้าบัญชีเป็นก้อนเดียว” นายเกรียงศักดิ์กล่าว

นายเกรียงศักดิ์กล่าวว่า ปกติกรมสรรพากรจะมีเกณฑ์ความเสี่ยงในการพิจารณาจัดกลุ่มผู้ประกอบการ ว่ารายใดอยู่ในกลุ่มดี หรืออยู่กลุ่มเสี่ยงถึง 151 เกณฑ์แต่นโยบายแต่ละปีอาจนำเกณฑ์มาใช้ไม่เหมือนกัน อย่างปีนี้ 10 เกณฑ์ความเสี่ยงที่ใช้ในการพิจารณา ได้แก่ 1.ธุรกิจที่ใช้เงินสดเป็นหลัก 2.สินค้าคงเหลือไม่ถูกต้อง และ 3.ไม่มีทรัพย์สิน หรือมีทรัพย์สินมากผิดปกติ 4.เงินกู้ยืมกรรมการมากแต่ไม่สามารถชี้แจงได้ 5.ขาดทุนสะสมเป็นเวลานาน 6.บันทึกรายได้ไม่ถูกต้อง 7.บันทึกรายได้ไม่ครบถ้วน 8.ค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นมากในขณะที่รายได้ลดลง 9.มีค่าใช้จ่ายสูงเมื่อเทียบกับรายได้ และ 10.มีการสร้างค่าใช้จ่ายเท็จ

“10 เกณฑ์ความเสี่ยง ถือว่าเป็น 10 โรคร้ายของผู้ประกอบการ ที่เราพบจากการเข้าไปตรวจแนะนำช่วง 2 ปีที่ผ่านมา โดยระหว่างนี้ผู้ประกอบการที่อยู่ระหว่างยื่นงบการเงินปี 2561 หรือ ภ.ง.ด.50 หากกิจการใดมีโรคร้าย โรคใดโรคหนึ่ง หรือหลายโรค จะถือว่าเป็นกลุ่มกิจการเสี่ยงที่จะถูกตรวจเข้ม ฉะนั้นควรจะนำกลับไปปรับปรุงให้ถูกต้องก่อน แต่ต้องยื่นภายในสิ้น พ.ค.นี้”