สศค.ชี้เศรษฐกิจเดือน พ.ค. เห็นสัญญาณ “ลงทุนเอกชน-การส่งออก-ท่องเที่ยว” ชะลอตัว เตรียมปรับจีดีพีเดือนหน้า

ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการเงิน ในฐานะโฆษกของสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) พร้อมด้วยนายพิสิทธิ์ พัวพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักนโยบายเศรษฐกิจมหภาค ในฐานะรองโฆษก สศค. แถลงรายงานภาวะเศรษฐกิจการคลังประจำเดือนพฤษภาคม 2562

โดยนายพรชัย กล่าวว่า ในเดือนพฤษภาคม 2562 เศรษฐกิจไทยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการบริโภคภาคเอกชน สะท้อนจากยอดการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มซึ่งขยายตัวสูงถึงร้อยละ 5.0 ต่อปี ในขณะที่การลงทุนภาคเอกชนและการส่งออกสินค้ามีสัญญาณชะลอตัว สำหรับเศรษฐกิจไทยด้านอุปทาน ภาคการเกษตรสามารถพลิกกลับมาขยายตัวได้ ขณะที่ภาคอุตสาหกรรมและการท่องเที่ยวชะลอตัว สำหรับเสถียรภาพเศรษฐกิจยังอยู่ในระดับมั่นคง

“สำหรับประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2562 นั้น ทาง สศค. จะมีการแถลงประมาณการอีกครั้งในเดือน ก.ค.” นายพรชัยกล่าว

ทั้งนี้ ภาวะเศรษฐกิจการคลังประจำเดือนพฤษภาคม 2562 มีรายละเอียดสรุปได้ดังนี้ 1.เครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการบริโภคภาคเอกชนขยายตัวได้ในภาพรวม สะท้อนได้จากการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ซึ่งขยายตัวร้อยละ 5.0 ต่อปี ขณะที่การบริโภคสินค้าคงทนสะท้อนจากปริมาณจำหน่ายรถยนต์นั่งขยายตัวเล็กน้อยที่ร้อยละ 1.3 ต่อปี อย่างไรก็ตาม ปริมาณรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ชะลอตัวที่ร้อยละ -3.8 และปริมาณการนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภคชะลอตัวที่ร้อยละ -1.2 ต่อปี พร้อมกับดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่ปรับตัวลดลงปรับตัวลงอยู่ที่ระดับ 64.8

2.เครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการลงทุนภาคเอกชนชะลอตัวเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า (y-o-y) แต่พบว่าหลายเครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชนปรับตัวดีขึ้นเทียบกับเดือนก่อนหน้า (m-o-m) ทั้งนี้ การลงทุนภาคเอกชนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักร สะท้อนจากปริมาณจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ขยายตัวร้อยละ 5.2 ต่อปีตามการขยายตัวของปริมาณจำหน่ายรถกระบะ 1 ตัน

ขณะที่ปริมาณการนำเข้าสินค้าทุนชะลอตัวที่ร้อยละ -6.9 ต่อปี สำหรับการลงทุนภาคเอกชนในหมวดก่อสร้างสะท้อนจากปริมาณจำหน่ายปูนซีเมนต์ภายในประเทศชะลอตัวที่ร้อยละ -3.1 ต่อปี ภาษีการทำธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์ชะลอตัวที่ร้อยละ -15.0 ต่อปี อย่างไรก็ตาม ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างขยายตัวที่ร้อยละ 0.3 ต่อปี

3.ภาคการค้าระหว่างประเทศยังคงชะลอตัวต่อเนื่อง โดยมูลค่าการส่งออกสินค้าในรูปเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐฯ ชะลอตัวที่ร้อยละ -5.8 ต่อปี โดยมูลค่าการส่งออกไปประเทศจีนชะลอตัวที่ร้อยละ -7.2 ต่อปี และการส่งออกไปยังภูมิภาคอาเซียนชะลอตัวที่ร้อยละ -10.2 ต่อปี

อย่างไรก็ตาม มูลค่าการส่งออกไปยังสหรัฐอเมริกาขยายตัวที่ร้อยละ 7.8 ต่อปี สำหรับมูลค่าการนำเข้าสินค้าชะลอตัวอยู่ที่ร้อยละ -0.6 ต่อปี ทั้งนี้ ดุลการค้าในเดือนพฤษภาคม 2562 กลับมาเกินดุลที่มูลค่า 0.2
พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

4.เครื่องชี้เศรษฐกิจไทยด้านอุปทานพบว่า ภาคการเกษตรสามารถพลิกกลับมาขยายตัวได้ ขณะที่ภาคอุตสาหกรรมและการท่องเที่ยวชะลอตัว โดยดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรขยายตัวร้อยละ 0.6 ต่อปี จากหมวดพืชผลสำคัญขยายตัวร้อยละ 1.1 ต่อปี และหมวดปศุสัตว์ขยายตัวร้อยละ 1.5 ต่อปี สำหรับดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมชะลอตัวอยู่ที่ร้อยละ -4.0 ต่อปี

ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมอยู่ที่ระดับ 95.9 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า สำหรับภาคการท่องเที่ยวสะท้อนจากนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่เดินทางเข้าประเทศไทยในเดือนพฤษภาคม 2562 มีจำนวน 2.73 ล้านคน ชะลอตัวที่ร้อยละ -1.0 ต่อปี ซึ่งเป็นผลจากนักท่องเที่ยวชาวจีนเป็นสำคัญ ทำให้รายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติมีมูลค่ารวม 134,560 ล้านบาท ชะลอตัวร้อยละ -1.0 ต่อปี อย่างไรก็ตาม ภาคการท่องเที่ยวได้รับปัจจัยสนับสนุนจากนักท่องเที่ยวประเทศอื่นๆ ที่ขยายตัวได้ดี เช่น มาเลเซีย อินเดีย และญี่ปุ่น เป็นต้น

5.เสถียรภาพเศรษฐกิจภายในประเทศยังอยู่ในเกณฑ์ดี สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ร้อยละ 1.1 ต่อปี ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ร้อยละ 0.5 ต่อปี สำหรับอัตราการว่างงานอยู่ที่ร้อยละ 1.1 ของกำลังแรงงาน สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP ณ สิ้นเดือนเมษายน 2562 อยู่ที่ร้อยละ 42.0 ต่อ GDP ซึ่งอยู่ภายใต้กรอบวินัยการเงินการคลังที่ตั้งไว้ตามพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561

สำหรับเสถียรภาพภายนอกยังอยู่ในระดับมั่นคง และสามารถรองรับความเสี่ยงจากความผันผวนของเศรษฐกิจโลกได้ สะท้อนจากทุนสำรองระหว่างประเทศ ณ สิ้นเดือนพฤษภาคม 2562 อยู่ในระดับสูงที่ 210.0 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ