กบข.ซุ่มจับมือสถาบันในตลาดทุน “AIMC-SSO-บ.ประกัน” ยกระดับลงทุนหุ้นน้ำดี

กบข.ซุ่มจับมือสถาบันในตลาดทุน “AIMC-SSO-บริษัทประกัน” ยกระดับเลือกลงทุนหุ้นน้ำดี เตรียมออกเกณฑ์เว้นลงทุนบริษัท ESG แย่ ปั่นหุ้น-ผิด พ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯ ฯลฯ คาดได้ฤกษ์ลงนามความร่วมมือ 1 ต.ค.นี้ แถมเปิดตัวศูนย์ข้อมูลการเงินบริการแผนลงทุนเอ็กซ์คลูซีฟสำหรับสมาชิก เจาะบริการแบบ Personalize ทั้ง One-on-One และ Live Chat

นายวิทัย รัตนากร เลขาธิการคณะกรรมการกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) เปิดเผยว่าหลังจากรับตำแหน่งเลขาธิการ กบข. เมื่อกลางปี 2561 และได้กำหนดเป้าหมายผลสำเร็จในการทำงานว่าต้องการสร้างความรู้สึกผูกพัน (Engagement) ให้เกิดขึ้นระหว่าง กบข. และสมาชิก โดยประสงค์ให้ข้าราชการที่เป็นสมาชิกรู้สึกภูมิใจที่ได้เป็นสมาชิก กบข. (Pride of Members) นั้น ตนได้ปฏิวัติแนวทางสื่อสารและบริการ มุ่งสู่นวัตกรรมสื่อสารและให้บริการรายบุคคล (Personalized Communication & Services) ผ่าน My GPF App และสวัสดิการหลากหลายรูปแบบ พบว่าประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก โดยหลังจากให้บริการ My GPF เต็มรูปแบบเมื่อมีนาคม 2562 มีสมาชิกเข้ามาใช้บริการสูงเกือบ 400,000 ครั้ง อีกทั้งยังใช้สิทธิรับสวัสดิการกว่า 40,000 ครั้ง นับเป็นปริมาณการใช้บริการสูงสุดตั้งแต่ กบข. เริ่มให้บริการสวัสดิการและสื่อสารในรูปแบบดิจิทัล

เพื่อเป็นการต่อยอดยุทธศาสตร์ Member Centric และ Pride of Members อย่างต่อเนื่อง กบข. จึงเปิด “ศูนย์ข้อมูลการเงิน” (Financial Assistant Center) ภายใต้แนวคิดการสร้าง กบข. ให้เป็นที่พึ่งของสมาชิกเมื่อต้องตัดสินใจทางการเงิน โดยศูนย์ฯ ประกอบด้วยบุคลากรที่ได้รับคุณวุฒินักวางแผนการเงิน CFP และที่ปรึกษาการเงิน AFPT จากสมาคมนักวางแผนการเงินไทย ทำให้มั่นใจว่าสามารถให้ข้อมูลผลิตภัณฑ์ทางการเงินและแนวทางการจัดการเงินได้เป็นอย่างดี บริการของศูนย์ฯ เป็นแบบส่วนบุคคล (Personalized Service) สมาชิกจะได้รับข้อมูลและคำแนะนำที่ตรงความสนใจ อาทิ การวางแผนเกษียณ การลดหย่อนภาษี การจัดการหนี้ การเริ่มต้นลงทุน เป็นต้น ผ่านช่องทางหลากหลาย ทั้งการนัดหมายเพื่อติดต่อกลับทางโทรศัพท์ วีดีโอคอล (Live Chat) หรือนัดพบเจ้าหน้าที่ (One-on-One) หรืออีเมลสอบถามมาที่ [email protected]

นายวิทัย ยังกล่าวต่อไปอีกว่าภารกิจดูแลสมาชิกของ กบข. ไม่ควรจำกัดอยู่เพียงนำเงินสมาชิกไปลงทุนเพื่อให้เกิดดอกผลงอกเงย กบข. ยังควรใส่ใจในสุขภาพทางการเงิน (Financial Health) ของสมาชิก เพื่อให้สมาชิกเริ่มวางแผนบริหารเงินออมให้เร็วที่สุดก่อนเกษียณ ซึ่งนอกจากศูนย์บริการข้อมูลทางการเงินที่มาเติมเต็มภารกิจนี้เสริมกับโครงการวางแผนทางการเงินเพื่อการเกษียณซึ่งเปิดให้บริการไปก่อนหน้าแล้วนั้น กบข. ยังมีอีกหลายโครงการที่พร้อมจะเปิดตัวเร็วๆ นี้ อาทิ โครงการที่ปรึกษาบริหารจัดการหนี้ที่ กบข. จะไปร่วมมือกับบริษัท บริหารสินทรัพย์สุขุมวิท จำกัด และโครงการจัดทำ Retirement Readiness Index เพื่อสร้างดัชนีความมั่นคงทางการเงินสำหรับสมาชิกได้เทียบวัดค่าความมั่นคงทางการเงินของตนเองเทียบเคียงกับเพื่อนข้าราชการสมาชิก กบข. อื่น

สำหรับโครงการอื่นภายใต้ภายใต้ยุทธศาสตร์ Member Centric และเพื่อสร้าง Pride of Members ที่ต่างภารกิจจากช่วยสมาชิกบริหารสุขภาพทางการเงินนั้น ประกอบไปด้วย โครงการ Member-Adequacy Focused SAA, โครงการ Self-Mixed Choice เป็นต้น

นอกจากนี้ กบข.มีแผนตั้งคณะกรรมการ ESG (ESG Committee) ร่วมกับสมาคมบริษัทจัดการลงทุน (AIMC) สำนักงานประกันสังคม (SSO) และบริษัทประกันต่างๆ (กำลังเจรจา) เพื่อให้ความสำคัญกับประเด็นสิ่งแวดล้อม (Environmental) สังคม (Social) และธรรมาภิบาล (Governance) โดยเบื้องต้นจะจัดทำ ESG POSITIVE LIST สำหรับบริษัทที่มี ESG ที่ดี โดยจะแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ 1.ESG-Focused Portfolio สำหรับบริษัทที่มีคะแนน ESG สูง และ 2.100% ESG Portfolio สำหรับบริษัทที่ผ่าน ESG ในทางกลับกันจะมีการทำ ESG NEGATIVE LIST หรือบริษัทที่ทำผิด ESG โดยจะมีการกำหนดเกณฑ์ล่วงหน้าเพื่อคว่ำบาตรหรืองดการลงทุน เช่น งดลงทุน 3-6 เดือน (ขึ้นอยู่กับระดับการกระทำผิด) คาดว่าจะสามารถลงนามกรอบความร่วมมือ (MOU) ได้ในวันที่ 1 ต.ค.62