ดอลลาร์อ่อนค่า หลังประธานเฟดส่งสัญญาณปรับลดอัตราดอกเบี้ย

ภาพประกอบข่าวดอลลาร์สหรัฐ
แฟ้มภาพ

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า ภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันพุธที่ 6 มิถุนายน 2562 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (5/6) ที่ระดับ 31.34/36 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวอ่อนค่าลงจากระดับปิดตลาดในวันอังคาร (4/6) ที่ระดับ 31.30/32 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ค่าเงินดอลลาร์ปรับตัวอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก หลังจากนายเจอโรม พาวเวลล์ ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ส่งสัญญาณว่ามีความเป็นไปได้ที่เฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง ในขณะที่สหรัฐเผชิญกับความเสี่ยงทางเศรษฐกิจ ซึ่งรวมถึงสงครามการค้าโลก และสอดคล้องกับคำกล่าวของนายเจมส์ บูลวาร์ด ประธานเฟด สาขาเซนต์หลุยส์ ที่กล่าวว่าเฟดจำเป็นต้องปรับลดอตราดอกเบี้ยในเร็ว ๆ นี้ เพื่อกระตุ้นเงินเฟ้อ และเพื่อรับมือกับความเสี่ยงที่เศรษฐกิจจะเผชิญภาวะขาลง อันเนื่องมาจากสงครามการค้าที่ทวีความรุนแรงมากขึ้น

ขณะเดียวกันวานนี้ (4/6) กระทรวงพาณิชย์สหรัฐ ได้เปิดเผยตัวเลขยอดส่งซื้อสินค้าโรงงานปรับตัวลดลง 0.8% ในเดือน เม.ย.จากที่ปรับขึ้น 1.3% ในเดือก่อนหน้า โดยได้รบแรงกดดันจากการร่วงลงของยอดสั่งซื้ออุปกรณ์การขนส่ง คอมพิวเตอร์กับสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ และโลหะปฐมภูมิ ซึ่งเป็นการปรับลดลงในอัตราที่รุนแรงที่สุดในรอบ 2 ปี โดยรายงานตัวเลขนี้บ่งชี้ว่า กิจกรรมภาคการผลิตอ่อแอลงอย่างต่อเนื่อง และปัจจัยนี้อาจจะสร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจสหรัฐในวงกว้าง สำหรับปัจจัยในประเทศ ตลาดติดตามประชุมร่วมรัฐสภาเพื่อโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีวันนี้ ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 31.30-31.49 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนปิดตลาดที่ระดับ 31.32/34 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโร ค่าเงินยูโรเปิดตลาดเช้าวันนี้ (5/6) ที่ระดับ 1.1270/72 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ปรับตัวแข็งค่าขึ้นจากระดับปิดตลาดเมื่อวันอังคาร (4/6) ที่ระดับ 1.1254/56 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ค่าเงินยูโรปรับตัวแข็งค่าขึ้นท่ามกลางการอ่อนค่าของค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ อย่างไรก็ตามค่าเงินยูโรยังคงได้รับแรงกดดันจากความเสี่ยงปัญหาหนี้สินของอิตาลี รวมถึงตัวเลขเศรษฐกิจที่ชะลอตัวของยูโรโซน โดยในช่วงบ่ายวันนี้ มีการเปิดเผยตัวเลขยอดค้าปลีกปรับตัวลดลง 0.4% ในเดือน เม.ย. จาก 0% ในเดือนก่อนหน้า ส่วนดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) ปรับลดลงสู่ระดับ 0.3% ใน เม.ย.จากระดับ 0.1% ในเดือน มี.ค. ขณะเดียวกันดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ปรับเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 51.8 ในเดือน พ.ค.จากระดับ 51.5 ในเดือน เม.ย. โดยผลสำรวจบ่งชี้ว่ากิจกรรมในภาคธุรกิจของยูโรโซนปรับเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อย แต่ภาพรวมยังคงชะลอตัว ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.1251-1.1288 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.1278/80 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยน ค่าเงินเยนเปิดตลาดเช้าวันนี้ (5/6) ที่ระดับ 108.10/12 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวอ่อนค่าลงเล็กน้อยจากระดับปิดตลาดเมื่อวันอังคาร (4/6) ที่ระดับ 107.95/97 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ค่าเงินเยนปรับตัวอ่อนค่าขึ้นเล็กน้อยหลังจากที่ปรับตัวแข็งค่าขึ้นมากในวันก่อนหน้า ทั้งนี้ค่าเงินเยนยังคงได้รับแรงหนุนการเข้าถือครองในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัย ภายใต้ความไม่แน่นอนจากความเสี่ยงทางเศรษฐกิจโลก ขณะเดียวกันวานนี้ ผลสำรวจภาคธุรกิจพบว่ากิจกรรมภาคบริการของญี่ปุ่นในเดือน พ.ค.ขยายตัวในอัตราที่ช้ากว่าในเดือน เม.ย.เล็กน้อย ขณะที่อัตราการสร้างงานชะลอตัว และภาคธุรกิจมีความเห็นในเชิงลบมากขึ้นต่ออนาคต ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 107.98-108.34 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 108.31/33 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ดัชนีสำคัญทางเศรษฐกิจของสหรัฐในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ตัวเลขการจ้างงานภาคเอกชนเดือน พฤษภาคม จาก ADP (5/6) ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคบริการเดือนพฤษภาคม จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานครั้งแรกรายสัปดาห์ (6/6) ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตร อัตราการว่างงาน และรายได้เฉลี่ยต่อชั่วโมง เดือนพฤษภาคม (7/6)

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ -2.5/-2.4 4 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยงภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ -7.5/-1.6 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ