ซิตี้แบงก์ มองเศรษฐกิจไทยปีนี้โต 3.3 % คาดส่งออกขยายตัวได้น้อยกว่า 3%

ธนาคารซิตี้แบงก์ฯ มองเศรษฐกิจไทยปี’62 โต 3.3% เหตุส่งออกชะลอ คาดขยายตัวได้น้อยกว่า 3% ฟากเศรษฐกิจโลกโต 2.9% เหตุปัจจัยความเสี่ยงสงครามการค้าสหรัฐฯ-จีน กระทบความไม่แน่นอนการค้าโลก พร้อมแนะนักลงทุนให้น้ำหนักในกลุ่มตลาดเกิดใหม่

นางสาวนลิน ฉัตรโชติธรรม นักเศรษฐศาสตร์ ธนาคารซิตี้แบงก์ ประเทศไทย เปิดเผยว่า ธนาคารซิตี้แบงก์ฯ ได้ปรับลดประมาณการ ในปี 2562 มาอยู่ที่ 3.3% จากต้นปีคาดไว้ 3.8% โดยมองว่าการชะลอของเศรษฐกิจไทย ยังคงได้รับแรงกดดันจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก และความไม่แน่นอนของปัจจัยภายนอก โดยเฉพาะสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนที่ยังไม่สิ้นสุด ส่งผลกระทบให้ภาคการส่งออกไทยชะลอตัว และกดดันต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปีนี้

ทั้งนี้ยังมองว่า ความเสี่ยงในด้านขาลงยังมีมาก เนื่องจากอาจจะได้รับผลกระทบจากมาตรการกีดกันทางการค้าที่คาดว่าจะขยายวงกว้างจากประเทศจีน ไปสู่ภูมิภาคอื่นๆ ด้านการส่งออกของไทยยังคงเป็นปัจจัยกดดันการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยมากที่สุด โดยคาดว่าการส่งออกไทยในปีนี้จะขยายตัวได้น้อยกว่า 3%

ขณะที่การท่องเที่ยวไทยยังสามารถขยายตัวได้ แต่มีแนวโน้มของจำนวนนักท่องเที่ยวที่เข้ามาลดลง โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวชาวจีนที่เปลี่ยนจากการเดินทางท่องเที่ยวไทยไปยังเกาหลีใต้ ไต้หวัน และญี่ปุ่นแทน

“ส่วนอัตราการปรับลดดอกเบี้ยนโยบาย คาดว่าน่าจะคงอัตราดอกเบี้ยไปจนถึงปลายปี 2563 เนื่องจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ยังมีความจำเป็นที่จะต้องดูแลเสถียรภาพทางการเงิน ทั้งในด้านหนี้ครัวเรือน และการเก็งกำไรอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งผิดไปจากแนวโน้มของ ธปท. เมื่อต้นปีที่มีทีท่าจะเพิ่มขึ้น ส่วนการประมาณการค่าบาทไทยทั้งปีอยู่ระหว่างกรอบ 31.00 – 32.00 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ” นางสาวนลิน กล่าว

ด้านแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ยังมองว่าการใช้จ่ายของภาคเอกชนยังเติบโตได้ค่อนข้างดี แม้สินค้าเกษตรราคาจะยังไม่ได้ดีมาก แต่ยังมองเห็นฟื้นตัวขึ้นจากปีที่แล้ว ด้านค่าจ้างแรงงานภาคการเกษตรยังมีการเติบโตอย่างค่อยเป็นค่อยไป และยังคงต้องรอมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ชัดเจนของทางภาครัฐ ซึ่งน่าจะมีส่วนช่วยผลักดันเศรษฐกิจจากการชะลอตัวช่วงต้นปีหน้า

นางสาวนลิน กล่าวต่อว่า ในส่วนของเศรษฐกิจโลก มีแนวโน้มชะลอตังลงอยู่ที่ระดับ 2.9% จากต้นปีที่ประเมินไว้ระดับ 3.00% จาก 3.2% ในปี 2561 และคาดว่าปี 2563 จะชะลอลงมาสู่ระดับ 2.8% เนื่องจากยังมีปัจจัยความเสี่ยงด้านการแข่งขันทางการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐฯ และปัจจัยการกีดกันทางการค้าที่จะเกิดขึ้นในประเทศอื่นๆ อาจส่งผลกระทบต่อการค้าโลกในเชิงของความไม่แน่นอน ทำให้การลงทุนได้รับผลกระทบ

ขณะเดียวกันอาจส่งผลให้สินทรัพย์ต่างๆ ลดลง และอาจนำไปสู่การบริโภคที่ชะลอตัวลง อย่างไรก็ตาม ธนาคารซิตี้แบงก์ฯ ยังมองว่า แม้เศรษฐกิจโลกจะชะลอตัวลง แต่ยังมองเห็นการเติบโต จากการค้าปลีกที่มีตัวเลขเป็นบวกของบางประเทศ อาทิ จีน และกลุ่มประเทศเกิดใหม่ ขณะที่การผลิต และการส่งออกยังไม่ฟื้นตัว แต่ยังส่งผลถึงสัญญาณบวก แต่ถึงกระนั้นธนาคารซิตี้แบงก์ฯ ยังไม่เห็นการใช้มาตรการทางเศรษฐกิจอย่างชัดเจนของธนาคารกลางต่างๆ แต่เชื่อว่าหากธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ปรับลดอัตราดอกเบี้ย จะส่งผลให้เศรษฐกิจโลกน่าจะฟื้นตัวได้ดียิ่งขึ้น

โดยคาดว่าในเดือนนี้เฟดอาจจะมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% เนื่องจากเศรษฐกิจสหรัฐฯ ชะลอตังลง แม้จะมีการจ้างงานสูงขึ้นก็ตาม ทั้งนี้ ธนาคารซิตี้แบงก์ ฯ แนะนักลงทุนให้น้ำหนักในกลุ่มตลาดเกิดใหม่ โดยเฉพาะเอเชีย เช่น ตราสารทุนในหุ้นวัฏจักรกลุ่มการสื่อสาร สุขภาพ และวัสดุการผลิต ตราสารหนี้ในภูมิภาคเอเชีย

รวมถึงตราสารหนี้เอกชนสหรัฐฯ ระดับน่าลงทุน (US Investment Grade) ตลอดจนกระจายพอร์ตการลงทุนในกองทุนผสมที่มีการลงทุนในทองคำ และน้ำมัน เพื่อรักษาผลประโยชน์ในระยะยาว ท่ามกลางสภาวะผันผวน นอกจากนี้ควรเฝ้าติดตามประเด็นสำคัญ อาทิ ความไม่แน่นอนด้านการเมืองในแต่ละภูมิภาค สงครามการค้า และความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ที่ยังคงตึงเครียด การเปลี่ยนแปลงของนโยบายการเงิน และการปรับตัวของค่าเงินทั่วโลก