แบงก์คึกคักเปิดบริการ e-KYC แห่โชว์ระบบสแกนใบหน้าในงานฟินเทค ก.ค.

แบงก์พร้อมคิกออฟระบบ e-KYC หลังแบงก์ชาติเตรียมอนุญาตให้เปิดใช้บริการเป็นการทั่วไปในเดือน ก.ค.นี้ ส่วนใหญ่นำร่องใช้เปิดบัญชีเงินฝาก-ขอสินเชื่อพีโลนออนไลน์ หลายแบงก์เตรียมเปิดตัวโชว์รูปแบบการใช้บริการระบบในงาน “Bangkok FinTech Fair 2019” ช่วง 15-19 ก.ค.นี้ “ไทยพาณิชย์” เชื่อแบงก์เล็กได้ประโยชน์ไม่ต้องขยายฐานลูกค้าเอง-แต่มีต้นทุนเพิ่ม “กรุงศรี คอนซูมเมอร์” มั่นใจหนุนยอด “เปิดบัญชีใหม่-ขอสินเชื่อออนไลน์” พุ่ง

นายสีหนาท ล่ำซำ ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงาน Payment Product Solution ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) เปิดเผยว่า ขณะนี้ธนาคารเตรียมเริ่มใช้ระบบการยืนยันตัวตนทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-KYC) ในการให้บริการเปิดบัญชีเงินฝาก และการขอสินเชื่อส่วนบุคคล (พีโลน) หลังผ่านการทดสอบในสนามทดสอบ (regulatory sandbox) ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เร็ว ๆ นี้ โดยจะเปิดตัวในงานสัมมนา Bangkok FinTech Fair 2019 ที่ทาง ธปท.จัดขึ้นระหว่างวันที่ 18-19 ก.ค.นี้ ซึ่งธนาคารจะจำลองสถานการณ์การให้บริการ e-KYC แบบเต็มรูปแบบภายในงาน

ทั้งนี้ การทำ e-KYC เต็มรูปแบบในครั้งแรก ลูกค้าจะต้องเดินทางไปทำที่ธนาคารเท่านั้น เพื่อให้ธนาคารเก็บข้อมูลจากบัตรประจำตัวประชาชน รวมถึงเก็บรายละเอียดโครงสร้างใบหน้า จากนั้นเมื่อมีการเปิดให้บริการระบบ “พิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล” (NDID) ก็จะสามารถยืนยันตัวตนแบบออนไลน์ได้

สีหนาท ล่ำซำ

“เมื่อก่อนเปิดบัญชีธนาคารจะต้องเดินทางไปที่สาขาธนาคาร เพื่อยืนยันตัวตน แต่วันนี้จะเป็นการทำบนออนไลน์ ซึ่งในวันงานจะเห็นทุกธนาคารใช้ช่องทางนี้ สำหรับการเปิดบัญชี ซื้อกองทุน จดทะเบียนบริษัท เป็นต้น” นายสีหนาทกล่าว

นายสีหนาทกล่าวอีกว่า บริการ e-KYC จะมีค่าใช้จ่ายเกิดขึ้นในกรณีหน่วยงานมีการดึงข้อมูลการยืนยันตัวตนระหว่างกัน เช่น ระหว่างธนาคาร หรือธนาคารกับหน่วยงานอื่น โดยอาจจะทำให้ธนาคารพาณิชย์มีต้นทุนทางธุรกิจเพิ่มขึ้น แต่เชื่อว่าจะส่งผลดีกับธนาคารขนาดเล็กที่มีฐานลูกค้าไม่มากนักที่จะสามารถดึงข้อมูลจากธนาคารที่มีข้อมูลลูกค้ามากกว่าได้

ขณะเดียวกัน การกระตุ้นให้คนใช้บริการ e-KYC แบงก์อาจจะมีการจัดโปรโมชั่นเพื่อดึงลูกค้า โดยการลดค่าธรรมเนียมการทำธุรกรรม อาทิ ค่าธรรมเนียมขอสินเชื่อออนไลน์ เป็นต้น ขณะเดียวกันแม้การยืนยันตัวตนจะสะดวกขึ้น แต่อาจจะไม่มีผลให้จำนวนลูกค้าเงินฝากเพิ่มขึ้นมากนัก เนื่องจากปัจจุบันกว่า 80% ของจำนวนประชากรมีบัญชีเงินฝากกับธนาคารต่าง ๆ อยู่แล้ว

“ลูกค้าบางรายก็มี 3 บัญชี กับ 3 แบงก์ ดังนั้น แต่ละแบงก์จะต้องหาวิธีการให้บัญชีของธนาคารตนเองเป็นบัญชีหลักของลูกค้า โดยจัดให้มีโปรโมชั่นหรือสิทธิพิเศษให้แก่ลูกค้า ทำอย่างไรให้คนที่ถือ 3 บัญชี ทำธุรกรรมผ่านบัญชีของเราให้มากที่สุด ซึ่งต้องขึ้นอยู่กับสิทธิพิเศษและโปรโมชั่นที่ลูกค้าจะได้รับ เมื่อเปิดบัญชีที่ 2 หรือบัญชีที่ 3 ซึ่งโปรโมชั่นแรก ๆ เลย คาดว่าจะเป็นในเรื่องการฟรีค่าธรรมเนียมการซื้อหุ้น ซื้อกองทุนต่าง ๆ” นายสีหนาทกล่าว

นายฐากร ปิยะพันธ์ ประธานกรรมการกรุงศรี คอนซูมเมอร์ และผู้บริหารสายงานดิจิทัลแบงกิ้งและนวัตกรรม ธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY) กล่าวว่า กรุงศรี พร้อมเปิดให้บริการ e-KYC โดยเบื้องต้นจะใช้กับผลิตภัณฑ์เงินฝาก ในการเปิดบัญชีใหม่ จากนั้นจะต่อยอดไปยังการปล่อยสินเชื่อออนไลน์ ซึ่งคาดว่าจะทำให้ยอดเปิดบัญชีใหม่ และยอดปล่อยสินเชื่อออนไลน์เพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน

นายอดิศร เสริมชัยวงศ์ รักษาการกรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย กล่าวว่า ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย เตรียมออกบูทเพื่อนำเสนอบริการที่นำระบบ e-KYC มาใช้ในงานสัมมนา Bangkok FinTech Fair 2019 รวมถึงในงานดังกล่าวจะมีธนาคารอื่น ๆ ที่มีการทดสอบระบบดังกล่าวในแซนด์บอกซ์ของ ธปท.มาออกบูทนำเสนอบริการด้วยเช่นกัน โดยธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย จะมีบริการเปิดบัญชีด้วยการสแกนใบหน้าบนไอแพดและสแกนบัตรประชาชน เพื่อยืนยันความถูกต้องกับข้อมูลที่กรมการปกครอง ซึ่งปัจจุบันเริ่มเปิดให้บริการลักษณะเดียวกันแล้วในบางสาขาของธนาคาร อย่างไรก็ตาม การให้บริการในวงกว้างเป็นการทั่วไป น่าจะเริ่มได้ภายในเดือน ก.ค.นี้